ม.อ. ปลื้มขึ้นทำเนียบมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เดินหน้าสร้างผลงานคุณภาพหวังติด ‘ท๊อปทรี’

03 Sep 2009

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์

ม.อ.ปลื้มหลังเข้าร่วมโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติ พร้อมเดินหน้าผลิตงานวิจัยคุณภาพ หวังติด 3 อันดับแรกที่มีงานวิจัยเป็นที่ยอมรับและใช้อ้างอิงมากที่สุด ระบุพัฒนาศักยภาพบุคลากรรอบด้าน กำหนดกรอบเป้าหมายให้อาจารย์พัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มตำแหน่งทางวิชาการ พร้อมเพิ่มคณาจารย์วุฒิปริญญาเอกให้มีสัดส่วน 70% จากจำนวนอาจารย์ทั้งหมด ผลักดัน 6 ทิศทางหลักเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2552 กับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอีก 8 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมา ม.อ.มีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการที่จะขึ้นสู่ 3 อันดับแรกหรือท๊อป ทรี ของมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับ และใช้อ้างอิงมากที่สุดภายใน 7-10 ปีข้างหน้า

สำหรับโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยนี้ เป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยให้มีศักยภาพการทำวิจัยที่สูงขึ้น ด้วยงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่มีผลงานด้านการวิจัย ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ที่มีขีดความสามารถระดับโลก รวมถึงการได้รับการยกระดับอันดับมหาวิทยาลัยโลกในลำดับที่ดีขึ้นด้วย โดยโครงการนี้คาดหวังว่าจะเกิดการพัฒนาด้านการทำวิจัย ที่จะส่งผลให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับแผนพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคนี้

อธิการบดี ม.อ. กล่าวด้วยว่า ในการเสนอเพื่อเข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาตินั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดทำแผนเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยริเริ่มแบบมุ่งเป้า โดยการยกระดับงานวิจัยที่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน ทุนวิจัย ผลงานวิจัย ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 กลุ่ม คือ นวัตกรรมยางพารา การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารครบวงจรและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารในภาคใต้ ทรัพยากรธรรมชาติแห่งคาบสมุทรไทยและการจัดการ การวิจัยพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวัสดุ นวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ตอบสนองต่อความต้องการในภาคใต้ ชายแดนใต้และพหุวัฒนธรรม

“จุดเริ่มต้นของการเดินหน้าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยพบว่าการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในกลุ่มนักศึกษาต่างพื้นที่ ทำให้ไม่กล้าเดินทางไปเรียน รวมถึงในส่วนของอาจารย์ด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ ม.อ. ต้องหาทิศทางที่เหมาะสมกับความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย เพื่อทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต บริการวิชาการ และทำนุบำรุงวัฒนธรรม โดยมีการวิจัยเป็นฐาน” รศ.ดร.บุญสม กล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2548-2551 อัตราการตีพิมพ์งานวิจัยของ ม.อ. อยู่ที่อันดับ 4 ซึ่งการจะก้าวขึ้นสู่การมีผลงานวิจัยติดอันดับ 1 ใน 3 ได้นั้น ม.อ.ต้องมีนักศึกษาปริญญาเอก 1,000 คน จากปัจจุบันมีจำนวน 421 คน ขณะที่เป้าหมายของมหาวิทยาลัยได้วางกรอบการพัฒนาบุคลากรไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของคณาจารย์ ซึ่งจะต้องมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกให้ได้ 70% ของจำนวนอาจารย์ประมาณ 2,000 คน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 42% เช่นเดียวกับการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายว่า อาจารย์แต่ละท่านจะมีตำแหน่งทางวิชาการ โดยจะขึ้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ภายใน 5 ปี และเป็นรองศาสตราจารย์ในอีก 5 ปีต่อไป ซึ่งจะทำให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ม.อ. ยังได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานไว้ 6 ด้าน เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยเดินทางไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ด้านที่ 1 การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้มุ่งสู่วิจัยและบัณฑิตศึกษา 2. ความเป็นเลิศในบางสาขาและบางเรื่อง เช่น เรื่องยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเล ทะเลสาบสงขลา และอิสลามศึกษา 3. การผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ และเป็นคนดีของชาติ มีศักยภาพเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะการแก้ปัญหา และที่สำคัญต้องมีจิตสำนึกช่วยเหลือสังคม 4. แผนเชื่อมโยง ม.อ.เข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 5.การบริหารจะเน้นที่ความชัดเจนของโครงสร้างการทำงาน ความชัดเจนของแผนพัฒนา แผนยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาอาจารย์และบุคลากร และ 6. เป็นองค์กรที่ใช้หลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)

โทร. 0-2248-7967-8

e-mail address : [email protected]

เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com