คุมเข้มการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยส่งออก และการวิเคราะห์ด้วยวิธี DNA

22 Nov 2007

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--คต.

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าตาม พรบ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 และกำหนดให้มีการสุ่มตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าว (DNA) ตลอดจนสำนักงานมาตรฐานสินค้า (มส.) มีมาตรการคุ้มเข้มในการกำกับดูแลการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของผู้ตรวจสอบหรือเซอร์เวย์เยอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานสินค้าส่งออกดังกล่าว

ในรอบปีงบประมาณ 2550 (ต.ค. 49 – ก.ย. 50) ที่ผ่านมา ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปกำกับดูแลการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของเซอร์เวย์เยอร์รวม 2,059 ครั้ง หรือร้อยละ 14 ของจำนวนครั้งที่แจ้งทั้งหมดพบข้าวที่มีคุณภาพทางกายภาพไม่ถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด จำนวน 16 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 0.78 ของจำนวนครั้งที่ออกไปกำกับดูแลฯ นอกจากนี้ ยังได้สุ่มเก็บตัวอย่างจากผู้ส่งออก จำนวน 306 ตัวอย่าง และจากโรงสีในพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจากจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี เป็นต้น จำนวน 144 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ DNA พบว่า คุณภาพข้าวของผู้ส่งออกมีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐาน จำนวน 300 ตัวอย่าง ไม่ถูกต้องเพียง 6 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 1.33 และของโรงสีฯ มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานทั้งหมด สำหรับข้าวฯ ของผู้ส่งออกที่ตรวจ DNA ไม่ผ่าน จะถูกระงับการส่งออกและให้ผู้ส่งออกนำข้าวจำนวนนั้นไปปรับปรุงคุณภาพให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด จึงจะอนุญาตให้ส่งออกได้ต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยของโรงสีที่ได้รับการรับรองจากจังหวัด ซึ่งเป็นการตรวจสอบคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย ณ ต้นทาง พบว่า ความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิไทยระหว่างร้อยละ 92-94 มีประมาณร้อยละ 3 และความบริสุทธิ์ระหว่างร้อยละ 95-100 มีประมาณร้อยละ 97 ของจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจวิเคราะห์เอกลักษณ์พันธุกรรม

อธิบดียังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่ามาตรการในการสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยทั้งของโรงสีที่ได้รับการรับรองจากจังหวัด และของผู้ส่งออกในขณะตรวจปล่อย (loading) เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์เอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) นั้น ถือได้ว่าเป็นมาตรการป้องปรามและคุมเข้มคุณภาพมาตรฐาน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง นอกจากนี้ มส. ยังได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้แก่โรงสี พ่อค้าท้องถิ่น ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกในพื้นที่เป็นระยะ ๆ ตลอดมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นสร้างจิตสำนึกความตระหนัก (awareness) การรับรู้/ความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการพยายามยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยของประเทศโดยรวม