กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--โครงการของดีชายแดนใต้
ศอ.บต. หนุนผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ติดตราสัญลักษณ์ “ของดีชายแดนใต้” ตั้งเป้าปี 54 ไว้ 50 ผลิตภัณฑ์ และไปให้ถึง 150 ผลิตภัณฑ์ภายในปี 55 ชูภาพลักษณ์การผลิตและการตลาดแบบมืออาชีพ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าดีมีคุณภาพ มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล หวังสร้างการรับรู้ในความเป็นอัตลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของสินค้าจากภาคใต้ต่อยอดสินค้าโอทอป คาดจะช่วยเพิ่มคำสั่งซื้อจากโครงการ “สั่งทางโทรศัพท์ส่งทางไปรษณีย์” พร้อมเดินหน้าโรดโชว์มหกรรมสินค้าของดีชายแดนใต้ทั่วประเทศตลอดปี 2555 หวังช่วยเพิ่มรายได้และยกฐานะทางเศรษฐกิจในครัวเรือนให้แก่กลุ่มผู้ผลิตในชุมชน และหมู่บ้านต่างๆ ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้
นายภาณุ อุทัยรัตน์ รักษาการเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวว่า สินค้าและบริการที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล เป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นจากสินค้าที่ผลิตในพื้นที่อื่นของประเทศในแง่ของความเป็น อัตลักษณ์ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จึงมีแนวทางเพื่อการพัฒนาหลักเกณฑ์การรับรองตราสัญลักษณ์ “ของดีชายแดนใต้” ให้แก่สินค้าดีมีคุณภาพที่ผลิตในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแบ่งประเภทของการขอการรับรองตามกลุ่มสินค้าโอทอป ประกอบไปด้วย 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.อาหาร ปรุงสด 2. อาหารแปรรูป 3.ศิลปหัตถกรรม 4.สมุนไพร 5. ผ้าและเครื่องแต่งกาย และ 6. อื่นๆ โดยสินค้าหรือบริการนั้น ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานตามกฎหมาย และหรือมาตรฐานด้านคุณภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศหรือสากลมาแล้ว เช่น มอก. มผช. อย. และฮาลาล เป็นต้น ขณะเดียวกันสินค้าควรมี อัตลักษณ์แสดงถึงคุณลักษณะทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และวิถีการดำเนินชีวิต ที่สอดคล้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคณะกรรมการฯ จะออกใบรับรองตราสัญลักษณ์ “ของดีชายแดนใต้” และจะมีสิทธิใช้ตราสัญลักษณ์ได้ครั้งละ 2 ปี
โดยวิธีการดำเนินงานนั้นได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุข ผู้แทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมหกรรมจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด พัฒนากรชุมชน ผู้แทนจากสถาบันอาการศึกษา ผู้แทนจากสถาบันอาหาร เป็นลักษณะ one stop service เพื่อให้การบริการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ความสะดวกกับผู้ประกอบการมากขึ้น พร้อมกันนี้ได้จัดส่งทีมงานเข้าไปยังสถานที่ผลิตสินค้า เพื่อตรวจสอบแนะนำการยื่นขอเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ และการรักษาระบบให้ยั่งยืนในแต่ละผลิตภัณฑ์
“ตอนนี้มีตราสัญลักษณ์ “ของดีชายแดนใต้” เรียบร้อยแล้ว และบรรดาผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในพื้นที่มาเสนอตัวเพื่อจะใช้ตราดังกล่าว ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญ เราต้องไปตรวจสอบในเชิงแนะนำว่าควรจะปรับปรุงในเรื่องอะไรบ้าง นำสิ่งที่ยังขาดมาตรฐานอยู่ให้มันกลับเข้ามาอยู่ในมาตรฐานและนำไปสู่การจำหน่ายในร่มของสินค้าดีชายแดนใต้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและเพิ่มคำสั่งซื้อ
อย่างไรก็ตามในช่วงของการดำเนินการโครงการดังกล่าว เราได้นำสินค้าเหล่านี้กระจายไปยังทั่วประเทศเพื่อสร้างการรับรู้ในตัวผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2555 เราจะมีการออกมหกรรมสินค้าของดีชายแดนใต้ใน 10 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ผู้สนใจสามารถติดตามดูตัวอย่างของประเภทสินค้าได้จากที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศในโครงการ “สั่งทางโทรศัพท์ส่งทางไปรษณีย์” โดยสามารถโทรศัพท์มาที่หมายเลข 1880 เพื่อสั่งซื้อสินค้าที่สนใจ และเราก็จะนำส่งทางไปรษณีย์ให้ถึงมือผู้สั่งในอีกช่องทางหนึ่ง” นายภาณุ กล่าว
ทั้งนี้ทางศอ.บต.กำหนดไว้ว่าภายในปี 2554 นี้ จะมี 50 ผลิตภัณฑ์จาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับตราสัญลักษณ์ “ของดีชายแดนใต้” แต่เนื่องจากขณะนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการ โดยมีผู้ยื่นความจำนงขอใช้ตราสัญลักษณ์แล้วราว 217 ผลิตภัณฑ์ โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถพิจารณามอบตราสัญญลักษณ์ได้ไม่ต่ำกว่า 150 ราย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการให้คำแนะนำและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ณ พื้นที่ผลิต ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถพัฒนาวิธีการต่างๆ ในการผลิตให้สามารถได้รับซึ่งตราสัญลักษณ์ อันเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ปัจจุบันเข้าให้คำแนะนำไปแล้ว 60 ราย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำระบบซอฟแวร์เพื่อติดตามผู้ประกอบการที่ได้ตราสัญลักษณ์ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งขณะนี้การพัฒนาโปรแกรมเสร็จเรียบร้อยแล้วและจะดำเนินการการทดลองระบบบนเว็บไซต์ของศอ.บต.ต่อไป
นายภาณุ กล่าวว่า “แม้ว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เกินความคาดหมายของเราก็ตาม แต่เราก็ยินดีที่จะให้คำแนะนำ ผมคิดว่าในวันนี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่สนใจ ขอย้ำว่าเรายังรักษามาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดอยู่ แต่คณะกรรมการอาจจะต้องทำงานหนักขึ้นก็ไม่เป็นไร โดยเราพยายามจะไม่ให้ตราสัญลักษณ์ซ้ำประเภทผลิตภัณฑ์กันมากนัก ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ในโอกาสเดียวกันเราก็มีโอกาสในการแนะนำบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งกลยุทธ์การตลาดให้พร้อมกันด้วย เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีแนวทางการดำเนินงานแบบมืออาชีพนั่นเอง และขอให้มั่นใจว่าสินค้าดีภายใต้ตราสัญลักษณ์ของดีชายแดนใต้ได้มีการดูแลในด้านมาตรฐานเป็นสำคัญ โดยในปี 2555 เรามีเป้าหมายจะติดตราสัญลักษณ์ “ของดีชายแดนใต้” ให้ได้ 150 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นแนวทางในการเพิ่มรายได้ และยกฐานะทางเศรษฐกิจของคนในครัวเรือนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้ดีขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน โดยหมู่บ้าน หรือเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นของคนๆ เดียว แต่เป็นของกลุ่มต่างๆในแต่ละชุมชน ย่อมเกิดการกระจายรายได้กันในระดับกลุ่ม ระดับหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นย่อมมีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจครัวเรือนได้อย่างแท้จริงทีเดียว”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit