กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--Mana Media
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) จัดแถลงข่าวโครงการ วมว. ระยะที่ 2 ในหัวข้อ “อัจฉริยะเด็กวิทย์ คิดไกล ไปกับ วมว. ระยะที่ 2” ในวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมีนางสาวคนึงนุช พิมพ์อุบล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้แถลงข่าว
นางสาวคนึงนุช พิมพ์อุบล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนิน“โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ระยะที่ 2” เป็นระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2556 – 2565) เพื่อสนับสนุนการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโดยใช้ศักยภาพบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยในการจัดทำห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขึ้นในโรงเรียนที่อยู่ในกำกับดูแลหรือในเครือข่าย และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเข้มข้นของรายวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เทียบเคียงได้กับหลักสูตรของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และเสริมด้วยความโดดเด่นทางวิชาการและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการ อันเป็นการขยายฐานการศึกษาที่รองรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกไปในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาค รวมทั้งเพื่อพัฒนานักเรียนกลุ่มดังกล่าวเป็นฐานกำลังคนนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนักประดิษฐ์คิดค้นที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคตตามเจตนารมย์ของโครงการ
ในปีการศึกษา 2556 มีความประสงค์เปิดรับสมัครคัดเลือกนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า ในปีการศึกษา 2555 ที่มีผลการเรียนในทุกรายวิชา รวมทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐานและคณิตศาสตร์พื้นฐานในระดับชั้น ม.1 และ ม.2 ไม่ต่ำกว่า 3.00 และมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของห้องเรียนวิทยาศาสตร์โครงการ วมว. ประจำปีการศึกษา 2556 จำนวน 330 คน
ในโรงเรียน 11 แห่ง (แห่งละ 30 คน) โดยเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 1 – 30 กันยายน 2555 ทางเว็บไซต์ http://scius.most.go.th และเว็บไซต์โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้
ภาคเหนือ 1. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (www.satitcmu.ac.th)
2. โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยนเรศวร (www.satit.nu.ac.th)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3. โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
(http://technopolis.sut.ac.th/sus/)
4. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (www.sec.satit.kku.ac.th)
5. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
(www.satit.msn.ac.th)
ภาคกลางและ
ภาคตะวันออก 6. โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (www.kmutt.ac.th/GiftEd)
7. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (www.kus.kps.ku.ac.th/satit/)
8. โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยบูรพา
(www.st.buu.ac.th)
ภาคใต้ 9. โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
(www.psuwit.psu.ac.th)
10. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี (http://satit.pn.psu.ac.th)
11. โรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยทักษิณ (www.sci.tsu.ac.th/sci/) การสอบคัดเลือก ประกอบด้วยการสอบ 2 รอบ คือ รอบแรก (สอบข้อเขียนวิชาคณิต – วิทย์) ใช้ข้อสอบเดียวกันกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และรอบสอง สอบข้อเขียน และภาคปฏิบัติวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเน้นการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาโจทย์ และภาษาอังกฤษ โดยเน้นอ่าน เขียน และความเข้าใจภาษา โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเป็นผู้ดำเนินการ นักเรียนโครงการ วมว. จะได้รับการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ดังนี้
ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงทรัพยากรด้านการเรียนรู้ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น ห้องทดลอง - ปฏิบัติการ ห้องสมุด ศูนย์กีฬา เป็นต้น ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากคณาจารย์ นักวิจัยดีเด่นและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้ทำโครงงานวิจัยโดยมีอาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง (mentor)
โดยสัมผัสกับหน่วยงานวิจัย โรงงานอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งการโอนหน่วยกิตในโครงการเรียนล่วงหน้าเพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา
นักเรียนจะได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีโดยวิธีการรับตรง และได้รับทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยของโครงการ วมว. ภายใต้เงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนด
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้สนับสนุนนักเรียนโครงการ วมว. ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (ระดับปริญญาโท-เอก) โดยผ่านโครงการสนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี)
หากสนใจสามารถดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ http://scius.most.go.th หรือสอบถามได้ที่ 02-333-3863 -65
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit