กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--พม.
นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด “งานรณรงค์และนำเสนอผลการศึกษาโครงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นอย่างมีส่วนร่วม” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาสภาพปัญหาและปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นในระดับภูมิภาค รวมทั้งรณรงค์สร้างความตระหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยในประเทศไทยมีอัตราเฉลี่ยการคลอดบุตรของมารดาอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ สูงเป็นอันดับที่สองของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของทวีปเอเชีย คือ ร้อยละ ๑๓.๕๕ ในปี ๒๕๕๒ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด และจากสถิติการคลอดบุตรของมารดาอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในระดับจังหวัด (จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) พบว่าจังหวัดที่มีอัตราเฉลี่ยการคลอดบุตรของมารดาที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด มีจำนวนมากถึง ๗๑ จังหวัด จากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นภาวะวิกฤติที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้ขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแม่วัยเยาว์ เพื่อให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ๖ ด้าน โดยให้มีการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาแม่วัยเยาว์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อมอย่างบูรณาการ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในระดับภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร โดยจัดทำโครงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นอย่างมีส่วนร่วม ทั้งนี้ ได้ทำการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงลึกและเชิงสำรวจในภาพกว้าง ในจังหวัดที่มีอัตราสูงของการคลอดบุตรของมารดาที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ประกอบด้วยจังหวัดบุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ตราด และกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาวะและปัจจัยที่มีอิทธิพลกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นางนภา กล่าวต่อว่า การจัดงานรณรงค์และนำเสนอผลการศึกษาวิจัย การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวันนี้ ประกอบด้วยกิจกรรม การแสดงนิทรรศการและนำเสนอผลการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ที่ได้มาจากกระบวนการศึกษาวิจัยในระดับภูมิภาค ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงมีความตระหนักในปัญหาและมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเจากการประกวดคำขวัญรณรงค์การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้แก่ นายกิตติคุณ โคตรแก้ว จากโรงเรียนวชิรธรรมสาธิต คำขวัญ “เพศศึกษารู้ให้ทัน ไม่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ได้รับเงินรางวัล ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ ได้แก่ นายยุทธนา ดวงศรี จากโรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม คำขวัญ “หยุดความคิด หยุดการกระทำ เพื่อยับยั้ง การตั้งครรภ์ในวัยเรียน” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ได้รับเงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ ได้แก่ นางสาวสิริวิมล ช่วยพนัง จากโรงเรียนมัธยมวัดบึงทองหลาง คำขวัญ “อนาคตอีกยาวไกล ไม่ฝักใฝ่เพศสัมพันธ์ เรียนรู้และป้องกัน อย่างตั้งครรภ์ในวัยเรียน”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit