กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
เพราะชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเรียนรู้และมีชีวิตที่ดีได้ บนพื้นที่ไกลสุดสายตา และสูงขึ้นไปหลายร้อยหลายพันกิโลเมตรบนยอดขวานไทย ชาวเขาเผ่าอีก้อ เย้า อาข่า และลาหู่ บนดอยที่ จ.เชียงราย ปัจจุบันพวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างน่าแปลกใจ ด้วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ทั้งครูและเด็กมีคอมพิวเตอร์ใช้ และมีความสุขในการเรียน โดยเหล่าคณาจารย์และนักเรียนได้รับเชิญเป็นวิทยากรกลุ่มหนึ่ง ในการสัมมนาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “ความสำคัญของเทคโนโลยีกับการศึกษาในโลกยุคใหม่” ในงานเปิดสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้เฉลิม พระเกียรติ 80 พรรษา มูลนิธิไทยคม โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จไปทรงเปิดอาคารฯ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานมูลนิธิไทยคม และที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี กล่าวว่า “การพัฒนาเด็กให้เรียนรู้ได้เร็ว โดยกฎของรัฐบาลนั้นทำได้ยากมาก แต่ความมุ่งมั่นและเชื่อเสมอว่าเด็กไทยคือสมบัติที่มีค่าที่สุดของชาติไทย มูลนิธิไทยคมจึงนำแนวทางการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ที่คิดค้นและพัฒนาโดย ศาตราจารย์ซีมัวร์ แพเพิร์ต แห่งสถาบันเทคโนโลยี แมซซาซูเสตต์ (MIT Media Lab) มาปรับใช้ในการพัฒนาการศึกษาของเด็กไทย โดยสอดคล้องกับภูมิสังคมไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2541 ซึ่งแนวทางการเรียนรู้แนวใหม่นี้ มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการปฏิบัติจริง (Learning by doing) เพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ และเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งสามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตน ในด้านทักษะการใช้ชีวิตให้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมและปลูกฝังให้ผู้เรียนสามารถคิด วางแผน และทำงานอย่างเป็นระบบไปจนถึงฝึกทักษะการแก้ปัญหา ทำงานเป็นทีมได้ดี” โดย อ.อุทัย มงคลสิน จากโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้บุกเบิกการเรียนรู้จากการทำโครงงานปฏิบัติจริง กล่าวเสริมว่า “การเรียนโดยใช้โครงงาน ตามแนวคิดของการการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา หรือ การเรียนรู้แบบบูรณาการนั้น สังเกตได้ว่านักเรียนดีขึ้นกว่าเดิม มีความสุขกับการเรียน โดยผมจะตั้งต้นด้วยการถามคำถามเด็ก เพราะอะไร ทำแล้วได้อะไร ทำทำไม เพื่ออะไร มีผลอย่างไร โดยไม่บอกว่านี่เป็นโครงงาน สิ่งที่ถามเด็กเพื่อให้เด็กรู้จักคิด ตอบได้ก็มีกำลังใจทำ เพราะครูต้องไม่ทำตัวเป็นครู แต่ต้องเป็นเพื่อนร่วมเรียน ต้องคิดเสมอว่า ผิดเป็นครู ถูกเป็นนักเรียน ให้ความใกล้ชิด คุ้นเคยกับเด็ก ห้องเรียนมี 2 ประตู มีประตูหน้าและหลัง ครูต้องรู้จักเด็กนักเรียน ไม่ใช่เข้าประตูหน้า สวัสดี แต่พอเข้าประตูหลัง ทำไมขาดเรียน ไปไหนมา ชื่ออะไรนะ อย่างนี้ไม่ได้ ครูต้องเป็นผู้ชี้แนะไม่ใช่ผู้มีอำนาจ และต้องคิดว่านักเรียนไม่ใช่จำเลยหรือผู้ต้องหา ในการทำโครงงานครูต้องอธิบายทุกขั้นตอนให้เด็กฟัง ให้เกียรติเด็ก เปิดโอกาส อย่าไปปิดบังความคิด บนดอยเด็กที่นั่นน่ารักมาก ซื่อสัตย์มาก หน้าห้องไฟส่องหัวครู เห็นผมหงอก เด็กเห็นเดินมาปั๊บ ดึงปุ๊บ บอกมันขาวครับครู เราก็อย่าไปถือสา เด็กทำอะไรก็แล้วแต่ครูต้องให้อภัยครับ สิ่งที่ต้องการให้เด็กที่ห่างไกลทำได้ คือช่วยตัวเองได้ เผื่อแผ่คนอื่น และยืนได้ด้วยตนเอง”
ผลผลิตจากการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ด.ช.พรชัย โสภณเอื้ออำนวย หนึ่งในนักเรียนชาวชาวเขาเผ่าลาหู่ ลูกศิษย์ของอ.อุทัย เผยว่า “ทุกวันนี้ผมมีความสุขในการเรียนมาก ครูอุทัยเคารพนักเรียน ผมก็เลยอยากเคารพครูครับ และการเรียนโดยทำโครงงานยังช่วยให้พวกผมรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม มีการช่วยกันคิด แลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อนรู้อย่าง ผมรู้อีกอย่าง ก็ช่วยกันทำจนสำเร็จได้”
ด้าน ผอ.เอกชัย ปานเม่น ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.เมือง จ.เชียงราย กล่าวว่า “ทางมูลนิธิไทยคมได้ให้แนวการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาผ่านการปฏิบัติจริง เราจึงมองย้อนกลับไปว่า เรามีการจัดการศึกษาเพื่อชีวิต เพื่อสังคมหรือเปล่า หรือเป็นการเรียนการสอนปกติ ตัวเองจึงได้เปลี่ยนแปลงความคิดจากครู ผู้บริหาร สั่งการอย่างเดียว สู่การเรียนรู้ร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน ในขณะที่เด็กที่ขาดโอกาสได้เรียนในระบบ ต้องได้เรียนใน กศน. ผนวกเข้ากับกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่ เข้ากับวัฒนธรรม ความเป็นอยู่แบบชาวเขา จนสามารถพัฒนาชีวิต และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”
อีกหนึ่งผลผลิตจาก กศน. น.ส.อรุณี มาเยอ ชาวเขาเผ่าอาข่า อดีตนักศึกษา กศน.ม่อนแสงดาว ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เผยว่า “หนูได้เรียนรู้ในโลกที่กว้างขึ้น โดยมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องภูมิสังคมจากการทำโครงงานโดยใช้โปรแกรมไมโครเวิล์ดโปร การสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ การใช้กล้องดิจิตอล ในการทำโครงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสภาพภูมิสังคมที่เราอาศัยอยู่มากขึ้น การเรียนทำให้หนูสนุกมาก ได้ลงมือปฏิบัติ ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเรียนรู้ ซึ่งบนดอยหนูไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อเรียนจบมาหนูก็ได้นำความรู้ที่ได้ศึกษาจาก กศน.มานั้น ไปต่อยอดในการเรียนระดับสูงต่อไป นอกจากนั้น หนูยังมีสังคมที่กว้างขึ้น รู้จักปรับตัวเข้ากับคนอื่นมากขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีขึ้นสำหรับชีวิตหนูค่ะ วันเสาร์อาทิตย์หนูยังเป็นอาสาสมัครชุมชนรักถิ่นภูเขา คอยเฝ้าระวังเรื่องของสิทธิเด็ก การค้ามนุษย์ และยาเสพติด อีกด้วยค่ะ หนูภาคภูมิใจที่ดีได้ทำอะไรเพื่อท้องถิ่นและบ้านเกิด ทำให้คนในชุมชนมีความสุข และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ต่อไปค่ะ”
แล้ววันนี้หลายชีวิตบนดอยก็มีความสุขและน่าอิจฉา...เหลือเกินจากการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาก่อให้เกิดการใฝ่รู้ตลอดชีวิต
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit