นักศึกษา สจล. ปิ๊งไอเดีย สร้างสวนแนวตั้ง แบบไม่ใช้ดิน ด้วยวัสดุปลูกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง

15 Jun 2012

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์

นักศึกษา พร้อมด้วย อาจารย์ คณะเทคโนฯเกษตร สจล. สร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ประดิษฐ์สวนแนวตั้ง 4 แบบที่สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร พร้อมการเคลื่อนย้ายที่สะดวก เอาใจวิถีชีวิตคนเมือง ซึ่งสวนแนวตั้งนี้ จะเหมาะกับ บ้านจัดสรร คอนโดมีเนี่ยมและห้างสรรพสินค้า ที่มีพื้นที่จำกัด ตลอดจนการประดับในการจัดนิทรรศการต่างๆ ที่ต้องการความรวดเร็วในการจัดสวนและไม่ต้องมีการดูแลมากนัก อีกทั้งยังสร้างความสวยงาม เพลิดเพลินใจให้แก่ผู้ปลุกได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำวัสดุปลูกแบบปลอดเชื้อทีผลิตจากขี้เถ้าแกลบ ที่มีนวัตกรรมการเพาะปลูกจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับบริษัทสิ่งแวดล้อมและพลังงานเทคโนโลยี มาใช้ปลูกต้นไม้ ได้ทั้งไม้ดอกและไม้ประดับของสวนแนวตั้ง โดยไม่ต้องใช้ดิน และสามารถตั้งเวลาการรดน้ำได้อีกด้วย ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการมีสวนสวยงามสำหรับคนกรุง

นับวันอากาศในบ้านเรา เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกทีๆ อากาศร้อนๆแบบนี้ ก็อยากเห็นพื้นที่สีเขียวไว้ผ่อนคลายบ้าง แต่ทว่าไม่ว่าจะมองไปทางไหน แทนที่จะมีพื้นที่สีเขียวมาให้เย็นตา สบายใจ ก็แทบจะไม่มีให้เห็น กลับกลายเป็นแต่ป่าคอนกรีต ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ในเขตเมืองที่อัดแน่นไปด้วยอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซะจนแทบจะไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับต้นไม้ทำให้นางสาว พิชญ์สินี ตรีนุสรณ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เกิดไอเดีย ออกแบบสวนแนวตั้ง (Vertical Garden) ที่สามารถแทรกพื้นที่สีเขียวเข้าไปในพื้นที่อันจำกัด เอาใจผู้อยู่อาศัยที่มีไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองได้

นางสาว พิชญ์สินี ตรีนุสรณ์ กล่าวว่า ที่มาของการออกแบบสวนแนวตั้งนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากการเห็นพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุงลดน้อยลง อีกทั้งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ยึดติดกับที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัด อย่างคอนโด อพาร์ตเมนต์ หรือแม้แต่บ้านขนาดเล็กกะทัดรัดที่พื้นที่สำหรับไว้ปลูกสวนนั้นแทบจะไม่มีเลย ซึ่งสวนแนวตั้งที่ทำขึ้นจะเหมาะกับ บ้านจัดสรร คอนโดมีเนี่ยมและห้างสรรพสินค้า ที่มีพื้นที่จำกัด ตลอดจนประดับในการจัดนิทรรศการต่างๆ ที่ต้องการความรวดเร็วในการจัดสวนและไม่ต้องมีการดูแลมากนักอีกทั้งสวนแนวตั้งที่เคยมีมา กลับใช้สอยประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ระบบการทดแทนน้ำก็ไม่มี จึงได้ริเริ่มการดีไซน์สวนแนวตั้งที่พัฒนาระบบต่างๆให้เกิดความนสมดุลมากขึ้น โดยพัฒนาร่วมกับ รศ.ดร. อิทธิสุนทร นันทกิจ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร พระจอมเกล้าลาดกระบังฯ

“การปลูกพืชแนวตั้งในประเทศไทยยังมีข้อมูลและการศึกษาเกี่ยวกับการปลูกอยู่น้อย โดยเฉพาะเกี่ยวกับรูปแบบการปลูกที่เหมาะสมกับการปลูกพืชในอาคารและนอกอาคารตลอดจนวัสดุปลูกที่สามารถนำมาใช้ในการปลูก และปัจจัยที่สำคัญของการปลูกพืชแนวตั้งคือระบบการให้น้ำแบบอัตโนมัติซึ่งต้องสามารถตอบสนองความต้องการน้ำของพืชที่ปลูกในแนวตั้งระบบต่างๆ จึงมีการออกแบบระบบปลูกพืชแนวตั้งโดยมีระบบการให้น้ำอัตโนมัติเพื่อลดการดูแลรักษาขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาระบบปลูกพืชแนวตั้งที่สามารถปลูกไม้ประดับในอาคารได้โดยไม่ต้องมีการดูแลรักษาตลอดเวลา โดยที่ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติและมีราคาถูก และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำต้นไม่ที่เป็นทั้งไม้ดอกและไม้ประดับมาปลูกได้ เพียงแค่พิจารณาความเหมาะสมว่าต้นไม้เหล่านั้นชอบหรือไม่ชอบแสงแดด ซึ่งหากเป็นต้นไม่ที่ชอบแสงแดดก็ควรนำไปปลูกนอกอาคารเท่านั้นเอง”นางสาว พิชญ์สินีกล่าว

นางสาว พิชญ์สินี กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบสวนแนวตั้งมีทั้งหมด4 ระบบคือ

  • ระบบที่ 1 แบบเคลื่อนย้ายได้ โดยมีลักษณะเป็นแท่งแปดเหลี่ยมสูง 2 เมตร ติดตั้งอยู่บนล้อ โครงสร้างทำจากแป๊ปเหล็ก ชั้นปลูกพืชทำจากท่อ PVC ขนาด 2.5นิ้ว เรียงซ้อนกันเป็นชั้น 15 ใช้วัสดุปลูก Bio Actnโดยไม่ต้องดูแลเกี่ยวกับการให้น้ำและปุ๋ยเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน
  • ระบบที่ 2 เป็นแบบติดผนังในอาคารถาวร โครงสร้างทำจากแป๊ปเหล็กขนาด? นิ้ว ยึดติดกับผนัง ชั้นปลูกพืชทำจากท่อ PVC ขนาด 2.5 นิ้ว เรียงซ้อนกันเป็นชั้น จำนวนชั้นขึ้นอยู่กับความสูงที่ต้องการ ทำการปลูกไม้ประดับในวัสดุปลูก Bio Actnโดยมีระบบให้น้ำแบบอัตโนมัติโดยเครื่องตั้งเวลาร่วมกับการให้น้ำแบบน้ำหยด ซึ่งระบบนี้จะเป็นการติดตั้งถาวร
  • ระบบที่ 3 เป็นแบบติดผนังภายนอกอาคารแบบถาวร โครงสร้างทำจากแป๊ปเหล็กขนาด ? นิ้ว ยึดติดกับผนัง ชั้นปลูกพืชทำจากท่อ PVC ขนาด 6 นิ้ว เรียงซ้อนกันเป็นชั้น จำนวนชั้นขึ้นอยู่กับความสูงที่ต้องการ ทำการปลูกไม้ประดับชนิดต่างในวัสดุปลูก Bio Actnในกระถางพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว โดยมีระบบให้น้ำแบบอัตโนมัติโดยเครื่องตั้งเวลา โดยในหนึ่งวันจะมีการให้น้ำสองครั้งโดยติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำถาวร
  • ระบบที่ 4 เป็นระบบเคลื่อนย้ายได้ทำเป็นลักษณะผ้าม่านต้นไม้ห้อยในแนวตั้ง ตัวม่านทำจากวัสดุ PVC ถักเป็นแผ่น(คล้ายกระสอบปุ๋ย)ประกบกับผ้าสักราชเพื่อใช้เป็นวัสดุนำความชื้น ด้านหน้าจะทำเป็นกระเป๋าขนาดเล็กเรียงเป็นแถวเพื่อใช้ใส่ต้นไม้ประดับเป็นสวนแนวตั้ง ระบบนี้จะเหมาะกับการจัดสวนในงานนิทรรศการต่างๆเพาะสามารถติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย

“สำหรับวัสดุปลูกที่นำมาใช้ BioActnหรือไบโอแอ็คชั่นเป็นวัสดุปลูกปลอดเชื้อที่มีนวัตกรรมการเพาะปลูกจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.ร่วมกับบริษัทสิ่งแวดล้อมและพลังงานเทคโนโลยีจำกัดซึ่ง BioActnเป็นวัสดุปลูกปลอดเชื้อผลิตจากเถ้าแกลบ 100% ผ่านกระบวนการทางความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,000 ?C จึงปลอดเชื้อสามาถดูดซับน้ำได้ 40-70% เก็บความชื้นได้นานไม่ต้องรดน้ำบ่อยขนาดเม็ดมีตั้งแต่ 2 มม. ขึ้นไปอีกทั้งยังสามารถเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชได้โดยรูพรุนของBioActnจะสามารถดูดซับและคายสารอาหารจากปุ๋ยเม็ดที่ละลายมากับน้ำได้ดีลดการสูญเสียปุ๋ยไปกับน้ำที่รดให้ต้นไม้ทำให้ประหยัดน้ำและปุ๋ยลงได้มากเราเลยนำวัสดุประเภทนี้มาใช้ในการปลูกสวนแนวตั้งแทนการใช้ดินและปุ๋ยแบบที่ปลูกทั่วไป เพราะมีประโยชน์และสามารถนำมาใช้ได้ดีกับสวนแนวตั้ง”รศ.ดร. อิทธิสุนทรกล่าว

“ผลงานเรื่องสวนแนวตั้งของนักศึกษาปริญญาโท ถือเป็นผลงานที่ดีเยี่ยม นักศึกษามีความตั้งใจ และต้องการที่จะพัฒนาการเกษตรในรูปแบบใหม่ ที่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตของคนเมืองที่ค่อยๆเปลี่ยนไป มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ แต่ต้องการมีสวนในที่พักอาศัยเพื่อเพิ่มความร่มรื่น สบายตา คลายเครียดได้ ทางคณะฯจึงร่วมสนับสนุนการศึกษาวิจัยดังกล่าวกับนักศึกษา โดยได้ช่วยกันคิดค้นและพัฒนา เริ่มตั้งแต่การนำวัสดุปลูกมาใช้ที่เป็นประโยชน์สูง ที่ดูดซับน้ำได้ดี ไม่เป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง การออกแบบสวนแนวตั้งให้มีความหลากหลาย สามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกอาคาร อาคารสูงหรือต่ำ รวมถึงการสร้างระบบน้ำไหลเวียนที่ใช้รดต้นไม่และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนในอนาคตคาดว่าจะมีการพัฒนาติดตั้งระบบเซนเซอร์การให้น้ำเป็นเวลาและการปลูกติดผนังที่ไม่ทำลายสภาพผนังอาคาร”รศ.ดร. อิทธิสุนทรกล่าวสรุป

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net