กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ม.อ.หนุนระบบ PSU System เป็นแม่บทบริหารงานการศึกษามหาวิทยาลัยที่มีหลายวิทยาเขต สร้างโอกาสด้านการศึกษาและสร้างสถาบันคุณภาพที่ทำวิจัยเชิงลึกเพื่อชุมชนภาคใต้ พร้อมรับมือการแข่งขัน หลังไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้สร้างระบบการพัฒนาและดำเนินงานภายใต้รูปแบบ “ระบบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” หรือ PSU System ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่มีหลายวิทยาเขต และเป็นแม่บทของการบริหารเพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับกับการแข่งขันที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ PSU System เป็นรูปแบบการบริหารงาน 5 วิทยาเขต คือ ปัตตานี หาดใหญ่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานีและตรัง ภายใต้สภามหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่ช่วยให้เกิดการวางแผนและดำเนินงานเท่าเทียมกัน โดยกำหนดหลักสูตรทางวิชาการที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างทั่วถึง
“เจตนารมณ์ที่ ‘สงขลานครินทร์’ ได้กำหนดไว้ ก็คือ การกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นต่างๆ ในภาคใต้ ซึ่งจะสอดรับกับการบริหารจัดการด้วย PSU System ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ความเข้มแข็งทางวิชาการของแต่ละวิทยาเขต มาร่วมสร้างคุณภาพทางด้านวิชาการให้เป็นรูปธรรม เช่น การเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนภาคฤดูร้อนข้ามวิทยาเขต การใช้ห้องปฏิบัติการร่วมกัน หรือการให้คณาจารย์เดินทางไปสอนในต่างวิทยาเขตได้ ซึ่งทำให้การได้รับโอกาสทางการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละวิทยาเขตมีความเท่าเทียมกัน” รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม กล่าว
นอกจากนี้ ในแต่ละวิทยาเขตยังมีความร่วมมือทางด้านงานวิจัยร่วมกัน เช่น วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ทำวิจัยร่วมกับบริษัทมิชลิน ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของประเทศฝรั่งเศส โดยมีสาขาเทคโนโลยียางจากวิทยาเขตปัตตานีเข้าร่วมสนับสนุนการทำวิจัยในครั้งนี้ด้วย ขณะเดียวกันนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ลงทะเบียนเรียนเทคโนโลยียางที่ ม.อ.ปัตตานี ก็สามารถไปทำวิจัยที่วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีได้เช่นกัน
อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวด้วยว่า การเปิดกว้างให้นักศึกษาแต่ละวิทยาเขตสามารถทำงานวิจัยร่วมกัน ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยเชิงลึกที่มีคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น ส่งผลให้ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ม.อ.มีผลงานทางด้านวิจัยเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เช่น ด้านปาล์มน้ำมัน ยางพารา สิ่งแวดล้อม ทะเลสาบสงขลา พลังงานทดแทน และการค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการศึกษาเพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ม.อ.ยังได้เชื่อมความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการกับนานาชาติมาโดยตลอด เพื่อรองรับการเป็นสถาบันระดับสากล โดยได้กระจายองค์ความรู้ดังกล่าวไปสู่ทุกวิทยาเขต ทำให้ ‘สงขลานครินทร์’ ไม่ได้เป็นเพียงมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบต่อชุมชนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นมหาวิทยาลัยระดับชาติ เพื่อรองรับการแข่งขันในชุมชนอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้าอีกด้วย
“ระบบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ PSU System แสดงให้เห็นถึงการหลอมรวมของมหาวิทยาลัยในวิทยาเขตต่างๆ เพื่อเข้าสู่การเป็นสากลพร้อมๆ กัน และเชื่อว่าหากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งระบบนี้ต้องขาดหายไป และย่อมส่งผลต่อระบบ PSU System ทั้งระบบ และกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของผู้ที่ต้องการศึกษาในสถาบันที่มีคุณภาพที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ รวมถึงกระทบต่อโอกาสของเยาวชนภาคใต้ที่จะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเริ่มต้นในปี 2558 หรืออีก 4 ปีข้างหน้าอีกด้วย” อธิการบดี ม.อ. กล่าว
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ :พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร: 0-2248-7967-8 ต่อ 118
Email: [email protected] / [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit