กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“พลาสมา-ซี” (Plasma-Z) ถึงไทยแล้ว หลังจากคว้ารางวัลรองชนะเลิศ การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก หรือโรโบคัพ ซอกเกอร์ สมอลล์ ไซส์ ลีก (Robocup Soccer Small Size League) ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลกในงานเวิร์ล โรโบคัพ 2007 (World RoboCup 2007) ที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา
โดยสมาชิกทีมพลาสมา-ซี
ซึ่งเดินทางจากประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2007 ประกอบด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาของทีม และนิสิตชั้นปีที่3 และ 4 อีก 15 คน นำโดยหัวหน้าทีมคือ นายกานต์ กาญจนภาส นิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิศวกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายกานต์ กล่าวว่า ก่อนที่จะเดินทางไปแข่งขันครั้งนี้
ทางทีมได้มีการเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี โดยทีม “พลาสมา-ซี” (Plasma-Z) ได้พัฒนาหุ่นยนต์เตะฟุตบอลเพื่อลงแข่งขันในปีนี้
ด้วยการปรับเปลี่ยนมอเตอร์ เพื่อเพิ่มความเร่งของกำลังต้นให้สามารถยิงลูกบอลให้เร็วขึ้น และแรงกว่าเดิม รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการรับส่งลูกบอล และเพิ่มขีดความสามารถพิเศษให้หุ่นยิงลูกบอลโด่งได้แม่นยำอีกด้วย ขณะที่ด้านคอมพิวเตอร์ ได้มีการพัฒนารูปแบบเกมส์
เทคนิคให้เสมือนกับคนเล่นจริง ลดความยุ่งยากและซับซ้อนลง นอกจากนั้นก็เป็นการสร้างทีมว่า ทำอย่างไรในการรวมคนสิบกว่าคนให้ทำงานร่วมกันให้ได้ ซึ่งอันนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด
สำหรับในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2007 ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบ การมองเห็น (อัตโนมัติหรือควบคุมแบบไร้สายด้วยคอมพิวเตอร์) ขนาดเล็กทีมละ 5 ตัว เพื่อแข่งขันฟุตบอลซึ่งมีเวลาทั้งหมด 30 นาที แบ่งเป็นครึ่งแรก 15 นาที และครึ่งหลัง 15 นาที ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ
“ในการแข่งขันรอบแรกนั้น Plasma-Z ได้เป็นที่หนึ่งของสาย B โดยชนะทุกทีมด้วยสกอร์ 10 -0 ยกเว้นในแมตช์ที่เจอกับทีม ZJUNlict (จีน) ซึ่งชนะไปด้วยคะแนน 9 -1 หลังจากนั้นผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศกับ CMDragons (CMU, สหรัฐ) แชมป์โลกปีที่แล้วด้วยการชนะผ่านทีม B-Smart (เยอรมัน) และชนะทีม RoboDragons (ญี่ปุ่น) ด้วยสกอร์ 6 -0 และการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ตอนแรก Plasma-Z ตาม CMUDragons 1:5 เราได้ปรับแผนจนยิงไล่มาเรื่อยๆ จนก่อนหมดเวลาเราตีเสมอได้ 5 :5 ก่อนหมดเวลา จึงทำให้ต้องต่อเวลา หลังจากต่อเวลาแล้ว CMUDragons นำไปอีกหนึ่งลูก และเราก็ตามมาตีเสมออีก จนต้องมาตัดสินด้วยลูกโทษ เสมอ 6 :6 ในที่สุดจึงต้อง ยิงจุดโทษ แพ้ไป 7 :9 และการแข่งขันในนัดนี้ได้รับคำชมเชยว่า เป็นการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของ SSL อีกด้วย” สมาชิกในทีมกล่าว
ด้านความประทับใจสมาชิกทุกคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกประทับใจในความประสบผลสำเร็จที่ได้ทุ่มเทมากว่า 6 เดือน ได้รับความรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ จากทั่วทุกมุมโลก มีความผูกพันกับเพื่อนร่วมทีมมากขึ้น ในเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้แม้วัสดุส่วนใหญ่เป็นของในประเทศก็สามารถแข่งกับนานาชาติได้
ทั้งระบบฮาร์ดแวร์ที่เด็กไทยทำก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างชาติ นอกเหนือจากนั้นรุ่นพี่เองยังสามารถถ่ายทอดความรู้ในด้านต่างๆ ให้กับรุ่นน้องที่เข้ามาได้อย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่ามีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถซึ่งแต่ละคนก็รู้จักดึงมาใช้ได้อย่างดี ทั้งนี้เป็นความพยายามทุ่มเท ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยใช้ความฝันเดียวกันไปสู่จุดหมายซึ่งถือว่าทีมได้ก้าวไปถึงจุดนั้นแล้ว
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาของทีม กล่าวเสริมว่า เรามีทีมที่ทำหุ่นยนต์ในระดับปริญญาตรีที่เก่งที่สุดในโลก ทีมอื่นๆ ที่เข้าแข่งขันมีทั้งระดับปริญญาโท ปริญญาเอก คณะอาจารย์และเป็นคนหน้าเดิม ทีมเดิม ส่วนข้อดีของเรา ก็คือ สามารถพัฒนาศักยภาพของทีมให้เก่งขึ้นทุกปี และมีสมาชิกใหม่เข้าร่วม ย่อมแสดงให้เห็นว่าเรามีการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่มาโดยตลอด รวมทั้งการมีกิจกรรมชมรม “ชมรมนักประดิษฐ์วิศวกรรม” ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถทำให้เด็กมารวมตัวกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผลตอบแทนใดๆ เพราะทุกคนทำกันด้วยใจรักทั้งสิ้น ประการสำคัญสมาชิกทุกคนยังรักษาผลการเรียนที่ดีในขณะที่ทำกิจกรรมนี้ดังกล่าวไปด้วย อย่างไรก็ตาม เรายังได้รับสนับสนุนทั้งจากคณะวิศวะ จุฬาฯ เอง แล้วก็องค์กรภายนอกหลายๆ ที่ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณ จึงทำให้มีกำลังใจว่าปีหน้าจะนำตำแหน่งแชมป์กลับมาให้ได้อย่างแน่นอน”
ขณะที่ ศาสตราจารย์.ดร.ดิเรก ลาวัลย์ศิริ คณบดีคณะวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวว่า ทางสถาบันมีนโยบายในการสนับสนุนนิสิตในทุกคณะ ทุกด้าน เพื่อให้สามารถนำความรู้พัฒนาสู่การประดิษฐ์จริง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ในประเทศ ตลอดจนงานวิจัย ค้นคว้า เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้นำมาพัฒนาสังคมและประเทศ พร้อมด้วยการสนับสนุนให้นิสิตก้าวสู่เวทีนานาชาติในด้านต่างๆ ต่อไปในอนาคต
“มีความรู้สึกยินดีในเกียรติคุณของเหล่าบรรดานักศึกษา และอาจารย์ ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ได้ติดต่อมาเพื่อให้ทีม “พลาสมา-ซี” ทำรถเข็นเพื่อใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ให้สามารถวิ่งตามคนซื้อไปได้ตลอดการเดิน เลือกซื้อสินค้า โดยสามารถหลบผู้คนที่เดินผ่านมา หรือว่ารถเข็นคันอื่นๆ ได้ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเด็กไทย ที่สามารถนำความรู้จากกิจกรรมนี้ไปปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม หรือธุรกิจต่างๆ ด้วยการทำงานกันเป็นทีม เป็นเครื่องพิสูจน์ ได้ว่าคนไทยสามารถใช้ศักยภาพของตนมาสู่การทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ” คณบดีคณะวิศวะ จุฬาฯ กล่าว
สำหรับก้าวต่อไป “ทีมพลาสมา-ซี” เริ่มแล้วด้วยการเฟ้นหาอุปกรณ์ เพื่อมาซ่อมแซมพัฒนา เพื่อให้ได้หุ่นยนต์ที่ดีที่สุด พร้อมๆ กันนั้นยังเปิดโอกาสรับคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาเรียนรู้ ได้พัฒนาศักยภาพของบุคคลให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้มีโอกาสนำความคิดกำลังมาใช้อย่างถูกต้อง และได้แสดงฝีมือในระดับนานาชาติต่อๆไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2218 6337
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit