กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
NIDA Business School ผนึกสถาบันวิจัยนครหลวงไทย จัดทำบทวิจัยรับมือภาวะถดถอย เชื่อวิกฤติการเงินสหรัฐ-ยุโรป ถึงจุดต่ำสุดในปีหน้า ก่อนจะฟื้นตัวในปี 2553 หลังธนาคารกลางทุกประเทศอัดฉีดเงินเข้าระบบ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน พร้อมแนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 0.5-1.0% ขณะที่ SCRI ประเมิน GDP ไทยปี 52 ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.3%
รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDABusiness School และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนครหลวงไทย เปิดเผยในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ Thailand Outlook in Global Recession ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ,โครงการสร้าง “CFO มืออาชีพ” NIDA Business School และสถาบันวิจัยนครหลวงไทย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า จากการประเมินปัญหาวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงต่อจากนี้ไป เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงและปัญหาจะไม่ยืดเยื้อ เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกันในการช่วยแก้ปัญหาวิกฤติการเงินของโลก
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ยังคงมีสถาบันการเงินขนาดเล็กอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือบางประเทศในเอเชีย ที่ต้องเลิกกิจการ หรือขอเข้ารับการช่วยเหลือจากธนาคารกลางในแต่ละประเทศ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนกลับคืนมา โดยคาดว่า ปัญหาดังกล่าวจะเริ่มถึงจุดต่ำสุดภายในปี 2552 และระบบการเงินของประเทศเหล่านี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในปี 2553
“ในช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการทำธุรกรรมนอกระบบ หรือมีการเข้าไปลงทุนในตลาดตราสารอนุพันธ์ ที่ไม่แสดงอยู่ในบัญชีปกติ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น นักลงทุนจึงเกิดความตื่นตระหนกต่อวิกฤติในครั้งนี้ เพราะไม่สามารถประเมินได้ว่า มูลค่าความเสียหายจากวิกฤติในครั้งนี้จะลามไปสู่สถาบันการเงินในยุโรป แต่ปัจจุบันมีการเปิดเผยข้อมูลความเสียหายจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ว่าอยู่ที่ประมาณกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบสามารถรองรับมูลค่าความเสียหาย และเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนให้กลับคืนมาได้” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ในส่วนของประเทศไทยนั้น คณบดี NIDA Business School ประเมินว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการค้าการลงทุนของประเทศไทยมากกว่าภาคสถาบันการเงิน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของการส่งออกและปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่จะชะลอตัวลง แต่เชื่อว่า น่าจะมีผลกระทบในระยะสั้น เพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงเชื่อว่า ราคาสินค้าเกษตรจะกลับมาสู่ภาวะราคาปกติเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกรได้ภายในปี 2552
คณบดี NIDA Business School ยังเสนอแนะด้วยว่า รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเสริมสภาพคล่องในตลาดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอย่างต่ำ 0.5 - 1.0% เพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยา ว่าภาครัฐและธปท.ได้เตรียมพร้อมใน การรับมือกับวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังจะต้องเร่งเดินหน้าโครงการ เมกะโปรเจ็คท์เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้เงินในระบบเกิดการหมุนเวียน เกิดการจ้างงานและป้องกันปัญหาการว่างงาน
ด้าน นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) กล่าวว่า ขณะนี้วิกฤติเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด คาดว่าต้องใช้เวลาพิสูจน์อีกภายในปี 2551 ถึงแม้ว่าวิกฤติสถาบันการเงินมีแนวโน้มผ่านจุดเลวร้ายที่สุด แต่ในส่วนของผลกระทบต่อที่มีต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นคาดว่าจะยังคงมีต่อไป โดยคาดว่าวิกฤติการเงินของโลก ในครั้งนี้มีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2552 ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศผู้นำเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยุโรป และ ญี่ปุ่นที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วในปี 2551
สำหรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกล่าสุดโดย IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2552 จะขยายตัวลดลงจาก 3.9% เหลือ 3% แต่ในความเห็นของ SCRI ประเมินว่า ยังคงมีโอกาสสูงที่ IMF จะปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP ได้อีกในอนาคต และ หาก GDP ของโลกขยายตัวต่ำกว่า 3% ซึ่งตามคำนิยามอย่างไม่เป็นทางการของ IMF คือ ภาวะเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) แล้ว
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะเศรษฐกิจไทยจะยังคงมีความสามารถในการรับแรงกระแทกจากภายนอกได้พอสมควร เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยประเมินว่า GDP จะลดลงต่ำสุดไม่เกิน 3.3% ในปี 2552 สำหรับผลกระทบของ การถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551-55 จะอยู่ประมาณ 4-6% โดยจุดต่ำสุดของ GDP อยู่ในปี 2552 ในขณะเดียวกัน คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงปี 2552-55 จะอยู่เฉลี่ยที่ 3% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานมีโอกาสลดลงได้ถึง 3% ในปี 2553
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงของระดับรายได้เฉพาะตัวได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม ค้าปลีก ปิโตรเคมี ยานยนต์ และสิ่งพิมพ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางเม็ดพลาสติกแผงวงจรไฟฟ้า เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวสูงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าในปี 2552 การนำเข้าจะลดลง 10 % ขณะที่อุตสาหกรรมที่ยังคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก คือ กลุ่มโรงพยาบาล
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ :
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนาม NIDA Business School)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ : ฟ้า (0-86884-4458), ขวัญ (0-84045-6595), บุ๋ม (0-89636-8414)
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit