ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) เป็นลบ

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ มูลค่า 2.5 พันล้านบาท ทยอยชำระคืนเงินต้น ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2552 ของบริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL เป็นลบจากเดิมแนวโน้มมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวแก่หุ้นกู้ดังกล่าวที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงของ RCL อันมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถที่จำกัดของบริษัทในการขึ้นอัตราค่าระวางเรือ (Freight Rate) ในช่วงวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่จะชะลอตัวลงในปี 2552 อาจจะส่งผลให้ปริมาณการค้าทั่วโลกหดตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือและอัตราค่าระวางเรือ ด้วยเหตุนี้ผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของ RCL อาจจะอ่อนแอลงต่อไปอีก ซึ่งทำให้การลดลงของระดับหนี้สินของบริษัทในช่วง 24 เดือนข้างหน้าน้อยกว่าที่คาด รวมถึงทำให้ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทลดลง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ความสามารถในการทำกำไรของ RCL ลดลงอย่างมาก ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) 12.5% ซึ่งลดลงจาก 23.9% ในปี 2550 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 4.6 เท่าจาก 1.7 เท่าในปี 2550 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวม (Total Debt/Total Capitalisation) อยู่ที่ 32.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ลดลงจาก 33.7% ณ สิ้นปี 2550 แรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรน่าจะคลายตัวลงในปี 2552 เนื่องจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงอย่างมาก แม้ว่าอัตราค่าระวางเรือก็น่าจะอ่อนตัวลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก RCL มีแผนการลงทุนที่เป็นภาระผูกพันในช่วงปลายปี 2551 ถึงปี 2552 รวมประมาณ 3 พันล้านบาท ระดับหนี้สินรวมของ RCL จึงน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยอัตราส่วน Net Debt/EBITDA อาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.0 เท่าถึง 5.5 เท่าในช่วงปี 2551-2552 จากประมาณ 1.5 เท่าถึง 2.0 เท่าในช่วงปี 2548-2550 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Net Adjusted Debt/EBITDAR) คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 6.0 เท่าถึง 6.5 เท่าจากประมาณ 3.0 เท่าถึง 4.0 เท่า อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เป็นภาระผูกพันจะลดลงเหลือเพียง 1.5 พันล้านบาทหลังจากช่วงระยะเวลากล่าว ซึ่งมีกำหนดชำระในปี 2554 รวมถึงการคาดการณ์ถึงการฟื้นตัวของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะทำให้อัตราส่วน Net Debt/EBITDA และอัตราส่วน Net Adjusted Debt/EBITDAR ปรับตัวดีขึ้นเป็น 2.0 เท่าถึง 3.0 เท่าและ 4.0 เท่าถึง 5.0 เท่าตามลำดับหลังจากปี 2552 ในส่วนของสภาพคล่องทางการเงิน RCL ยังคงมีอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 บริษัทมียอดเงินสดคงเหลือ 3.6 พันล้านบาทและมีวงเงินที่สามารถเบิกจ่ายได้จากธนาคาร (Undrawn Committed Facilities) ประมาณ 3.8 พันล้านบาท อันดับเครดิตมีปัจจัยสนับสนุนจากความเป็นผู้นำในธุรกิจบริการขนส่งตู้สินค้าทางเรือในภูมิภาคเอเชียของ RCL ด้วยเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กองเรือขนาดใหญ่ที่มีอายุค่อนข้างน้อย และความถี่ของตารางการเดินเรือ นอกจากนี้ การผสมผสานระหว่างธุรกิจ Shipper Owned Container (SOC) และธุรกิจ Carrier Owned Container (COC) ของ RCL ยังมีส่วนช่วยบรรเทาความเสี่ยงบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจตามวัฏจักรของอุตสาหกรรม แม้ว่าอุปทานส่วนเกินของปริมาณเรือขนส่งตู้สินค้าจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า กองเรือขนส่งตู้สินค้าจะมีอัตราการเติบโตที่ 14.5% ต่อปีโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2551-2553 แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตเฉลี่ยในส่วนของปริมาณเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดเล็ก ซึ่งมักใช้สำหรับการขนส่งภายในภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะอยู่ที่ 7.4% ต่อปี ในขณะที่ปริมาณการค้าภายในภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับปริมาณการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างทวีป หาก RCL ไม่สามารถแสดงการฟื้นตัวของส่วนต่างอัตราค่าระวางเรือกับต้นทุนการเดินเรือ (Freight Spread) และ EBITDA ภายในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 รวมถึงภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ ไว้ อาจมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในทางตรงกันข้าม ความสามารถของบริษัทในการสร้างและบริหารกระแสเงินสดในช่วงวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของความสามารถในการทำกำไรและอัตราส่วนหนี้สิน อาจทำให้อันดับเครดิตของบริษัทคงอยู่ในระดับเดิมได้ ติดต่อ: สมฤดี ไชยวรรัตน์ +662 655 4762, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล +662 655 4760, Vincent Milton, +662 655 4755

ข่าวฟิทช์ เรทติ้งส์+ฟิทช์ เรทติ้งวันนี้

SCAP สุดปลื้ม! ฟิทช์จัดอันดับเครดิต 'A-(tha)' สะท้อนฐานะการเงินมั่นคง เพิ่มศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำ ช่วยเสริมแกร่งกลุ่ม SAWAD

บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) หรือ SCAP ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยครบวงจร ประกาศข่าวดี! ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) แก่ SCAP ที่ระดับ 'A-(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F2(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต "มีเสถียรภาพ" (Stable Outlook) ระดับเดียวกับอันดับเครดิตของกลุ่มศรีสวัสดิ์ (SAWAD) สะท้อนโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งของกลุ่ม และเครือข่ายการดำเนินงานในธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริ

ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LHS ที่ 'AA(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ...

ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจก.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative; RWN) ของอันดับเครดิต บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ท...

ฟิทช์คงอันดับเครดิต บริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด ที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด หรือ ICBCTL ที่ 'AAA(tha)' พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตระยะสั้นที่ 'F1+(tha)' โดยมีแนว...