กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--โคลัมบัส ซีอาร์เอ็ม เอเจนซี่
สำนักท่องเที่ยวและกีฬาสุราษฎร์ธานี จับมือสมาพันธ์สปาไทย และสมาคมสปาสมุย จัดงาน “ สมุยสปาแฟร์ 2012” 18-22 ส.ค. ศกนี้ พรุเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ภายใต้แนวคิดหลัก “สปาวัฒนธรรมของสมุย -Cultural Spa of Samui” หวังผลักดันสู่สปาโลกและเตรียมความพร้อมในการรองรับประชาคมอาเซียน (AEC)
การท่องเที่ยวสุราษฎร์ธานี สมาคมสปาสมุย และสมาพันธ์สปาไทย ร่วมจัดงาน “สมุยสปาแฟร์ 2012” ครั้งที่ 5 (ระหว่างวันที่ 18-22 ส.ค. ศกนี้) ณ พรุเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ภายใต้แนวคิดหลัก “สปาวัฒนธรรมของสมุย-Cultural Spa of Samui” เพื่อหวังผลักดันให้สมุยเป็นสปาไทยในระดับโลก และเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับประชาคมอาเซียน(AEC) ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพเอเชียและสปาโลก ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยการพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ธุรกิจสปาไทย นายวินชัย อุยางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี, นายพรหมโชติ ไตรเวช ผู้อำนวยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, นางวัลวลี ตันติกาญจน์ ประธานสมาพันธ์สปาไทยและประธานที่ปรึกษาสมาคม สปาสมุย, นางปัณจนา มาโทน นายกสมาคมสปาสมุย ได้ร่วมกันแถลงข่าว
นายวินชัย อุยางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวถึงภาพรวมของการท่องเที่ยวของเกาะสมุยว่า เกาะสมุยว่าเป็นเกาะที่เหมาะกับการท่องเที่ยวเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะสมุยมีทั้ง ทะเล แสงแดด ปี 53 มีนักท่องเที่ยว ประมาณ 8 แสน คน คิดเป็นมูลค่าเงิน 9 พันกว่าล้าน ปี 54 เพิ่ม 10% อยู่ที่ประมาณ เกือบ ล้านคน ตีเป็นมูลค่าประมาณ พันกว่าล้านบาท และคาดว่า ปี 55 ถ้าภาวะการเมือง และเศษฐกิจของเรานิ่ง จะเติบโต ขึ้นมาประมาณ 20% นี่คือการท่องเที่ยวของเกาะสมุย ซึ่งนักท่องเที่ยวจะใช้เงินเกี่ยวกับสปาทั้งหมดโดยประมาณ 15 -20% ของการใช้จ่าย รองจากค่าห้องพัก ด้านตัวเลขของธุรกิจสปาในปัจจุบันมีการเติบโตถึง 20% และคาดว่าจะโตเพิ่มอีกประมาณ 10% ตอนนี้สมุยเราต้องถือว่าเป็นดาวเด่นในการลงทุนเพราะฉะนั้น เราคาดว่า การท่องเที่ยวและสถานะการทุกอย่างปกติ เราก็จะสามารถโตได้อีกประมาณ 20% ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะสมุยยังสามารถลงทุน เพิ่มได้อีกมาก
ทั้งนี้นายวินชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “สมุยมีศักยภาพมากที่จะผลักดันให้เป็น Hub of spa เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมการเดินทางที่สะดวกสบายทั้งทางเครื่องบินและทางเรือข้ามฟาก รวมถึงโรงแรมชั้นนำระดับโลกที่มาเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างมากมาย ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลให้กับเกาะสมุย
นางวัลวลี ตันติกาญจน์ ประธานสมาพันธ์สปาไทย ร่วมแถลงข่าวในการจัดงานครั้งนี้ กล่าวแถลงว่า “การจัดงานสมุยสปาแฟร์ 2012 ภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงานคือ “สปาวัฒนธรรมของสมุย-Cultural Spa of Samui” ครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 5 ที่ทางสมุยได้จัดขึ้นติดต่อกันมาทุกปี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวสุราษฏร์ ที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อหวังตอกย้ำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งเอเชียหรือ Medical Hub โดยในแต่ละปีการจัดงาน ได้รับความสนใจจากคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจสปา, การให้บริการด้านการท่องเที่ยว, ทัวร์เอเจนต์, สายการบิน, โรงแรม, ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในธุรกิจสปาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจากงานที่ผ่านๆ มา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืนโดยหวังให้สมุยเป็นแม่แบบของการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพอย่างแท้จริงผ่านการบริการทางด้านสปาที่เป็นภูมิปัญญาของคนพื้นบ้านมาช้านาน “ด้วยธุรกิจสปาของไทย มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนสปาในประเทศอื่นๆ นั่นคือการให้บริการที่ดีเยี่ยมของคนไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจสปาที่ได้รับมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 60 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งนั้นมีล้วนมีศักยภาพสูงทั้งสิ้น ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังเกาะสมุยมากกว่า 50% ล้วนตั้งใจมาเพื่อการใช้บริการสปาโดยเฉพาะ นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว เหตุนี้จึงทำให้การให้บริการทางด้านสปาและธุรกิจทางด้านความงามที่มีแต่เดิมกว่า 300 แห่ง และยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบัน เกาะสมุยอยู่ในช่วงพัฒนาและมีการแข่งขันกันอย่างสูง โอกาสทางธุรกิจจึงเปิดกว้างแก่ผู้สนใจทำธุรกิจในทุกระดับ ตลอดจนผลิตภัณฑ์สินค้าที่ใช้ในธุรกิจสปานั้นก็ได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์ สปามีรายได้ตามไปด้วย และสมาพันธ์เป็นศูนย์กลางในการให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นทำธุรกิจเกี่ยวกับสปา เป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมสปาไทย”
นางรัตนา สุกุมลจันทร์ ผู้อำนวยการกรมสนับสนุนธุรกิจเพื่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ทางกระทรวงในฐานะผู้ควาบคุมและสนับสนุน ตลอดจนเป็นผู้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกฎระเบียบข้อบังคับ จึงได้พยายามควบคุมและดูแลธุรกิจสปาให้อยู่ในกฎระเบียบและข้อบังคับให้ได้มาตรฐานที่ดีเพื่อนำสปาไทยไปสู่สปาระดับโลก โดยให้การสนับสนุนและความรู้ ตลอดจนให้คำแนะนำทั้งด้านการประกอบการและอบรมบุคลากรและสถานที่ เพื่อให้ได้มาตรฐานโดยเฉพาะที่สมุยซึ่งเป็นเกาะหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างสูงสุด ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงยินดีที่จะให้การสนับสนุนธุรกิจสปาไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้มาตรฐานระดับโลก” นางปัณจนา มาโทน นายกสมาคมสปาสมุย กล่าวเพิ่มเติมว่า “สมาคมสปาสมุย ได้พยายามอย่างหนักตลอดเวลาที่ผ่านมา ในการพัฒนาการให้บริการด้านสปา และการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้านการบริการแก่นักบำบัด (หรือ Therapist) เพื่อหวังยกระดับอาชีพให้แก่เธอราพิสต์ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมานั้น ธุรกิจสปาและอาชีพนักบำบัดนั้นถูกมองไปในกลุ่มของธุรกิจอาบอบนวด ซึ่งไม่เฉพาะกับคนไทยเท่านั้น แม้ต่างชาติเองก็มีความคิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางสมาคมจึงต้องให้ความรู้แก่หน่วยงานราชการ
และหน่วยงานด้านอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าธุรกิจทางด้านสปานั้น จัดได้ว่าเป็นธุรกิจทางด้านให้การดูแลรักษาสุขภาพแขนงหนึ่ง โดยมีการนำภูมิปัญญาพื้นบ้าน แต่ละท้องถิ่นของตนนั้นมาปรับใช้กับการบริการดังเช่นที่สมุย มะพร้าวคือพืชหลักที่ขึ้นง่ายและมีคุณประโยชน์อย่างมากในด้านผิวพรรณ เราก็จะนำน้ำมันมะพร้าวมาใช้ในการนวด การใช้ใบตองมาห่มร่างกายเพื่อดึงคลอโรฟิลด์มาสร้างพลังและความงามให้ผิวพรรณ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ความงามของต่างประเทศที่มีราคาสูงเกิน แต่การใช้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากมะพร้าวก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกัน ตลอดจนการนำสมุนไพรไทยพื้นบ้าน มาใช้ในการนวด หรือประทินความงามทั้งใบหน้าและเรือนร่าง นางวัลลี กล่าวต่อว่า “จุดเด่นที่ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งของสปาไทยที่แตกต่างจากสปาประเทศอื่นนั่นก็คือ สปาไทยมีอัตลักษณ์ที่เป็นหนึ่งแตกต่างจากสปาทั่วโลกคือ ภูมิปัญญาที่ส่งเสริมกันมาต่อเนื่องยาวนาน กิริยามารยาทที่อ่อนน้อมนุ่มนวลซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนไทย และการดูแลเอาใจใส่ของผู้ให้บริการและเธอราพิสท์ของคนไทยนั้น เรื่องราวความเป็นมาที่ถือเป็นหลักปฏิบัติของคนไทย เช่น ก่อนการนวดให้แก่ลูกค้า ต้องไหว้ครูเพื่อเป็นการรำลึกถึงครูผู้สอนวิชา การใช้สมาธิในการให้บริการ เหล่านี้เป็นต้นที่ ทำให้ลูกค้าต่างชาติชื่นชมและพูดเป็นเสียงเดียวกันมาโดยตลอด ว่าสปาไทยมีวัฒนธรรมที่ดีงามต่างจากที่อื่นๆ นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจก็คือภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยเรา ซึ่งมีการนำสมุนไพรมาใช้ประกอบการให้บริการการนวดและรักษาบรรเทา ตลอดจนสิ่งละอันพันละน้อยเช่น การจัดเรียงดอกไม้ในภาชนะไว้อย่างสวยงาม การพับผ้าในรูปแบบต่างๆ การให้บริการการนวดหลากหลายรูปเช่น การบำบัดแบบเลกิ (Legi), การฝังตัวในทราย, สมุยสครับ (ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในสมุย)ฯลฯ ซึ่งการบริการแต่ละประเภทต้องอาศัยนักบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนธรรมชาติแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการบำบัดให้ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว”
รองผู้ว่าฯ กล่าวเสริมว่า “ด้วยในปี 2558 ที่จะถึงนี้ เราได้ประสานกับทางสมาพันธ์ให้ช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพของนักบำบัดให้มีคุณภาพและบุคลิกภาพให้ได้มาตรฐาน เช่น การพัฒนาบุคลิกภาพ การเจรจา การให้บริการ การดูแลเอาใจใส่ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่ผู้กำลังจะเข้ามาดำเนินธุรกิจทาง ด้านสปา ทางสมาพันธ์ก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำในทุกๆ ด้าน โดยมีความมุ่งหวังเพื่อที่จะให้เกิดมาตรฐานที่ดีแก่สปาทุกระดับ ไม่ว่าสปานั้นๆ จะเป็นระดับ Silver, Gold หรือ Platinum ล้วนต้องมีคุณภาพและมาตรฐานของสถานที่,นักบำบัด ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ต้องอยู่ในมาตรฐานที่ดีมีคุณภาพ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ธุรกิจสปาไทยให้อยู่ในใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เมื่อเวลานึกถึงสปา ต้องคิดถึงประเทศไทยทันที
นางวัลวลี กล่าวเสริมว่า “กิจกรรมของงาน “สมุยปาแฟร์ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 ส.ค. นี้ ได้แก่กิจกรรมการประกวดเพื่อสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับผู้ให้บริการด้านสปา อาทิ สุดยอดผู้ให้บริการสปา, ประกวดตกแต่งซุ้มสปา ร่วมถึงนิทรรศการความเป็นมาของสปาไทย ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก, การจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับสปาต่างๆ โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายเชิดศักดิ์ ชูศรี เป็นประธานเปิดงาน โดยงานเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น- 22.00 น. ณ พรุเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit