กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติลุยจับร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ตามหัวเมืองใหญ่ หลังตรวจพบใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมาให้บริการลูกค้าอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ล่าสุดล้อมจับ 6 ร้านเน็ตทั้งในเชียงใหม่ ขอนแก่น และร้อยเอ็ด ตะลึงมูลค่าความเสียหายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รวมกว่า 6 ล้านบาท เตือนจับเพิ่มอีกแน่ถ้ายังไม่หยุดละเมิดลิขสิทธิ์
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. เมื่อเร็วๆนี้ นำกำลังเจ้าหน้าพร้อมหมายค้นเข้าตรวจอินเตอร์เน็ตคาเฟ่สี่ร้านดังกลางเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยร้านไอเพลย์ ตั้งอยู่ในโรงแรมมาลิน เรสซิเดนซ์ ถนนห้วยแก้ว ร้านเลิฟออนไลน์ ถนนเวียงบัว ร้านฮอไรซอนเน็ต ถนนสิรินธร และร้านมดอินเตอร์เน็ต ตำบลช้างเผือก ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 188 เครื่อง มีการลักลอบลงโปรแกรมเถื่อนเพื่อให้บริการกับลูกค้า โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 4 ล้านบาท
อีก 2 รายที่ถูกจับดำเนินคดีโดย บก.ปอศ. เป็นอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ในจังหวัดขอนแก่นชื่อ ร้านวอร์บ (ขอนแก่น)ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้ายูพลาซ่า ถนนมิตรภาพ ซึ่งตำรวจตรวจค้นพบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการลงโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 40 เครื่อง และปรากฏมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดที่ประมาณ 1,100,000 บาท ทั้งนี้ อีกร้านหนึ่งชื่อ ร้านติ๊กแอนด์แต๊บ ตั้งอยู่ถนนศรีเทวา อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ตรวจค้นพบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการลงโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 35 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดสูงกว่าที่ประมาณ 831,600 บาท เจ้าของร้านจะถูกดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป เว้นแต่จะสามารถตกลงกับเจ้าทุกข์คือบริษัทซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้
บก.ปอศ. เตือนร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วประเทศให้หลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยจะมีการเข้าตรวจค้นแบบปูพรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกภาคของประเทศ และหากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2537 ว่าด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการขาย การถือครองเพื่อขาย หรือการนำเสนอขายโปรแกรมเหล่านั้น โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 800,000 บาท และศาลอาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการของผู้กระทำความผิดได้
“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากภาษีอากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล และยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของต่างประเทศ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กล่าว
“ผู้บริโภคมิได้ตระหนักว่า การกระทำดังกล่าวถือเสมือนการสนับสนุนให้เป็นมิจฉาชีพทำการขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งบางครั้งซอฟต์แวร์ที่นำไปใช้เป็นการผลิตจากฝีมือของคนไทยด้วยกันนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อนทราบดีว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีบทลงโทษอย่างชัดเจนแต่กลับเพิกเฉยเสีย” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องจัดการกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในส่วนของ บก.ปอศ. เอง ก็จะมุ่งเน้นในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยเมื่อไม่นานมานี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ประสานการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมให้ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้การละเมิดในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ (พื้นที่สีแดง) และพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง (พื้นที่สีเหลือง) ลดน้อยลง
-กผ-