คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ ซึ่งนับเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศ ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในชาติ และนานาชาติเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนให้รำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียดังกล่าว และรณรงค์ส่งเสริมปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Safety Mind) สำหรับในปี 2552 ซึ่งครบรอบ 5 ปีของความสูญเสียจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติสึนามิ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกำหนดจัดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2552 โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม 2552 - ส่วนกลาง กำหนดจัด ณ ลานอเนกประสงค์ สวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายในงานแบ่งเป็นภาคเช้าและภาคค่ำ โดยภาคเช้า จะมีการปล่อยขบวนรถรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักและสร้างจิตสำนึก
ด้านความปลอดภัยสัญจรไปตามเส้นทางสายต่างๆ พิธีไว้อาลัยและอ่านสารให้กับผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติการจัดนิทรรศการและการแสดงสาธิตด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การตอบปัญหาชิงรางวัล และการแสดงของศิลปิน ดารา นักร้อง ส่วนภาคค่ำจะมีการเสวนา การเสนอภาพเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ และการแสดงของศิลปิน ดารา นักร้องโดยจะมีการแพร่ภาพทางสถานีวิทยุกองทัพบกช่อง 5
- ต่างจังหวัด มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่พิจารณาเลือกสถานที่จัดงานตามที่เห็นสมควร โดยกำหนดให้จัดกิจกรรมขบวนรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักและสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย พิธีไว้อาลัยและอ่านสารให้กับผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติการมอบรางวัลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา โรงเรียน สถานประกอบการ และอาสาสมัครที่มีผลงานดีเด่นด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดนิทรรศการและการแสดงสาธิตด้านการป้องกันและ
บรรเทาสาธารณภัย
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติดังกล่าว นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ ปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Safety Mind) ให้ประชาชนรู้จักการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยต้องเริ่มจากตนเองก่อน ด้วยการระแวดระวังภัยรอบตัวอยู่เสมอ และขยายผลไปสู่บุคคลภายในครอบครัวจนถึงสังคมชุมชน หมู่บ้าน สถาบันการศึกษา สังคมส่วนรวม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM