กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--เอ้าท์ดอร์ พีอาร์
บ.นวพลาสติกฯ ผู้ผลิตท่อ และข้อต่อพีวีซี ภายใต้แบรนด์ “ตราช้าง” ในเครือซีเมนต์ไทย ( SCG) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำ “โครงการพัฒนาการเรียน การสอนด้านท่อและสุขภัณฑ์ ด้วยรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)” ดึงครูกว่า 300 สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศร่วมสัมมนาฯ ณ วิทยาลัยสารพัดช่างสระบุรี หวังเพิ่มหลักสูตรในวิชาเกี่ยวกับงานระบบท่อและสุขภัณฑ์ ก้าวทันเทคโนโลยี พร้อมถ่ายทอดให้ นศ.ได้พัฒนาทักษะ ก่อนสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ
นายธีรัตถ์ อุทยานัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม (สระบุรี) จำกัด ผู้ผลิตท่อ และข้อต่อพีวีซี ภายใต้แบรนด์ “ตราช้าง” เปิดเผยว่า ปัจจุบันระบบท่อและสุขภัณฑ์ ที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งอาคาร โรงงาน และอาคารที่พักได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ก่อให้เกิดนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ทำให้ได้วัสดุระบบท่อและสุขภัณฑ์มีคุณสมบัติดีขึ้นเหมาะสมต่อการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการในงานก่อสร้างให้มีความสะดวกรวดเร็ว และช่วยประหยัดต้นทุนการก่อสร้างได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันหลักสูตรการเรียนการสอนด้านงานท่อและสุขภัณฑ์ ก็ยังคงใช้ หลักสูตรเดิมซึ่งใช้มานาน และขาดการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย
ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้ ทักษะ ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ของระบบงานท่อ และมีความพร้อมที่จะนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปปฏิบัติหรือประกอบอาชีพ เมื่อออกสู่ตลาดได้อย่างมีคุณภาพ “ท่อตราช้าง” จึงได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. จัดทำ โครงการพัฒนาการเรียน การสอนด้านท่อและสุขภัณฑ์ ด้วยรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)” มีวัตถุประสงค์ให้อาจารย์ผู้สอน ได้รู้จักนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงได้เห็นเทคโนโลยีการผลิต และได้ฝึกฝนทักษะการประกอบติดตั้ง อีกทั้งยังสามารถนำไปถ่ายทอดให้นักศึกษาได้เข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพงานก่อสร้างให้ดียิ่งขึ้น
“ปัจจุบันวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยสารพัดช่าง เป็นผู้ผลิตบุคลากรด้านงานก่อสร้าง และช่างฝีมือเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งในการจัดโครงการฯ ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากวิทยาลัยกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการที่เราเข้ามาทำกิจกรรมกับอาจารย์ ก็เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้นักเรียน นักศึกษา ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ซึ่งปัจจุบันโครงการก่อสร้าง และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีความต้องการช่างฝีมือ ที่มีความรู้ความสามารถ รู้จักผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยลดต้นทุน และเวลาในการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น”
นายธีรัตถ์ กล่าวอีกว่า โดยรายละเอียดและเนื้อหาการประชุมสัมมนาฯ แบ่งคร่าว ๆ ออกเป็น 3 ช่วง คือ 1.ช่วงบรรยายสรุปเนื้อหาที่มีการปรับปรุง และเทคนิคการใช้งานที่ถูกวิธี และวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ 2. ช่วง Workshop เป็นการฝึกปฏิบัติการติดตั้งระบบท่อ ทั้งงานประปา ระบายน้ำ และการติดตั้งท่อน้ำร้อน โดยจะมีการจำลองรูปแบบให้ฝึกฝนจริง 3. ช่วงเยี่ยมชมกระบวนการผลิต การทดสอบ เป็นการเยี่ยมชมไลน์การผลิต ซึ่งจะได้เห็นเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ และการทดสอบสินค้าต่างๆ ก่อนส่งมอบให้ลูกค้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับ “โครงการพัฒนาการเรียน การสอนด้านท่อและสุขภัณฑ์ ด้วยรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)” เป็นครั้งแรกที่เราได้จัดทำขึ้น ปรากฏว่าผลการตอบรับดีมากจากวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 300 แห่ง ส่งตัวแทนอาจารย์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากจะมีการจัดสัมมนา workshop ให้กับครู อาจารย์ผู้สอนแล้ว ทาง “ท่อตราช้าง” ยังได้สนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และอุปกรณ์ในการเรียน อาทิ คู่มือการเรียนการสอน และสื่ออื่นๆ ฯลฯ เพื่อให้สถานศึกษาแต่ละแห่งได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อีกด้วย -กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit