กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ตามที่ได้มีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 สำหรับผู้รับบำนาญที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 สำหรับผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. แต่เนื่องจากผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. ต้องรอประกาศกฎกระทรวง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินนั้น ขณะนี้ กระทรวงการคลังได้มีการประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยให้ผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. ที่ประสงค์จะกู้เงินกับสถาบันการเงิน สามารถใช้วงเงินในบำเหน็จตกทอดเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินได้แล้ว โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์เดียวกับผู้รับบำนาญที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. ที่ได้กู้เงินไปก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับวิธีการนั้น ให้ผู้รับบำนาญแจ้งให้ทายาทของผู้มีสิทธิรับทราบก่อน เนื่องจากหากไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ก็จะต้องนำบำเหน็จตกทอดไปใช้หนี้เงินกู้ก่อน หลังจากนั้น ให้ไปยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองสิทธิได้ที่ส่วนราชการของผู้เบิกบำนาญในจังหวัดใดก็ได้ ที่สะดวกในการเดินทาง หลังจากนั้นกรมบัญชีกลางจะส่งหนังสือรับรองสิทธิให้ทางไปรษณีย์ต่อไป ซึ่งในการตรวจสอบและอนุมัติหนังสือรับรองสิทธินั้นจะใช้เวลาประมาณ 3 วันทำการหลังจากที่ได้รับเรื่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์จากส่วนราชการแล้ว และผู้รับบำนาญสามารถนำหนังสือรับรองสิทธิไปยื่นติดต่อกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีถึง 13 แห่ง ตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ
“ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2554 กรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือรับรองสิทธิไปแล้วจำนวน 13,379 ราย เป็นวงเงินกว่า 3,953.09 ล้านบาท โดยมีผู้รับบำนาญที่ไปติดต่อขอกู้เงินและได้รับการอนุมัติแล้ว จำนวน 9,144 ราย เป็นจำนวนเงินที่อนุมัติให้กู้แล้วจำนวน 3,077.56 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายของกรมบัญชีกลางที่ตั้งไว้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้รับบำนาญได้อีกทางหนึ่ง ให้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการกู้เงินกับสถาบันการเงิน” นายรังสรรค์กล่าว