กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--I AM PR
จังหวัดนครศรีธรรมราชมีชายหาดที่สวยงามและสงบเงียบหลายแห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนหย่อนใจคลายความเหนื่อยล้า และยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งประกอบอาชีพประมงชายฝั่งได้อีกทางหนึ่ง
แต่ปัจจุบันธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเล ในเขตอำเภอท่าศาลา ถูกทำลายลงโดยฝีมือของธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์ ทั้งปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ การทำประมงรุกล้ำชายฝั่ง โดยเฉพาะปัญหาเศษขยะที่ถูกทิ้งปะปนอยู่บนหาดทรายและน้ำเน่าเสียจากชุมชน เป็นสาเหตุให้สภาพชายฝั่งทะเลเสื่อมโทรม ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย กระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายยุวทัศน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ย.พ.ส ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มอาสาสมัครพัฒนาสังคมโดยเน้นการทำงานแบบจิตอาสาร่วมกับเยาวชน กระทั่งสามารถพัฒนาเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยมีสมาชิกกว่า 500 คน จึงได้จัดทำโครงการ “ยุวพิทักษ์อนุรักษ์ชายฝั่งทะเล” ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เยาวชนเรื่องความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง ซึ่งเป็นทรัพย์สินมีค่าที่ลูกน้ำเค็มต้องอนุรักษ์และหวงแหน รวมถึงสามารถส่งต่อความรู้และกระตุ้นให้เพื่อนเยาวชนและสมาชิกในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ ได้เกิดจิตสำนึกในการรักษาธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมที่เยาวชนช่วยกันออกแบบและดำเนินกระบวนการต่างๆ ด้วยตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสาววณิชญา ฉันสำราญ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ฯ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเครือข่ายฯ ว่า ยุวทัศน์ หมายถึงความคิดหรือมุมมองของเยาวชน เครือข่ายยุวทัศน์ จึงหมายถึงสถานที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางหรือสถานที่รวมกลุ่มของเยาวชนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสิ่งดีที่เหมาะสมและถูกต้อง มีมุมมองหรือความคิดที่กว้างไกล ในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม .
“เครือข่ายยุวทัศน์ฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยมุ่งสร้างแนวร่วมคิดดีทำดี ในสังคมของเยาวชนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อนช่วยสังคม เป็นการปลูกฝังรากฐานและสร้างโอกาสในการก้าวเดิน ให้เด็กมีภูมิคุ้มกันทางสังคม รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อจะได้เติบโตเป็นเยาวชนที่ดีในวันหน้า สามารถอยู่ร่วมกับสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข ซึ่งก่อนที่เด็กจะออกไปเป็นกำลังสำคัญให้กับสังคม ก็ควรจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและดูแลถิ่นเกิดของตนเองก่อน เพราะทรัพยากรในท้องถิ่นคือปัจจัยหนึ่งทีทำให้เด็กเติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้” ประธานเครือข่ายฯ กล่าว
นายอมร เรืองรอด หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการยุวพิทักษ์อนุรักษ์ชายฝั่งทะเล มีจุดเริ่มต้นจากความใฝ่ฝันของเด็กๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายยุวทัศน์ฯ เมื่อครั้งที่ไปพักผ่อนหย่อนใจริมชายหาดในเขตอำเภอท่าศาลาและพบว่าภาพความงดงามของชายหาดเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเห็นตอนเป็นเด็ก จึงได้ช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุและคิดค้นแนวทางแก้ปัญหา “หลังจากที่เด็กๆ ได้พบเห็นสภาพแวดล้อมในบ้านเกิดของตัวเองทรุดโทรมลง ก็เกิดแนวคิดว่าทั้งตัวเขาเองและผู้ที่มาเที่ยวพักผ่อนริมชายหาด ย่อมอยากเห็นหาดทรายขาวสะอาดและน้ำทะเลใส เป็นเครื่องช่วยเติมพลังใจพลังกายคลายความเหนื่อยล้า แต่เมื่อชายหาดมีแต่สิ่งสกปรกก็จะทำให้การท่องเที่ยวเสียหาย และยังส่งผลเสียต่อสุขภาวะทางใจและทางกายแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ที่พบเห็นอีกด้วย เด็กๆ จึงได้ช่วยกันวิเคราะห์ต้นตอของปัญหา โดยเริ่มหาข้อมูลในท้องถิ่นของตนเอง แล้วนำมาปรึกษาหารือเพื่อหาทางแก้ร่วมกันแล้วออกแบบเป็นกิจกรรมพร้อมกับดึงชุมชนเข้ามีส่วนร่วม” นายอมรกล่าว
กลุ่มยุวพิทักษ์ฯ ที่ได้รับการอบรมเรื่องระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล และผ่านการสำรวจข้อมูลทรัพยากรในท้องถิ่นมาแล้ว ได้สรุปถึงปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งว่ามีสาเหตุจากการจับจองพื้นที่ชายหาดเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว ทำร้านอาหารและมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านโดยขาดการดูแลรักษาพื้นที่ให้สะอาดปลอดภัย มีการทิ้งเศษเปลือกหอยปูกุ้งและเศษอวนไว้ตามชายหาด การทำประมงรุกล้ำเขตชายฝั่งในระยะ 200 ไมล์ทะเลทำให้ระบบนิเวศน์เสียหาย ปัญหาองค์กรเอกชนที่มีการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่จนไม่เหลือความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมและยังรบกวนระบบนิเวศน์จนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเลลดลง จากข้อสรุปต่างๆ ของปัญหาจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรม ซึ่งเป็นการจัดการกับปัญหาใกล้ตัวของเยาวชนก่อนเป็นอันดับแรก
ด.ญ.เบญจมาศ พิศพรรณ์ หรือน้องมิว อายุ 14 ปี เยาวชนแกนนำเล่าว่า ปัญหาที่พบในท้องถิ่นของตนเองคือ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อุดมไปด้วยปลานานาชนิด เกิดการเน่าเสียเนื่องจากมีบางครัวเรือนที่เลี้ยงหมูได้ปล่อยของเสียจากคอกหมูลงสู่แหล่งน้ำจนทำให้ปลาตาย ชุมชนจึงขาดแหล่งอาหารที่สำคัญ
“บ้านหลังหนึ่งปล่อยขี้หมูไหลลงในแหล่งน้ำ เพื่อนๆ เยาวชนจึงได้ช่วยกันอธิบายถึงปัญหาและขอให้หยุดทิ้งของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพราะทำให้คนในชุมชนเดียวกันหลายสิบครอบครัวต้องเดือดร้อน แม้จะต้องไปขอความเห็นใจและอธิบายหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็สามารถแก้ปัญหาได้” น้องมิวเล่า
ด้าน นายกฤษณะ สัจจาดุล หรือน้องกิมมี่ อายุ 18 ปี และนายนันทวุฒิ ช่วยชู หรือน้องเอ็กซ์ อายุ 18 ปี แกนนำเยาวชนรุ่นพี่ซึ่งเข้าใจถึงปัญหาอย่างลึกซึ้งจากการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมต้น กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เหล่ายุวพิทักษ์ที่พยายามแสดงพลังด้วยการจัดการกิจกรรมต่างๆ เช่น เก็บขยะริมชายหาดและตามร้านอาหาร รวมถึงการทำถังขยะจากวัสดุธรรมชาติไว้ตามสถานที่ต่างๆ ฯลฯ อาจดูเหมือนเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่แท้จริงแล้วยุวพิทักษ์ฯ หวังว่าเสียงเล็กๆ จะสะท้อนไกลไปถึงผู้ใหญ่ทุกคนในชุมชน ที่กำลังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น ให้หันกลับมาใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นและไม่เสื่อมโทรมลงไปกว่าเดิม เพราะหากปล่อยให้สิ่งแวดล้อมทรุดโทรม สุขภาพกายและใจก็จะแย่ลงเพราะบ้านไม่น่าอยู่ อาชีพและวิถีชีวิตก็จะสูญสลายไปด้วย
“พลังของเหล่ายุวพิทักษ์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยล่าสุด อบต.ท่าศาลาได้ออกกฎหมายท้องถิ่นห้ามทำประมงในเขต 500 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจที่เป็นแรงพลังให้เด็กเร่งสร้างเครือข่ายเพื่อการดูแลรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเองต่อไป” หัวหน้าโครงการฯ กล่าวสรุป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit