นักวิชาการ ม.อ.คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ โชว์ผลงานอัลกอริทึม AMP ช่วยประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าแม่นยำ ชี้ช่วยลดความสูญเสียจากเหตุภัยพิบัติ

16 Oct 2012

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์

นักวิชาการ ม.อ. คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 2555 จากผลงาน การพัฒนาอัลกอริทึม AMP ช่วยประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าทั่วโลก สร้างความแม่นยำในการประเมินสถานการณ์ ลดการสูญเสียจากภัยพิบัติ

ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติมอบรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2555 (2012 Young Technologist Award) ให้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และผู้อำนวยการสถานวิจัยสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติอันดามัน (ANED) จากการส่งผลงานการพัฒนาอัลกอริทึม AMP (AMSUMIT Precipitation Retrieval Algorithm) สำหรับประมาณค่าหยาดน้ำฟ้า ในฐานะที่เป็นผู้วิจัยพัฒนาวิธีการหาค่าปริมาณน้ำฝนอย่างมีประสิทธิภาพ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวัชร์ จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และผู้อำนวยการสถานวิจัยสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติอันดามัน (ANED) เจ้าของผลงานการพัฒนาอัลกอริทึม AMP (AMSUMIT Precipitation Retrieval Algorithm) สำหรับประมาณค่าหยาดน้ำฟ้า กล่าวว่า อัลกอริทึม AMP เป็นเครื่องมือประมาณการค่าหยาดน้ำฟ้าจากทั่วโลก จากข้อมูลสังเกตการณ์จากดาวเทียมมิลลิมิเตอร์เวฟแบบพาสซีฟ โดยคณะผู้วิจัยได้เริ่มพัฒนาตรวจสอบความถูกต้องสมจริงของแบบจำลองทางกายภาพ เพื่อใช้เป็นความสมจริงบนภาคพื้นดินทั่วโลก หลังจากนั้นจึงใช้แบบจำลองดังกล่าวในการฝึกอัลกอริทึม AMP ให้ประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าและตัวแปรอุตุนิยมวิทยาต่างๆ

ทั้งนี้ อัลกอริทึม AMP ใช้วิธีเครือข่ายประสาทเทียม เป็นสัญญาณนำเข้าเครือข่ายประสาทเทียม ที่ผ่านการประมวลผลเบื้องต้น เพื่อกำจัดสัญญาณที่ไม่ต้องการ ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวจะนำมาใช้ตรวจสอบความถูกต้องของผลการประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าจากอังกอริทึม AMP กับสัญญาณสะท้อนที่สังเกตโดยเรดาร์ CloudSat ที่อยู่บนดาวเทียมและเปรียบเทียบกับข้อมูลหยาดน้ำฟ้าที่สังเกตจากมาตรวัดฝนทั่วโลก ซึ่งมีความแม่นยำบนพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมหรือเป็นทะเลน้ำแข็ง

“อัลกอริทึม AMP เป็นผลงานที่ร่วมพัฒนากับ Prof. Dr.David H. Staelin ของ MIT ซึ่งถือเป็นอัลกอริทึมที่มีความทันสมัยที่สุด สามารถประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าได้อย่างแม่นยำในทุกพื้นที่ ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าว จะสามารถนำไปช่วยประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเตือนหรือเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากภัยธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวัชร์ กล่าว

เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : คุณพิภพ ฆ้องวง โทร. 02-612-2081 ต่อ 127 E-mail: [email protected]

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net