ชมรมศัลยแพทย์ข้อเข่าข้อสะโพกประเทศไทย จับมือภาคเอกชนจัดงาน “ข้อเสื่อมบรรเทา ข้อเข่าแข็งแรง” เนื่องในวันโรคข้อสากล

14 Oct 2009

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน (ประเทศไทย)

ชมรมศัลยแพทย์ข้อเข่าข้อสะโพกประเทศไทย ร่วมกับบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด จัดงาน “ข้อเสื่อมบรรเทา ข้อเข่าแข็งแรง” เนื่องในวันโรคข้อสากลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคข้อเสื่อม รวมถึงแนวทางในการป้องกันและรักษาโรคข้อเสื่อมที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน ณ โซนบีคอน ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี รศ.นพ.ธไนนิธย์ โชตนภูติ ประธานชมรมศัลยแพทย์ข้อเข่าข้อสะโพกประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน

ไฮไลต์ของงาน ได้แก่ เสวนาบนเวทีกับเหล่าศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และคุณหญิงถนัด ปิติวงษ์ แขกรับเชิญพิเศษที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ในฐานะผู้มีประสบการณ์จริง พร้อมชมนิทรรศการให้ความรู้ และตรวจสุขภาพ จากโรงพยาบาลพญาไท 2 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย บางลง อาจมีการแตกและเปื่อยยุ่ย หรือมีอาการสูญเสียน้ำเลี้ยงในข้อต่อ จนในที่สุดจะมีการสูญเสียกระดูกอ่อนผิวข้อไป ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหว ข้อมากๆ บางครั้งมีเสียงดังที่ข้อขณะเคลื่อนไหว เจ็บแปลบตามแนวบริเวณข้อเข่า โดยความเจ็บปวดมีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้นเมื่อผิวข้อถูกทำลายมากขึ้น รวมถึงอาจมีการอักเสบของเยื่อบุข้อทำให้มีน้ำในข้อมากขึ้นจนมีการบวมของข้อเข่าให้สังเกตได้ และจะมีกระดูกงอกตามขอบผิวข้อเดิมร่วมกับจะมีการโก่งผิดรูปของข้อเข่าในระยะท้ายของโรค

รศ. นพ. พัชรพล อุดมเกียรติ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ภาควิชาศัลยศาตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ ศาสาตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในผู้สูงอายุ และอุบัติการณ์ของโรคจะเกิดใน เพศหญิงมากกว่าเพศชายซึ่งอาจเป็นผลเนื่องจากวัยทองหรือช่วงวัยหมดประจำเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ทางเพศ โดยผลการศึกษาล่าสุดจากวารสาร New England Journal of Medicine พบว่าผู้หญิงมี ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเสื่อมและต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดเข่ามากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และยังพบ มากขึ้นในกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ กิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้ข้อเข่ามาก การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ หรือการนั่งขัดสมาธิ ก็ถือเป็นความเสี่ยงเช่นกัน โดยสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม ที่พบบ่อยคือ มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณข้อเข่า การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือมีประวัติการติดเชื้อในข้อเข่า โดยปัจจุบันคาดว่ามีผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายในประเทศไทยเป็นโรคข้อเสื่อมประมาณหกล้านคน ดังนั้น หากคนไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคดังกล่าว และรู้ถึงแนวทางป้องกันตนเองให้พ้นจากโรค ก็จะสามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิด ข้อผิดรูปหรือพิการ ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้”

รศ.นพ. ธไนนิธย์ โชตนภูติ ประธานชมรมศัลยแพทย์ข้อเข่าข้อสะโพกประเทศไทย กล่าวว่า “การควบคุมน้ำหนักตัวเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะแรงกดที่ข้อเข่าจะต้องแบกรับถึง 6 เท่าของน้ำหนักตัวเพียง 1 กิโลกรัม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล้าและเป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น โรคนี้หากปล่อยทิ้งไว้โดยปราศจากการดูแลที่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ยากลำบากและถึงขั้นที่ไม่สามารถลุกขึ้นยืนหรือเดินได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้โรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อกระดูกและนำไปสู่ โรคข้อเสื่อมได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมรักษาด้วยวิธีการรับประทานยา ออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่มีความคงทนสูง ซึ่งเป็นการรักษาด้วยวิธีเปลี่ยนผิวข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Replacement) ที่สามารถหมุนและเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับข้อเข่าจริง ซึ่งมีการพัฒนาทั้งในด้านการออกแบบให้มีความสึกหรอต่ำโดยให้ชิ้นส่วนรับน้ำหนักที่เป็นพลาสติกสังเคราะห์ มีการเคลื่อนไหวได้ และด้านเทคนิคการผ่าตัดเพื่อให้ได้ข้อเข่าเทียมที่มีอายุการใช้งานสูงสุดถึงกว่าสิบปี จึงสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้”

นพ. พฤกษ์ ไชยกิจ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์เนวิเกเตอร์การผ่าตัดข้อเข่า วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล กล่าวว่า “การวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมให้ถูกต้อง แม่นยำ เป็นกุญแจสำคัญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์ เนวิเกเตอร์ที่ใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียม ซึ่งจะส่งผลให้ข้อเข่าเทียมสามารถใช้งานได้ยาวนานโดยปราศจากปัญหาใดๆ”

“การใช้คอมพิวเตอร์เนวิเกเตอร์ช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่านั้นมีข้อได้เปรียบ และนำไปสู่การพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องซอฟท์แวร์ที่จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว และจะสามารถให้ข้อมูลความแน่นอนของการใช้งานข้อเข่าเทียมให้ดีและยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงอายุ น้ำหนัก ความหนาแน่นของมวลกระดูก สภาพร่างกายและจิตใจ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หากมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาที่ถูกต้อง ตั้งแต่เนิ่นๆ” นพ.พฤกษ์ กล่าวเสริม

ทางด้านคุณหญิงถนัด ปิติวงษ์ อายุ 83 ปี ผู้ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม เล่าว่า “ชีวิตช่วงหนึ่งต้องทนทรมานอยู่กับโรคข้อเข่าเสื่อม แค่ลุกขึ้นยืนก็ต้องเสียเวลาตั้งหลักเป็นเวลานานกว่าที่จะขยับก้าวเดินไปข้างหน้าได้ เนื่องจากน้ำเลี้ยงข้อเข่าข้างขวาแทบจะไม่มี จนต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าและรับประทานยาควบคู่กันไปเป็นเวลานานนับปี ส่งผลให้ขาขวาเริ่มโก่งจนไม่สามารถเดินได้อย่างปกติ จึงตัดสินใจเข้ารับ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบหมุนได้ และนับเป็นเวลาถึงแปดปีแล้วที่กลับมาใช้ชีวิตที่ตนเองต้องการ อย่างมีความสุข เหมือนชีวิตที่ขาดหายไปช่วงหนึ่งได้ถูกเติมเต็มและได้กลับมาเป็นตัวเราเองอีกครั้งหนึ่ง จึงอยากให้ทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตาม ควรเริ่มดูแลและรักษาตัวเองตั้งแต่วันนี้ โดยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคข้อเสื่อม จะได้ป้องกันการสูญเสียของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้”

เพื่อป้องกันการสึกหรอของกระดูกข้อไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกิน หลีกเลี่ยงการคุกเข่า หรือนั่งยอง ๆ รวมทั้งการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น ผู้ที่มีการบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงจะช่วยให้การใช้งานข้อได้ดีขึ้น และออกกำลังกายให้เหมาะสม เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ ก็จะสามารถยืดอายุการใช้งานและรักษาข้อเข่าให้อยู่คู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net