เยาวชน “คนชายขอบ” ตื่นเต้นกับหนังวิทย์สัญจร ต่อยอดสู่ “ห้องเรียนวิทยาศาสตร์”

02 Mar 2012

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--สสวท.

ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร จากเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 จัดส่งตรงถึงเยาวชนตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้ง 15 ศูนย์ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ฉายภาพยนตร์สัญจรสู่ท้องถิ่น เป็นเวลาสองสัปดาห์เต็ม ๆ เมื่อเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา เพื่อใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อให้น้องๆ เยาวชนในท้องถิ่นท่างไกลได้สัมผัสกับความสนุกสนานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แรงจูงใจต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ “ทันทีที่รถฉายหนังของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สระแก้ว ดับเครื่องบริเวณโรงอาหารของโรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลแห่งหนึ่ง เด็กๆนักเรียนตัวน้อยต่างทยอยกันมารุมดูว่า วันนี้ ... จะมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อจอโปรเจคเตอร์ขนาดย่อมเริ่มกางออก คอมพิวเตอร์ถูกเปิด น้องๆ เหล่านี้ก็รู้แล้วว่า.....วันนี้จะมีความสนุกรออยู่......นี่คือ ความตื่นเต้นของเด็กๆในพื้นที่ห่างไกล ที่หาโอกาสยากยิ่งนักที่จะเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายเช่นเดียวกับเด็กๆ ในเมืองใหญ่ได้”

นี่คือเสียงสะท้อนจาก นายคำนึง กลสรร ผู้ประสานงานจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สระแก้ว ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปงานจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 15 ศูนย์ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่ง สสวท. เพิ่งได้จัดประชุมสรุปงานไปเมื่อมานานมานี้

นายคำนึง ยังเล่าถึงภาพความประทับใจที่เด็กๆมีต่อภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่นำไปจัดฉายด้วยว่า “แววตาที่เขาดูภาพยนตร์ และร่วมกิจกรรม เป็นแววตาใสบริสุทธิ์ เมื่อเขาได้รับชมภาพยนตร์เสร็จ เราสาธิตการทดลองให้ดู เช่น การจำลองการเกิดพายุทอร์นาโด เด็กจะให้ความสนใจมาก เพราะเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา หรืออย่างการทดลองพับเฮลิคอปเตอร์กระดาษ เขาทำเสร็จจะคว้างแข่งกัน เด็กๆจะสนุกสนานมาก เพราะเขามีโอกาสแบบนี้ไม่บ่อยนัก”

สอดคล้องกับ นายวสันต์ ศรีสุข จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากาญจนบุรี บอกว่า เนื่องจากพื้นที่กาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงมีไร่อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจ นักเรียนบางคนที่บ้านก็ทำไร่อ้อยอยู่ เมื่อเขาได้ดูภาพยนตร์ เรื่อง “น้ำตาลหวานเจี๊ยบ” เขาได้เห็นจากหนังว่าอ้อยเมื่อเข้าโรงงานแล้ว มีกระบวนการอะไรต่อ จึงเกิดความสนใจ และเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นถึงการเดินทางของอ้อยเมื่อออกจากไร่

“ส่วนเด็กๆ กลุ่มชาติพันธ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เขามีชีวิตอยู่กับธรรมชาติป่า ภูเขา อย่างเช่น โรงเรียนหนึ่งมีเทือกเขาตะนาวศรีอยู่รอบๆ เรานำภาพยนตร์ เรื่อง “ป่าและคน” ไปฉาย เราจะอธิบายเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับพื้นที่ของเขาหลังจากฉายจบ ให้เขาเห็นว่า มีคนอีกหลายแหล่งทั่วโลกอาศัยอยู่ในป่า และเขามีการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เขาอยู่ เพื่อให้น้องๆ ได้รับรู้และรักษาแหล่งที่เขาอาศัยอยู่” ผู้ประสานงานจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากาญจนบุรี ยังเล่าต่อว่าว่า ทีมงานต้องการทำงานทั้งเชิงรุกและรับ การนำภาพยนตร์มาสัญจรทำให้คนที่อยู่ไกลๆ ได้มีโอกาส ได้กลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น ยังมีสถานศึกษาในจังหวัดกาญจนบุรีอีกมาก ที่อยู่ลึกเรายังเข้าไปไม่ถึง เพราะการเดินทางยากลำบาก เราอยากให้เด็กเหล่านั้นได้ดูด้วย ถ้ามีการขยายเวลาเพิ่มขึ้นจากเดิมในปีต่อๆไป น่าจะดี

นางดวงแก้ว กัลภาชน์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา เห็นด้วยว่าควรขยายเวลาเพิ่มขึ้น เพราะเด็กๆในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์วิทย์ฯ ทั้ง 3 จังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เรียกร้องอยากเข้าชมกันมาก

“เราจัดฉายทั้งใน กลุ่มเทศบาล โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา และกลุ่ม กศน. โดยมีการประสานผ่านเครือข่ายที่เคยทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนใหญ่จะตอบรับและพอใจ บางครอบครัวชวนคุณพ่อ คุณแม่มาดูด้วย อย่างเรื่องพลังงานสะอาด น้องๆ สนใจมาก จึงมีการอธิบายเพิ่มเติม ทำให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ พยายามสอนกระบวนการให้เขารู้จักสังเกต นำไปต่อยอดได้ และสามารภนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร โดยให้เขาได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง”

สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ นางสาวพรพิมล พันลา จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง เล่าว่า เด็กๆที่นี่สนใจเรื่อง “มหัศจรรย์ของน้ำ” พื้นที่ภาคเหนือเป็นต้นน้ำ และมีปัญหาเรื่องฝนไม่ตกตามฤดูกาล ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องการจัดสรรทัพยากรน้ำ ซึ่งเราก็ให้ความรู้กับเด็กเพิ่มเติม

“บางโรงเรียนที่ได้เข้าชมกิจกรรมนี้แล้วได้ไอเดียเกี่ยวกับการทดลองในภาพยนตร์ นำไปขยายผลต่อในงานวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน ครูเองให้ความสนใจนำไปต่อยอดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ จึงให้ความสนใจมาก”

บางโรงเรียนที่ได้เข้าชมกิจกรรมนี้แล้วได้จุดประกายการทดลองในภาพยนตร์ที่นำมาฉาย ทำให้ครูมานั่งดูภาพยนตร์หลายรอบ เพื่อจะนำเอาการทดลองในภาพยนตร์ไปขยายผลใช้ต่อในงานสอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน ครูนำความรู้จากภาพยนตร์ไปต่อยอดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้

นอกจากนั้น ครูในพื้นที่ห่างไกลยังสะท้อนให้ฟังว่า เวลาที่ครูสอนในห้องเรียนเด็กจะเล่นกัน ไม่ค่อยฟัง พอเราไปฉายภาพยนตร์เด็กตั้งใจฟังดีมาก และแย่งกันตอบคำถาม เพราะทางศูนย์ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์หลังจากฉายภาพยนตร์จบ

“กลุ่มเป้าหมายเราคือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เด็กมัธยมศึกษาจะให้ความสนใจมาก เพราะเขาสามารถนำไปทำโครงงานวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนได้ ภาพยนตร์ที่ดึงดูดเด็กได้ดีนั้นจะเป็นหนังที่มีการทดลองเยอะ มีการพิสูจน์ ให้เห็น เช่น เรื่องพลังงานสะอาด เขาสนใจ ถ้าเป็นสารคดียาวๆเด็กจะไม่ค่อยสนใจ ต้องไม่เกิน 30 นาที ปกติแล้วความสนใจวิทยาศาสตร์ของเด็กภาคเหนือจะน้อย เพราะครูวิทยาศาสตร์โดยตรงไม่ค่อยมี ดังนั้น เวลาเขามาร่วมกิจกรรมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ เขาจะตื่นเต้น การเรียนวิทยาศาตร์ ถ้ามีสื่อการเรียนการสอนที่ดึงดูดให้น่าสนใจ เด็กจะสนใจมากขึ้น”

นี่คือ ความสำเร็จอย่างงดงาม ที่ไม่ได้นับแค่ตัวเลขของผู้เข้าชม จำนวน 119,463 คนในภูมิภาคต่างๆ แต่คือ การ“จุดประกายความฝัน” ของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล กับเรื่องราวอันแสนมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์

ปีหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 15 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต กาญจนบุรี นครสวรรค์ นครราชสีมา สระแก้ว สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ลำปาง ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยะลา นครศรีธรรมราช ตรัง และประจวบคีรีขันธ์ ต่างก็ขานรับที่จะจับมือกับ สสวท. จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั้งฉายที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ ฯ และฉายสัญจรสู่ท้องถิ่นแบบจัดเต็มเช่นเดิม เพื่อร่วมกันขยายโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนผู้สนใจให้ทั่วถึงมากขึ้นกว่าเดิม

ผู้สนใจโปรดติดตามการจัดฉายภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 8ในปี พ.ศ. 2556 ทางเว็บไซต์ สสวท. http://www3.ipst.ac.th/sciencefilm หรือหากโรงเรียนใดสนใจสอบถามล่วงหน้าและแสดงความจำนงขอรับบริการได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 15 แห่งดังกล่าว

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net