กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยความคืบหน้าสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ชี้กว่าร้อยละ ๙๐ เห็นด้วยกรณีเอาผิดผู้ชายที่ทำให้ท้อง ในทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา พร้อมใช้มาตรการป้องกัน สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ในการดูแลเด็กและเยาวชนของประเทศไทย จากกการสำรวจอายุเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่นไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ วัยรุ่นเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ครั้งแรกอายุระหว่าง ๑๓-๑๕ ปี และส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย มากถึงร้อยละ ๕๐ โดยเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จะมีความกดดันและความกังวลสูง วิธีการหนึ่งที่เด็กมักนึกถึงก่อนอื่นคือ การทำแท้ง ซึ่งผลจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย อาจทำให้เด็กตกเลือด ติดเชื้อ บางรายรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ เด็กกลุ่มนี้ เมื่อคลอดบุตรก็มีแนวโน้มทอดทิ้งบุตรสูง แม่วัยเยาว์ ร้อยละ ๑๘.๖ คิดฆ่าตัวตาย เพื่อหนีปัญหาชีวิต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะเจ้าภาพหลัก ในการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม และได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย และได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ทำท้องแล้วต้องรับ” ไปเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ฝ่ายการเมือง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น ๒๓๐ คน
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า ผลจากการรับฟังความคิดเห็น ส่วนใหญ่เห็นด้วยกว่าร้อยละ ๙๐ ที่จะให้ผู้ชายมีส่วนร่วมรับผิดชอบกรณีทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยมีข้อคิดเห็น ดังนี้ ๑. ผู้ชายและผู้หญิงต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ต้องดูบริบทความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว ๒. ควรมุ่งเน้นไปที่มาตรการป้องกัน โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องเพศศึกษาบทบาทความสัมพันธ์ของหญิงชาย ๓. ควรมีการเอาโทษผู้ชาย ทั้งทางแพ่งและอาญา เช่น การจ่ายค่าเลี้ยงดู และพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย รวมทั้งการเสนอให้กำหนดโทษแก่ผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบให้มีโทษเท่ากับผู้หญิงที่ถูกจับกรณีลักลอบทำแท้ง และควรมีกระบวนการพิสูจน์บุตรให้ชัดเจนก่อนนำไปสู่ ความรับผิดชอบทางกฎหมาย ๔. ควรมีมาตรการที่แตกต่างกันระหว่างพ่อวัยเยาว์กับพ่อปกติ โดยพ่อวัยเยาว์ใช้มาตรการทางสังคมที่ให้พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมแก้ไขปัญหา ส่วนพ่อที่ไม่ได้เป็นพ่อวัยเยาว์ หากปฏิเสธไม่รับผิดชอบ และมีการตรวจพิสูจน์แน่ชัดว่าเป็นบุตร ควรถูกดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมาย ๕. ควรมีการใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้มีความเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กฎหมายรับรองบุตรที่เกิดจากผู้หญิงที่ไม่ได้สมรสกัน และ ๖.บริบทอื่นๆ ที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบลึกซึ้ง เช่น การสร้างฐานความผิดขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งมาตราในประมวลกฎหมายอาญา เป็นฐานความผิดกรณีผู้ใดทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์โดยการสมยอมกัน หากไม่รับผิดชอบต้องได้รับโทษ กรณีผู้ชายไม่ยอมรับจะมีโทษทางอาญา กรณียอมรับเพราะถูกไกล่เกลี่ย เป็นการยอมรับด้วยความจริงใจหรือไม่ เป็นต้น ในขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่ง ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า การเอาโทษผู้ชายเป็นเรื่องปลายเหตุ ควรไปเน้นที่มาตรการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการเอาผิดผู้ชาย และควรใช้มาตรการทางสังคมมากกว่ามาตรการทางกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องมิติของคนสองคนและครอบครัวของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน การใช้กฎหมายบังคับไม่น่าช่วยแก้ปัญหาได้
“สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงานหลังจากนี้ จะจัดให้มีพิธีการมอบนโยบายการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ เพื่อนำไปปฏิบัติ ให้แก่หน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประมาณ ๑,๐๐๐ คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกล่าวมอบ ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นี้” นายอิสสระ กล่าว