สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ เผย แก่แล้วทำไมคอไม่ทำงาน

08 Feb 2010

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--โรงพยาบาลกรุงเทพ

หลังจากท่านอายุผ่านปีที่ 50 คนส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเหลียวคุยเต็มที่ไม่ได้ เมื่อจะเหลียวก็มีอาการปวดที่คอ หรืออาจจะมีทั้งปวดปวดคอ และลงแขน บางครั้งอาจจะนอนได้ไม่เต็มอิ่ม เพราะนอนให้สบายได้ไม่ครบทุกท่า อาจจะหลับไม่สนิทเนื่องจากมีปวดที่คอ ในการนอนบางท่า

สาเหตุเกิดขึ้นจากการแก่ตัวของข้อระหว่างกระดูกคอ ซึ่งเริ่มมีอาการแก่ตัวตั้งแต่อายุ 35 – 40 ปี ความสามารถของข้อที่จะเคลื่อนตัวได้เต็มที่จะเริ่มเสียไปทีละน้อย ทำให้มีอาการฝืดเคืองเมื่อจะพยายามเหลียวเต็มที่ หลังอายุ 60 ปี การเหลียวไปที่ละข้างเกิน 90 องศา มักจะทำได้ไม่สะดวก และมีอาการปวดคอมาแทรกซ้อน เมื่อเราฝืนให้ข้อทำงานเกินกำลัง การแก่ตัวของข้อกระดูกคอยังก่อให้เกิดกระดูกงอกในด้านขอบของข้อ ซึ่งถ้างอกได้เกินขนาด จะทำใฟ้มีอาการปวดลงแขน มือ และนิ้วได้ ในรายที่มีกระดูกงอกมาก อาจจะมีอาการชาที่นิ้วมือ หรือแขน และทำให้แขน และมือ อ่อนแรงได้

การบริหารเป็นประจำ รวมทั้งการนวด หรือใช้กายภาพบริหาร มีโอกาสช่วยให้อาการบรรเทาได้ เนื่องจากข้อกระดูกอักเสบ อาจจะต้องการใช้การบริหาร หรือนวดบ่อยครั้ง เมื่อมีอาการ แต่ละครั้งที่มีอาการกำเริบ อาจจะต้องพบนักกายภาพบำบัด ถึง 7 – 8 ครั้ง ก่อนที่อาการจะดีขึ้น

การใช้เครื่องภายนอกช่วยบรรเทางานของกล้ามเนื้อคอ เช่น การใส่ปลอกคอ อาจจะช่วยให้อาการเจ็บคอ และแขน บรรเทาลงได้เร็วขึ้น หลังจากที่อาการบรรเทาจากการใส่ปลอกคอ ควรจะตามด้วยกายภาพบำบัด เพื่อช่วยรักษาอาการหมุน และเงยคอ ไมให้เสียไป

ในรายที่อาการเจ็บยังไม่ดีขึ้น ควรจะต้องใช้การฉีดยาลดอาการอักเสบเข้าช่วยที่คอเป็นครั้งๆ ในรายที่มีอาการเจ็บ ชา หรืออ่อนแรงลงแขน ควรจะพบแพทย์ผู้ชำนาญด้านกระดูกสันหลัง เพื่อรับคำปรึกษา และตรวจต่อด้วยเครื่อง MRI Scan ในรายที่มีแขนชาหรืออ่อนแรงมาก อาจจะต้องคิดถึงการผ่าตัด เพื่อที่จะรักษาอาการ และอนุรักษ์การทำงานของเส้นประสาทที่ถูกกดโดยกระดูกงอก

ด้านหนึ่งของโรคกระดูกคอ ซึ่งไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร คืออาการปวดคอเมื่อแหงนคอย และเมื่อนอนหนุนหมอน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่ และมีอาการเพลีย เสียคุณภาพของชีวิต ถ้าได้การตรวจรักษาที่ถูกต้อง อาการกลุ่มนี้จะดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้สนิท และมีพลังงานในเวลาตื่นมากขึ้น การใช้หมอนช่วยประคับกระดูกคอ การนวด หรือบริหาร และการใช้ยาแก้อักเสบเป็นพักๆ มีส่วนช่วยได้มาก ในโอกาสน้อย การผ่าตัดเพื่อเชื่อมข้อที่เป็นสาเหตุจะมีผลช่วยให้อาการดีขึ้น

คอของมนุษย์มีอยู่ 7 ข้อ ส่วนใหญ่ปัญหามักจะเกิดขึ้นในหนึ่ง หรือสองข้อ ตอนกลางของคอ การรักษาต้องผ่าตัดเพื่อเชื่อมกระดูก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะใช้คอหมุน และแหงนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีอาการปวด ทำให้นอนหลับได้สบายขึ้น และการชา หรืออ่อนแรงของแขน สามารถกลับมาเป็นปกติ ในบางรายอาจจะสามารถเปลี่ยนข้อได้โดยใช้ข้อสังเคราะห์ (Artificial disc) ซึ่งจะช่วยให้ความสามารถในการใช้คอเหมือนปกติ

สรุปแล้วในผู้สูงอายุ ควรจะรับรู้ว่ากระดูก และข้อ ของคนเราก็สูงอายุไปด้วย แต่มีการรักษาหลายวิธี ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพของชีวิต และในน้อยรายที่จำเป็นจะต้องผ่าตัดเชื่อมกระดูกคอ หรือเปลี่ยนข้อ สมรรถนะก็ยังไม่เสียไป

กลุ่มอาการเสี่ยง ‘โรคกระดูกคอ’

คอของเราประกอบด้วยกระดูกคอ (Cervical Spine) ทั้งหมด 7 ข้อ หรือที่เรียกว่ากระดูก C1-C7 ระหว่างกระดูกแต่ละข้อมีแผ่นกระดูกอ่อนหรือที่เรียกว่าหมอนรองกระดูกคั่นกลางทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสีและเป็นเสมือนโช๊คอัพเพื่อดูดซับและกระจายแรงอัด ส่วนกระดูกที่เราคลำได้เป็นตุ่มๆ ที่อยู่

ด้านหลังของคอนั้นเป็นกระดูกที่ยื่นออกจากส่วนหลังของกระดูกคอ ตรงกลางของกระดูกนี้มีลักษณะเป็นรูให้ประสาทไขสันหลังและหลอดเลือดสอดผ่าน ระหว่างรอยต่อของกระดูกคอแต่ละข้อจะมีช่องว่างให้รากประสาทงอกออกมา เพื่อนำคำสั่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อที่ไหล่ แขนและมือ และรับความรู้สึกส่วนต่างๆ กลับไปยังสมอง

กระดูกคอมีขนาดเล็กแต่ต้องแบกรับน้ำหนักของศีรษะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงเกิดความบอบช้ำบาดเจ็บได้ง่ายและเสื่อมได้เร็วกว่า ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท หลอดเลือดและไขสันหลังที่อยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ไหล่และสะบัก ปวดร้าวและชาที่แขนและมือ พร้อมทั้งอาการอื่นๆ ที่สลับซับซ้อน จนบางครั้งนึกไม่ถึงว่าการเจ็บปวดทรมานนี้มาจากกระดูกคอเรานี่เอง

สาเหตุโรคกระดูกคอที่พบบ่อย...

  • ภาวะกระดูกคอเสื่อม กระดูกคอที่เสื่อมลงตามวัยนั้นอาจจะไปกดทับเส้นประสาท หลอดเลือดหรือไขสันหลังที่อยู่บริเวณเดียวกัน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • อิริยาบถหรือท่าที่ผิดสุขลักษณะ เช่น การหนุนหมอนสูงเกินไป การทำงานในท่าเดียวนานๆ นั่งเขียนหนังสือ นั่งดูเอกสาร นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งดูทีวี เป็นต้น
  • คอเคล็ดหรือยอก เกิดจากคอมีการเคลื่อนไหวเร็วเกินไปหรือรุนแรงเกินไป เช่น การก้มเพื่อมองหาของใต้โต๊ะ การเอี้ยวตัวเพื่อหยิบของข้างหลัง การหกล้ม การเล่นกีฬาหรือโยคะ การนวดหรือการดัดตัว เป็นต้น ทำให้เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อคอถูกยืดมากหรือมีการฉีกขาดจนเกิดอาการปวดคอ
  • ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
  • ข้ออักเสบ ข้ออักเสบเรื้อรังบางชนิดอาจทำให้กระดูกคออักเสบไปด้วย เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
  • อาการอักเสบของร่างการ เช่น คออักเสบ หูอักเสบ เป็นต้น อาจทำให้เป็นโรคกระดูกคอหรือกระตุ้นให้อาการหนักขึ้น
  • ความเครียดทางจิตใจ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อคอตึงตัวเป็นประจำจนส่งผลกระทบต่อกระดูกคอได้

โรคกระดูกคอมีชนิดใดบ้าง...

  • กระดูกคองอกกดทับรากประสาท กระดูกคอแต่ละข้อมีรากประสาทงอกออกจากไขสันหลังเพื่อควบคุมการทำงานของไหล่แขนและมือ เมื่อกระดูกคอเสื่อมลงตามวัย ข้อต่อจะหลวงหรือไม่แข็งแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอเรื้อรัง ถึงแม้ว่าบางรายอาจไม่มีอาการปวดคอก็ตาม แต่ก็จะรู้สึกเมื่อยคอเป็นประจำ ต่อมาร่างกายมีการปรับสภาพโดยพยายามสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสื่อมไป กระดูกที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้เรียกว่า หินปูน หรือ กระดูกงอก ประกอบกับหมอนรองกระดูกที่เสื่อมและบางลง ทำให้ช่องว่างระหว่างข้อกระดูกคอแคบลง ในที่สุดไปกดทับจากประสาทและเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอและสะบัก

บางครั้งรู้สึกเสียวหรือชาและมีเสียงกรอบแกรบเวลาหันคอ หากปล่อยไว้เรื้อรังจะมีอาการปวดร้าวเสียวหรือชาที่แขนและมือ อาการจะเป็นมากเวลาเงยหน้า อาจมีการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อที่แขนและมือด้วย

  • กระดูกคอกดทับไขสันหลัง หินปูนที่เกาะตามกระดูกคอหรือกระดูกคอที่เสื่อมจะทรุดลงมากดทับไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดมึนศีรษะ แขนชา ปวดเมื่อย อ่อนแรงโดยเฉพาะหัวเข่าจะรู้สึกอ่อนแรง เวลายืนจะโคลงเคลง ก้าวขาไม่ค่อยออก ผิวหนังปวดแสบ ปวดร้อน อาจควบคุมปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้และสุดท้ายอาจเป็นอัมพาต
  • กระดูกคอกดทับหลอดเลือดแดง กระดูกคอมีรูให้เส้นประสาทและหลอดเลือดแดงสอดผ่าน เมื่อกระดูกคอและหมอนรองกระดูกเสื่อม ลงจะทำให้รูนี้แคบลง หลอดเลือดแดงก็จะเป็นตะคริวหรือถูกกดทับเลือดจึงไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

ทำให้เกิดอาการปวดเวียนศีรษะ ปวดตุบๆ ที่ท้ายทอย สายตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ วูบล้มลงอย่างกะทันหัน แต่ไม่หมดสติ สามารถลุกขึ้นได้เองอย่างรวดเร็วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แขนขาอ่อนแรง แขนชา หยิบของแล้วร่วง เวลาเงยหน้าหรือหันคออย่างกะทันหันจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ฯลฯ

  • กระดูกคอกดทับประสาทซิมพาเธติก ประสาทซิมพาเธติกควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ความดันโลหิต การขยับตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ตลอดจนกล้ามเนื้อเรียบในอวัยวะและต่อมขับหลั่งต่างๆ ในร่างกาย หากกระดูกคอหรือหมอนรองกระดูกคอเสื่อมและกดทับเส้นประสาท ก็จะเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน รู้สึกศีรษะหนักๆ ปวดท้ายทอย สายตาพร่า ปวดแน่นเบ้าตา ตาแห้ง เห็นแสงว็อบแว็บ ใจสั่น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูงขึ้น ฯลฯ
  • ปวดคอเนื่องจากกล้ามเนื้อตึงตัว กล้ามเนื้อบริเวณคอมีโครงสร้างซับซ้อนและทอสานเกี่ยวพันกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเราอยู่ในท่าเดียวนานๆ เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งดูทีวี เขียนหนังสือ เป็นต้น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณคอก็จะตึงตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดีจนเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยต้นคอ และไหล่แล้วจะลามไปที่สะบักและแขนด้วย

เมื่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตึงเกร็งนานๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อกระดูกคอ ทำให้กระดูกคอเคลื่อนและเกยทับกันได้เช่นกัน ส่วนการหนุนหมอนที่สูงเกินไปหรือผิดท่าจนทำให้เกิดอาการคอตกหมอนนั้นก็เกิดจากการตึงตัวของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อคอเช่นกัน แต่ผู้ที่มีอาการคอตกหมอนเป็นประจำแสดงว่ากระดูกคอเริ่มเสื่อมแล้ว

โดย นพ. พุทธิพร เธียรประสิทธิ์

ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1719 โรงพยาบาลกรุงเทพ

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net