กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"การทำความดี บางครั้งนักศึกษาเขาอาจจะมองเป็นเรื่องเล็ก เขาไม่รู้ตัวหรอกว่าเขากำลังทำความดีครั้งยิ่งใหญ่ให้แผ่นดิน" ทหารพรานสมศรี มาลา หนึ่งในหัวเรือผู้ถ่ายทอดวิชาใน “โครงการรณรงค์ น้อมนำ พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระราชดำริ แนวทางทรงงานและพระราชปรัชญา ประพฤติเป็นวัตรปฏิบัติ ในโครงการบัณฑิตอุดมคติไทย ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” พูดถึงนักศึกษา “ENTANEER” ในวันที่ไปทำฝายแม้ว (ฝายดิน) ณ บ้านปาง ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๘ – 1๐, ๑๖ – ๑๗ และ ๒๓ – ๒๔ มิถุนายน 2555
มิติใหม่ของการรับน้อง อันเป็นห่วงโซ่บูรณาการ จากที่คณบดีเล็งเห็นคุณค่าและตอบรับนโยบายจาก นายพัลลภ สุวรรณมาลิก ประธานคณะทำงาน“โครงการรณรงค์ น้อมนำฯ” โดยงานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา วิศวฯ มช. รับเป็นเจ้าภาพหลักกำเนิดโครงการ “เตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักศึกษา” ยกการสร้างประโยชน์ ทำคุณให้ประเทศ เจริญรอยเดินตามพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย มาใช้เป็นแนวคิดหลัก ดึงให้เป็นกระบวนวิชา 259191 การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม แบ่งเด็กปี 1 เป็น 3 รุ่น น้อมนำแนวทางทรงงานและพระราชปรัชญาของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ มาลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการพัฒนาหมู่บ้านชนบท พัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตอุดมคติไทย สอดคล้องกับปณิธานของคณะ ในการผลิตบัณฑิต และผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ ยึดมั่นในคุณธรรม เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติอย่างยั่งยืน สร้างความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งรุ่นน้อง รุ่นพี่ คณาจารย์และบุคลากร ฝึกระเบียบวินัย การปรับตัวและปรับเปลี่ยนทัศนคติการอยู่ร่วมกันในสังคม เพิ่มทักษะการช่วยเหลือดูแลตนเอง และผู้อื่น ทั้งยังผสานรอยต่อระหว่างสถาบันการศึกษา ศาสนา และผู้รักษาความมั่นคงของชาติได้รับความร่วมมือ กรมทหารพรานที่32 กองกำลังผาเมือง, วัดป่าไม้แดง และชาวบ้านบ้านปาง ช่วยกันถ่ายทอดวิธีการทำฝายแม้ว เพื่อชะลอแรงน้ำไหลกรณีฝนตกหนัก ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการคืนผืนป่าสู่ชุมชน ตลอดจนฝึกระเบียบวินัยการประพฤติปฏิบัติตน และสอนให้ทุกคนมีจิตสำนึกที่ดีต่อแผ่นดิน
ตีห้าครึ่ง ทุกคนที่ร่วมโครงการพร้อมกันที่คณะฯ ซักซ้อมความเข้าใจ และไหว้พระวิษณุกรรม พ่อของชาววิศวฯ มช. เพื่อขอกำลังใจและการคุ้มครอง ตลอดจนความสำเร็จในทุกย่างก้าวที่ไปทำประโยชน์แก่ประเทศในครั้งนี้ หกโมงเช้า รถทหารคันโตพากันมารับเหล่าลูกพ่อวิษณุ และหมุนล้อสู่จุดหมาย ณ วัดป่าไม้แดง อ.ไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง คณบดี นำทีมผู้บริหารและตัวแทนคณาจารย์ พร้อมเด็กปีหนึ่งกับรุ่นพี่จากภาควิชาฯ โยธา เหมืองแร่และปิโตรเลียม สิ่งแวดล้อม เป็นรุ่นแรกที่เดินทางไปสร้างฝายดิน ณ บ้านปาง อ.ไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ช่วยกันทำฝายหินทิ้งในลำห้วยบงได้ 4 ฝาย ฝายดักตะกอนอีก 37 ฝาย นอกจากนี้ยังพากันไปซ่อมอ่างเก็บน้ำ อุดรอยรั่ว และวางแนวท่อประปาลำเลียงน้ำไปใช้ในหมู่บ้าน ตามด้วยรุ่นที่ 2 ในสัปดาห์ถัดมา คือ นักศึกษา คณาจารย์ ภาควิชาฯ คอมพิวเตอร์ จักรกลการเกษตร และอุตสาหการ สร้างได้อีก 1 ฝายปูน 3 ฝายหินทิ้ง 10 ฝายดักตะกอนในลำห้วยถ้ำผาผึ้ง ส่วนรุ่นสุดท้ายเป็นเด็กจากภาควิชาฯ เครื่องกล และไฟฟ้า ลงแรงกายใจสร้างอีก 2 ฝายปูน 4 ฝายหินทิ้ง 14 ฝายดักตะกอนในห้วยบ้านปาง รวมจำนวนฝายน้อยใหญ่ที่ชาว ENTANEER ทำได้ทั้งสิ้น 75 ฝาย ส่วนความยากง่ายรวมถึงจำนวนในการสร้างขึ้นอยู่กับลักษณะของลำห้วยและฝายที่จะทำ บางจุดก็ต้องเดินบุกป่าฝ่าดงเป็นระยะทางไม่น้อย แต่ฝายทุกประเภทล้วนใช้ภูมิปัญญาเป็นหลักทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่า “ฝายแม้ว” ซึ่งสามารถจำแนกออกมาเป็นหลายลักษณะ หากเป็นฝายดักตะกอนและฝายหินทิ้งก็ต้องตอกไม้ไผ่ลงดินทีละท่อนเรียงกันไปให้เป็นโครง ใช้ตอกเส้นหนามัดให้แข็งแรง แล้วค่อยเรียงก้อนหินใส่ลงไป ส่วนฝายปูนนั้นมีขนาดใหญ่กว่า ใช้เวลาในการทำนานกว่า แม้ใช้ปูนก่อก็ยังคงใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกก่อเป็นโครง แล้วยังมีการขุดปรับพื้นที่ ก่อนที่จะเทปูนลงไป ความลำบากส่วนหนึ่งอยู่ที่แหล่งน้ำที่ต้องใช้ผสมปูน ในบางจุดต้องขอความร่วมมือจากรถดับเพลิง ให้มาคอยลำเลียงส่งน้ำจากรถลงไปยังจุดที่สร้างฝาย ฉะนั้นนอกเหนือจากการร่วมแรงใจของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรแล้ว ยังได้เห็นความร่วมแรงใจกายของชาวบ้านและหน่วยงานอื่นในท้องถิ่นด้วย ทำให้ทุกกระบวนการล้วนเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุขถมทับบนคราบเหงื่อของทุกคน
“ไม่มีอะไรที่วิศวฯ มช. ทำไม่ได้ ... ถ้าวิศวฯ มช.ทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำมาหากินอะไรกันแล้ว” อาจารย์เอนก อุบลสา คนปิดทองหลังพระ ปลุกระดมกำลังให้กับนักศึกษาที่เดินทางไปร่วมโครงการในรุ่นที่ 3 "พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม คนทำเพื่อแผ่นดินไม่มีวันตายโหง" คำพูดที่เรียกสัญชาตญาณและพลังแห่งความตั้งใจ มุ่งมั่นที่เข้มแข็งนี้ ทำให้เหล่าลูกหลานชาวเกียร์พากันขยันขันแข็งขนก้อนหินทีละก้อนขึ้นมาถมอุดรอยรั่วในอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้าน โดยจะต้องก่อเป็นแนวยาวประมาณ 3 เมตร ซึ่งบรรยากาศขณะทุกคนทำงานแม้จะเหนื่อยเพราะต้องใช้พละกำลัง แต่เราได้เห็นภาพรุ่นพี่และรุ่นน้องพูดคุยหยอกล้อ หัวเราะกันอย่างสนุกสนานตลอดเวลา น้องใหม่คนหนึ่งกล่าวว่า “ผมเหนื่อย แต่มีความสุข เรื่องจิตอาสาขอให้บอกผม ผมชอบทำ” นั่นเป็นสัญญาณว่าพวกเขามีความสุขกับการได้มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน
นักศึกษาทุกคนที่ร่วมโครงการนี้ ก่อนไปทำงานสร้างฝายจะได้ฟังบรรยายสร้างสำนึกที่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนำไปสู่การรักชาติและแผ่นดิน ฟังธรรมะเพิ่มขีดความดีมีคุณธรรมในจิตใจ แล้วจึงไปรับการฝึกระเบียบวินัย วอร์มร่างกายให้พร้อมโดยทีมทหารครูฝึก จากกองบังคับการควบคุมที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 4 กองกำลังผาเมือง นำโดยผู้บังคับ และรองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 4 กองกำลังผาเมือง ซึ่งเปิดเผยว่าตนมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ได้ฝึกความมีระเบียบวินัย แคล่วคล่องว่องไว การอยู่กินแบบ “ท.ทหาร อดทน” ให้นักศึกษา โดยฝึกไม่หนักเหมือนฝึกทหาร เพราะทราบดีว่าวิศวฯ มีการรับน้องใหม่มาอย่างดีพอแล้ว และหากคราวหน้ามีโครงการแบบนี้อีก ก็ยินดีร่วมงานกันอีกแน่นอน นอกเหนือจากกลุ่มทหารพรานแล้ว คณะฯ ยังได้รับความร่วมมือที่ดีเยี่ยมจากพระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดง และ ทหารพรานสมศรี มาลา ,ทหารพรานประจวบ ม่วงมา และอาจารย์เอนก อุบลสา ที่คอยประสานงานฝึกและสอนทุกขั้นตอนกระบวนการของการสร้างฝายให้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยดี
“เราทุกคนล้วนเป็นหนี้แผ่นดิน ทุกวันนี้เราต้องคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรเพื่อใช้หนี้แผ่นดินให้หมด เผื่อมีคนมาถามเราว่า เฮ้ย!!! มึงทำงานอะไร เราก็ตอบอย่างภูมิใจว่า "กูทำงานเพื่อแผ่นดิน"”คำกล่าวที่อาจไม่ไพเราะ แต่เจาะไปถึงขั้วหัวใจคนได้ยินของทหารพรานสมศรี มาลา ที่ทิ้งท้ายกับลูกช้างชาวเกียร์ ก่อนตะวันตกดินในวันสุดท้าย ของการปฏิบัติภารกิจ บางคนอาจมองว่าพวกวิศวฯ บ้าพลัง แต่แล้วมันจะแปลกหรือเสียหายอะไร ถ้าพลังที่เรามียังประโยชน์ต่อพ่อหลวง ต่อแผ่นดิน และคนอื่นที่ไม่ใช่แค่พวกเราเอง
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit