เลเวอร์คูเซ่น, เยอรมนี--28 ก.พ.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
- ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้ผู้หญิงกว่า 27 ล้านคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำทั่วโลกเข้าถึงการคุมกำเนิดได้มากขึ้น
กลุ่มพันธมิตรเกิดใหม่ทั้งจากภาครัฐ และเอกชนบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากกว่า 27 ล้านคนในบรรดาประเทศยากจนที่สุดของโลกสามารถเข้าถึงใช้ยาคุมกำเนิดยี่ห้อ Jadelle(R) ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดแบบฝังชั่วคราวระยะยาวที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ลดลงมากกว่า 50% ในช่วง 6 ปีข้างหน้า
The Jadelle Access Program หรือโครงการยาคุมกำเนิด ได้รับการพัฒนา และสนับสนุนจากความร่วมมือของบริษัท ไบเออร์ เฮลธ์แคร์ เอจี (Bayer Healthcare AG) มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ( Bill&Melinda Gates Foundation) โครงการ Clinton Health Access Initiative (CHAI) รัฐบาลของนอร์เวย์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสวีเดน รวมถึงมูลนิธิกองทุน และการลงทุนของเด็ก (Children’s Investment Fund Foundation หรือ CIFF) และ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) โดยได้รับแรงผลักดันมาจากการประชุมสุดยอดที่กรุงลอนดอนเรื่องการวางแผนครอบครัว เมื่อเดือนก.ค. 2555 โดยผู้นำทั่วโลกต่างให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือผู้หญิงอีกจำนวน 120 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงการคุมกำเนิดภายในปี 2563 และยังช่วยสนับสนุนข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการแห่งองค์กรสหประชาชาติ หรือยูเอ็นในประเด็นเกี่ยวกับเครื่องยังชีพด้วยการช่วยปรับรูปแบบของตลาดโลก เพื่อเพิ่มปริมาณสินค้ายังชีพที่มีคุณภาพให้มากขึ้นในปริมาณ และราคาที่เหมาะสม
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว บริษัทไบเออร์กำลังปรับลดราคายาฝังคุมกำเนิดยี่ห้อ Jadelle(R) จากหลอดละ 18 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือหลอดละ 8.50 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศที่เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นเชื่อว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ในด้านสุขภาพของแม่ และเด็กภายในปี 2558 ยาคุมกำเนิดแบบฝังที่ได้รับการปรับปรุงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่เดือนก.ย. 2552 สามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงระยะเวลาถึง 5 ปี
“นวัตกรรม คือ กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นรากฐานของความรับผิดชอบทางสังคมของเรา” ด็อกเตอร์ จอร์ก เรนฮาร์ดท (Dr. Jorg Reinhardt) ซีอีโอจากไบเออร์ เฮลธ์แคร์ เอจี กล่าว “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กระจายสินค้าที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เข้าถึงผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าพวกเขามีรายได้เท่าไร หรืออาศัยอยู่ที่ใด ดังนั้นเราจะดำเนินการแจกจ่ายครั้งใหญ่ เพื่อช่วยเหลือผู้หญิง และเด็กในประเทศกำลังพัฒนาให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น”
ตามเป้าหมายที่วางไว้ โครงการยาคุมกำเนิดจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้มากกว่า 28 ล้านครรภ์ในระหว่างปี 2556-2561 และสามารถป้องกันการเสียชีวิตในอัตราสูงสุดโดยประมาณของทารก 280,000 คน และมารดา 30,000 คน กล่าวได้ว่า โครงการนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั่วโลกได้ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบันนี้ เด็กสาวและผู้หญิงมากกว่า 200 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์นั้น ไม่สามารถเข้าถึงยาคุมกำเนิดที่ทันสมัยได้ ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงจำนวน 600 ล้านคนในประเทศเหล่านี้ที่กำลังใช้วิธีสมัยใหม่ในการวางแผนครอบครัว มีเพียง 1-2% เท่านั้นที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝัง จำนวนผู้ใช้ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่านี้มาก หากพวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโดยการให้คำปรึกษา และการให้บริการทางการแพทย์ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในบรรดาโครงการที่มีการรณรงค์ให้ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝัง
หลังจากที่มีการเรียกร้องอย่างเร่งด่วนในการประชุมสุดยอด ณ กรุงลอนดอนเพื่อให้กลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และเอกชนเดินหน้าปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลุ่มพันธมิตรก็ได้เจรจาต่อรองเกี่ยวกับการลดราคายาคุมกำเนิดแบบฝัง เพื่อให้ผู้หญิงทั่วโลกสามารถเข้าถึงวิธีการที่ผู้คนใช้ประโยชน์น้อยเกินไปนี้ได้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การเพิ่มทางเลือกในการคุมกำเนิด
“ในเดือนก.ค. 2555 ผู้นำทั่วโลกได้ให้สัญญาว่าจะช่วยให้ผู้หญิงทั่วโลกสามารถเข้าถึงทางเลือกในการคุมกำเนิดมากขึ้น และในวันนี้ เราเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว” นางเมลินดา เกตส์ ประธานร่วมมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ กล่าว “เราหวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออีกหลายด้านที่จะช่วยส่งมอบพลังให้แก่เด็กสาว และผู้หญิงในการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าทั้งสำหรับตนเอง และครอบครัว”
ร้านค้าทุกแห่งของประเทศที่อยู่ในโครงการ จะวางจำหน่ายยาคุมกำเนิดแบบฝังจากไบเออร์ในราคาหลอดละ 8.50 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้องค์กรขนาดใหญ่ เช่น กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และองค์กรเอกชนกำลังประสานงานกันเรื่องการลดราคายาคุมกำเนิดดังกล่าวกับหน่วยงาน และรัฐบาลในประเทศของตน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า โครงการจัดซื้อยาคุมกำเนิดของประเทศจะได้ซื้อยาในราคาใหม่ ขณะที่กระบวนการจัดหา และวงจรการลำเลียงยาคุมกำเนิดจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
หน่วยงานรัฐบาล และองค์กรด้านพลเรือนจะเป็นผู้ดำเนินโครงการวางแผนครอบครัวในประเทศที่สมัครใจเข้าร่วมโดยได้รับการสนับสนุนจาก USAID, UNFPA หน่วยงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งนอร์เวย์ (NORAD) และฝ่ายการพัฒนาในต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร (DFID) โครงการจะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการเข้าถึงการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวในระยะยาว พร้อมกับเพิ่มทางเลือกในการวางแผนครอบครัวให้แก่บรรดาผู้หญิง และคู่สามีภรรยา
ไบเออร์ เฮลธ์แคร์ เอจี ยังทำงานกับกลุ่มพันธมิตรอื่นๆเพื่อพัฒนาแผนการปรับปรุงโครงสร้างการให้บริการ และอบรมหน่วยงานบริการด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงจะได้รับบริการฝังยาคุมกำเนิด และนำยาคุมกำเนิดออกจากร่างกายได้อย่างปลอดภัย และมีคุณภาพ รวมถึงการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ
โครงการซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการนี้ จะช่วยเพิ่มวิธีการที่ทันสมัยให้กับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการวางแผนครอบครัวขององค์กรทางด้านพลเรือนในสังคม เช่น การขยายสาขาองค์กร และจัดตั้งคลินิกเคลื่อนที่ ความร่วมมือดังกล่าวมีแนวโน้มว่า จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้องค์กรเหล่านี้ 2 เท่าในการให้บริการการฝังยาคุมกำเนิด เพื่อเพิ่มทางเลือกในการคุมกำเนิดได้มากขึ้นตามโครงการในปีนี้ และต่อไปในอนาคต
แหล่งข่าว: มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit