ทริสเรทติ้งจัดอันดับหุ้นกู้มีการค้ำประกันวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท “บ. โกลว์ พลังงาน” ที่ “A” แนวโน้ม “Stable”

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่นี้ใช้แทนอันดับเครดิตระดับ “A” ที่ให้ไว้แก่หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 เนื่องจากบริษัทตัดสินใจเพิ่มวงเงินหุ้นกู้อีกจำนวน 3,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ของ บริษัท ไทยเนชั่นแนล เพาเวอร์ จำกัด (TNP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของ TNP อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานในธุรกิจผลิตไฟฟ้าภายในประเทศที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากความเสี่ยงที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในบริเวณมาบตาพุด แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะค่อย ๆ เพิ่มกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัทในปี 2554 และปี 2555 ตามลำดับ ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทโกลว์ พลังงานก่อตั้งในปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogen) และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer – IPP) ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันกลุ่ม GDF Suez ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทั้งนี้ GDF SUEZ เป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกซึ่งดำเนินธุรกิจตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป บริษัทโกลว์ พลังงานเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยบริษัทมีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ Cogen ประมาณ 70% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2553 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,945 เมกะวัตต์ โดยมาจากโครงการ IPP 865 เมกะวัตต์ และ Cogen 1,080 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า IPP พลังงานก๊าซของบริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และโรงไฟฟ้า IPP พลังงานน้ำตั้งอยู่ในประเทศลาว ธุรกิจโรงไฟฟ้า Cogen ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลัก โดยกลุ่มลูกค้าดังกล่าวต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการมีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุดซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อม จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จำนวน 1,945 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำจำนวน 1,046 ตันต่อชั่วโมง บริษัททำสัญญา PPA อายุระหว่าง 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าจำนวน 1,429 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. ส่วนปริมาณไฟฟ้าและไอน้ำที่เหลือรวมถึงน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้นบริษัททำสัญญาขายระยะยาวให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาคงเหลือมากที่สุด 20 ปี ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับบริษัท ในปี 2553 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในสัดส่วน 57% และส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทโกลว์ พลังงานมีมติอนุมัติการซื้อหุ้น TNP 100% จาก International Power PLC (IPR) ในราคา 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การซื้อกิจการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือ GDF SUEZ และ IPR ที่มีแผนรวมกิจการธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยเข้าด้วยกันหลังจาก IPR ได้ควบรวมกิจการกับกลุ่ม GDF Suez เมื่อต้นปี 2554 TNP เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 141 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้า Cogen ขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP มูลค่า 4,500 ล้านบาทด้วย ปัจจุบัน TNP มีรายได้ปีละ 2,400-2,600 ล้านบาท และมี EBITDA ปีละ 460-540 ล้านบาทในระหว่างปี 2551-2553 ณ เดือนมิถุนายน 2554 TNP และบริษัทย่อยมีหนี้เงินกู้ที่มีดอกเบี้ยรวม 2,902 ล้านบาท ทั้งนี้ TNP จะต้องลงทุนเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่ 2 ภายใต้โครงการ SPP ดังนั้นการลงทุนใน TNP ของบริษัทโกลว์ พลังงานจึงคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,570 ล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 30.2 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หลังการซื้อหุ้น TNP กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีก 251 เมกะวัตต์ในปี 2555 หรือคิดเป็น 8% จากระดับกำลังการผลิตไฟฟ้าก่อนการลงทุน การลงทุนใน TNP จะทำให้บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้นเนื่องจากโรงไฟฟ้าของ TNP ตั้งอยู่นอกพื้นที่มาบตาพุดและให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลงในระยะกลางหลังจากการรวมกิจการของ TNP แต่ภาระหนี้เงินกู้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่จัดการได้เนื่องจากจะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นทั้งจาก TNP และจากโครงการใหม่ของบริษัทที่กำลังทยอยเปิดดำเนินการ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 18,613 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจ IPP ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลกระทบของการแข็งค่าของเงิน บาท รวมทั้งจำนวนวันของการปิดซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้น และปัญหาปริมาณน้ำฝนที่ลดลงซึ่งกระทบต่อรายได้จากโรงไฟฟ้าห้วยเหาะ อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจ SPP และการขายไอน้ำให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ในธุรกิจ IPP อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทปรับตัวลงมาที่ 25.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 จาก 26.3% ในช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและการลดลงของค่าไฟฟ้าผันแปรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 EBITDA ของบริษัททรงตัวอยู่ที่ระดับ 4,748 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 63.1% เทียบกับ 62.6% ในปี 2553 เนื่องจากบริษัทมีการกู้ยืมเพิ่มเพื่อลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ดี คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในปี 2554 จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า 2 โครงการคือ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมระยะที่ 5 (ขนาด 382 เมกะวัตต์เทียบเท่า) และโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้ชื่อ GHECO-One (ขนาด 660 เมกะวัตต์) นั้นยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการทั้ง 2 แห่งจะต้องใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนาตามแผนอีกประมาณ 9,800 ล้านบาทในปี 2554 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมระยะที่ 5 จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกันยายน 2554 ในขณะที่โรงไฟฟ้า IPP ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขออนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) นั้นคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในไตรมาสแรกของปี 2555 โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวรวมถึงการซื้อหุ้นใน TNP จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 1,293เมกะวัตต์เทียบเท่า และกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 58% เป็น 3,526 เมกะวัตต์เทียบเท่าภายในปี 2555 ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A อันดับเครดิตตราสารหนี้: GLOW12DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A GLOW156A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A GLOW173A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A GLOW175A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A GLOW17OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A GLOW186A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ A A GLOW194A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A A GLOW19OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

ข่าวโกลว์ พลังงาน+ทริสเรทติ้งวันนี้

GPSC แจงกำไร Q2/66 อยู่ที่ 309 ลบ. คาดครึ่งปีหลังแนวโน้มต้นทุนพลังงานลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

GPSC แจงผลประกอบการไตรมาส 2/2566 กำไรลดลง 55% เมื่อเทียบกับปีก่อน ชี้ปัจจัยหลักจาก โรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนงาน และผลการดำเนินงานของโครงการไซยะบุรีปรับตัวลดลงตามปริมาณน้ำที่ลดลงตามฤดูกาล รวมถึงกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า IPP ลดลง เนื่องจากโรงไฟฟ้าศรีราชาและโรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี มีการใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนก๊าซธรรมชาติลดลง ตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน AEPL เพิ่มขึ้นจากโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

บอร์ดบีโอไอ อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน... บอร์ดบีโอไอส่งเสริม 'โกลว์' ขยายลงทุนโรงไฟฟ้าโคเจนฯ 6,000 ล้านบาท — บอร์ดบีโอไอ อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการขยายกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าของ บริษัท โ...

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 คุณวรวัฒน์ พิ... GPSC วางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น "โกลว์ พลังงาน ระยะที่ 2" — เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 คุณวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแ...

คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกรรมการ พ... GLOW จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 — คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกรรมการ พร้อมคณะกรรมการและผู้บริหาร บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ...

คุณชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหา... ภาพข่าว: GPSC แถลงผลประกอบการไตรมาส 1/2563 กำไรเติบโต 68% — คุณชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร บริษั...

ฟิทช์: อันดับเครดิตของ GPSC ยังคงอยู่ภายใต้เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ หลังจากยื่นอุธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ฟิทช์กล่าวว่าอันดับเครดิตของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ยังคงอยู่ภายใต้เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ หลังจากที่บริษัทประกาศเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ว่า...

นายสุรงค์ บูลกุล (ที่ 4 จากซ้าย) ประธานกร... ภาพข่าว: GPSC ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 /2561 — นายสุรงค์ บูลกุล (ที่ 4 จากซ้าย) ประธานกรรมการ, ดร.เติมชัย บุนนาค (ที่ 4 จากขวา)ประธานเจ้าหน้าที่...

ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี ลงนามสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.

บริษัท ชลบุรี คลีนเอ็นเนอร์ยี จำกัด หรือ CCE ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในเครือ บมจ. โกลว์ พลังงาน SUEZ และบมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (WHAUP) ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ในโครงการโรง...