นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การดำเนินคดีอาญาสมัยใหม่กับสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา ในเวทีสาธารณะ “การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน” ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ จัดโดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายว่า กระบวนการยุติธรรมยังมีลักษณะเป็นอำนาจนิยม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมที่ดีคือ การเคารพในสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นประชาธิปไตย มีความโปร่งใส ความยุติธรรม คือ เมื่อคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วรู้สึกถึงความเป็นธรรม แม้กฎหมายด้านสิทธิและเสรีภาพจะมีแล้วแต่ยังมีปัญหาทางปฏิบัติอยู่มากกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่รักษาความสงบเรียบร้อย ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แต่ถ้าหาก ไม่ควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแล้ว ประชาชนอาจต้องตกเป็นเหยื่อ
“กระบวนการยุติธรรมจะมีประสิทธิภาพได้จะต้องประกอบด้วยสองส่วนคือ 1.สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยด้วยดี 2.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่กรณีของเรามีแนวโน้มไปในทางรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดการทรมานเหยื่อหรือผู้ต้องสงสัย ขณะเดียวกันจะเห็นว่าโดยรวมแล้วถือว่าในกระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีค่าใช้จ่ายสูงและขาดความร่วมมือระหว่างกันของแต่ละหน่วยงานในขณะที่ต่างประเทศมีต้นทุนค่อนข้างต่ำกว่าไทยมาก”
นายคณิต กล่าวว่า ศาลชั้นต้นและศาลสูงควรมีการปฏิรูป โดยส่วนหนึ่งอาจจะต้องทำองค์คณะให้สมบูรณ์ และบุคคลที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวต้องมีประสบการณ์ ทั้งนี้พบว่ายอดคดีคงค้างในศาลฎีกาปัจจุบันมีจำนวน 30,000 กว่าเรื่องและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หากไม่มีการปฏิรูปจะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรทำศาลฎีกาให้เป็นศาลทบทวนข้อกฎหมาย และอาจะต้องทำศาลพิจารณาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้ข้อเท็จจริงได้ข้อยุติโดยเร็ว ขณะที่การบริหารงานยุติธรรมควรเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยพนังงานอัยการ และประเด็นสำคัญคือกระบวนการยุติธรรมที่ดีจะต้องมีค่าใช้จ่ายน้อยแต่มีความร่วมมือสูง เชื่อว่าหากเป็นไปในทิศทางนี้การพัฒนาประชาธิปไตยจึงจะเป็นไปได้
นายคณิต กล่าวว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยต้องนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพและการลดค่าใช้จ่ายจึงควรมีความร่วมมือระหว่างกันไม่ใช่เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างมีอำนาจตรงจุดนี้คือปัญหาทั้งสิ้น ในทางกลับกันหากไม่เข้าใจบทบาทก็จะนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย
“มนุษย์ไม่ว่าจะตกอยู่ในสภาพใดต้องเป็นผู้ทรงสิทธิคือ มีสิทธิที่จะมีทนายความ มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ซึ่งเดิมการดำเนินคดีอาญาไม่มีการแยกการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนแยกกับศาล ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเพียงแค่วัตถุแห่งคดีเท่านั้น(Procedural Object) ในคดีอาญามนุษย์เป็นผู้ทรงสิทธิ์จึงต้องมีการคุ้มครอง ซึ่งปัจจุบันกฎหมายไทยกำหนดสิทธิผู้ต้องหาเป็นประธานแห่งคดี(Procedural Subject) ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง” นายคณิต กล่าว
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔
-กผ-