กระตุ้นจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน กับเทศกาลภาพยนต์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4

21 Nov 2008

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สสวท.

สกรู๊ป : ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์

เรื่อง : กระตุ้นจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน กับเทศกาลภาพยนต์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4

สมการจักรวาลของปวงคาเร่ , พลังแห่งดาวเคราะห์สีน้ำเงิน , บุตรของเทพเจ้าเนปจูนที่ถูกลืม , ลิงชิมแปนซีบุกอวกาศ ชื่อเหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ได้รับการคัดเลือกมาฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ สถาบันเกอเธ่ สถานทูตฝรั่งเศส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และบริษัทไบเออร์ไทย จำกัด ….. แค่ชื่อก็ชวนให้ติดตามแล้วใช่ไหม

ภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่นำมาฉายนั้น นับว่าเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติทั้งในยุโรป และเอเชีย ที่หาดูไม่ง่ายนัก เป็นโอกาสดีของเยาวชนไทยที่จะได้ชมภาพยนตร์ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์ ชวนให้ติดตาม และค้นหาคำตอบจากเรื่องราวที่ถูกหยิบยกมานำเสนอ

ที่ผ่านมาเคยมีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สรุปไว้ว่า เมื่อให้เด็กดูภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เด็กจะมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนมากกว่าการแจกโจทย์ให้ทำ และหากได้รับการชี้แนะที่เหมาะสมจากอาจารย์จะสามารถกระตุ้นจินตนาการ ความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้

จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ น้อง ๆ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ จากการสัญจรฉายกิจกรรมของเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4 พร้อมให้คำตอบ

บรรยากาศภายในโรงเรียนวันนั้นดูคึกคักเป็นพิเศษ ภาพยนตร์ที่นำมาฉายให้เด็กๆได้ชมมี 2 ด้วยกัน เรื่องแรก เชื้อเห็ด เชื้อรา จากรายการโทรทัศน์โลเว่นซาห์น ประเทศเยอรมนี นำเสนอการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่รอการเปิดเผยเกี่ยวกับเชื้อรา ในรูปแบบการนำเสนอที่สนุกสนาน เรียกเสียงหัวเราะได้ตลอดเวลา ส่วนเรื่องที่สองคือ พลังแห่งดาวเคราะห์สีน้ำเงิน บอกเล่าถึงการกำเนิดโลก ด้วยการนำเสนอภาพที่ตระการตาน่าตกตะลึง

น้องศิริเนตร ศิริอนันต์ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 อายุ 13 ปี และน้องชนัญญา สุขสมวัฒน์ อายุ 14 ปี เพื่อนนักเรียนชั้นเดียวกัน บอกว่า ชอบเรื่องเชื้อราเพราะดูสนุก ขำตลอด และเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องวิชาการเยอะ แต่ภาพที่ได้เห็นน่าสนใจ เพราะเวลาที่ครูสอนมองไม่เห็นภาพว่าเป็นอย่างไร แต่พอดูจากหนัง ทำให้มองเห็นภาพที่ครูอธิบายได้ชัดเจนมากขึ้น

“เด็กในวัยอย่างหนู ชอบเรื่องที่ดูแล้วสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ อย่างเรื่องเชื้อราดูแล้วตลกดี ได้รู้ว่า เชื้อราเกิดขึ้นได้อย่างไร จะกำจัดอย่างไร เมื่อก่อนเวลากินผลไม้จะตัดเฉพาะส่วนที่มีเชื้อราออก แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้วว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเชื้อราจะมีรากยาวฝังอยู่ เป็นอันตรายต่อร่างกาย” น้องๆทั้งสองคนช่วยกันอธิบาย

ทั้งสองคนยังบอกอีกว่า ชอบวิชาวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เพราะในโลกนี้ยังมีเรื่องที่ไม่รู้อีกมากมาย ที่ต้องค้นหา และวิชาวิทยาศาสตร์จะบอกได้ แต่เรื่องที่ทั้งสองคนอยากจะรู้คือ เรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่ง เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่จัดฉายในเทศกาลนี้ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ดู

“หนูอยากดูเรื่องโลกร้อน เพราะเป็นเรื่องที่กำลังมีการพูดถึงกันมาก อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะหาทางป้องกันอย่างไร มีคนบอกว่าน้ำจะท่วม จะได้รู้ว่าหากเกิดขึ้นจริงจะต้องป้องกันตัวอย่างไร ถ้านำมาฉายให้ดูก็อยากดูอีก” น้องทั้งสองคนกล่าวทิ้งท้าย

ส่วน สิรภพ ปรีชาเลิศพิริยะ นักเรียนมัธยมชั้นปีที่ 2 อายุ 14 ปี บอกว่า หนังดูสนุกดี แต่ชอบเรื่องการกำเนิดโลกมากกว่า เพราะเป็นคนที่ชอบเรื่องเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดี เรื่องฟอสซิล เมื่อถูกถามว่าหนังทั้งสองเรื่องดูยากไปไหม น้องสิรภพ ยืนยันว่าไม่ครับ อะไรที่ดูแล้วไม่เข้าใจอาจจะไม่ค่อยจำ ส่วนที่เข้าใจก็จะจำแม่นเลย

ส่วนเพื่อนอีกสองคนคือ น้องณัฐภัทร จำปาศักดิ์ และ กฤษณ จงวีระกุล บอกว่า ชอบวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ทั้งฟิสิกส์ และเรื่องเกี่ยวกับพันธุกรรม ได้เรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ผ่านภาพยนตร์ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะน่าสนใจกว่าเรียนเฉพาะในห้อง ไม่ต้องมีการบ้านด้วย

ด้าน อาจารย์อมพวรรณ์ กายพันธ์ อาจารย์ผู้สอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเรียนวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกสนานกับการเรียนการสอน สื่อต่างๆจะดึงดูดความสนใจของ เด็ก ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ

สำหรับภาพยนตร์ที่เลือกนำมาฉายให้เด็กชั้นมัธยมปีที่ 2 ดูครั้งนี้ อาจารย์บอกว่า เลือกให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นของพวกเขาดู เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้ใจ และตรงกับความสนใจของเขา และการเรียนรู้จากภาพยนตร์ทำให้เขาได้เรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 4 ยังจัดต่อเนื่องจนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน โดยอาจารย์นารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่าได้มีการคัดเลือกภาพยนตร์ที่นำมาฉายในเทศกาลครั้งนี้ ทั้งหมด 36 เรื่อง จากประเทศต่างๆ ซึ่งจะสัญจรไปฉายยังสถานศึกษาในภูมิภาคจำนวน 26 แห่งทั่วประเทศ และมีการจัดกิจกรรมคู่กับภาพยนตร์สัญจรใน 4 ศูนย์ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยบูรพา

สำหรับน้อง ๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ สามารถชมได้ฟรีที่ ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ อุทยานการศึกษา และพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร... ส่วนใครที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปดู ได้ที่ เว็บไซต์สถาบันเกอเธ่ www.Goethe.de/sciencefilmfestival, หรือเว็บไซต์ สสวท.www3.ipst.ac.th/sciencefilm อย่าลืมไปค้นหาคำตอบ กับความลับบางอย่างทางวิทยาศาสตร์ ที่กำลังรอการเปิดเผยในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ครั้งที่ 4

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net