กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ทีคิวพีอาร์
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ “รวมพลคนข้อใหม่”[1] โครงการสัมมนาสำหรับผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อทียม การก่อตั้งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้เข้าใจและได้รับความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับข้อเทียมและเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยกับหน่วยงานผู้ให้การรักษาของคณะแพทยศาสตร์ฯ โครงการดังกล่าวฯ ได้จัดขึ้นในวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมมิตรภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในการประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ ศ. นพ. พลศักดิ์ จีระวิบรูณวรรณ ศ. นพ. วีระชัย โควสุวรรณ ผศ. ปณิธิ หงศ์ประภาส และรศ. นลินทิพย์ ตำนานทอง ซึ่งทั้งสี่ท่านอยู่ในสังกัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ. นพ. พลศักดิ์ จีระวิบรูณวรรณ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “โรคข้อเสื่อมเกิดจากความเสื่อมสภาพของข้อเนื่องจากการใช้งาน กระดูกอ่อนที่ผิวข้อมีการเสื่อมสภาพอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง โดยสาเหตุที่แท้จริงยังไม่มีใครทราบชัดเจน ซึ่งโรคข้อเสื่อมจะแสดงอาการเหล่านี้ คือ มีอาการปวดข้อ มีเสียงดังในข้อ ข้อฝืดขัด มีการบิดเบี้ยวของข้อ ข้อใช้งานไม่ได้เต็มที่ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเสื่อมได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงจะมีความเสี่ยมมากกว่าผู้ชาย ความพิการแต่กำเนิดซึ่งผู้ป่วยมีการบิดเบี้ยวของข้อแต่กำเนิดทำให้แนวลงน้ำหนักผิดปกติ ก่อให้เกิดโรคข้อเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เคยประสบอุบัติเหตุและมีอาการบาดเจ็บที่ข้อ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดี ก็อาจจะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของข้ออย่างช้าๆ”
ศ.นพ. วีรชัย โควสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ และรักษาการแทนหัวหน้าภาควิชา ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “หลังจากได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเพื่อผลการรักษาระยะยาวที่ดี ผู้ป่วยควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง โดยพยายามปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และไม่ควรปล่อยให้ฟันผุ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนานๆ และไม่ควรปล่อยให้ท้องเสีย ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ซึ่งแพทย์จะให้ยาป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดและไม่ลุกลามไปยังบริเวณข้อกระดูกที่เคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม”
ผศ พญ. ปณิธิ หงส์ประภาส ผู้เชี่ยวชาญสาขาโภชนวิทยาคลินิค ภาควิชา อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “การควบคุมน้ำหนักก็มีผลต่อโรคข้อเสื่อม ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เช่นรับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขัดขาว ดื่มนมขาดมันเนยแทนนมธรรมดา ทานผักและผลไม้ที่มีกากใยและรสชาดไม่หวานแทนขนมหวานและเบเกอรี่ ทานเนื้อสัตว์ติดมันให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด และหวานจัด ให้เลือกรับประทานอาหารนึ่ง ตุ๋น อบ ย่าง แทนอาหารประเภทผัด ทอด และแกงกระทิ ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และงดดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์”
รศ.พญ. นลินทิพย์ ตำนานทอง ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้คำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสมว่า “หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กีฬาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมคือกีฬาประเภทเดินเร็ว ลีลาศ ว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่ควรหลีกเลี่ยงคือกีฬาประเภทกระโดด หรือเต้น เช่น การตีเทนนิส การวิ่ง การเต้นแอโรบิค”
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อตะโพกเทียมที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ปีละประมาณ 90-100 คน เนื่องจากโรคข้อตะโพกหรือข้อเข่าเสื่อม ก่อให้เกิดอาการปวดที่ข้อ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินหรือทำงานได้ตามปกติ นับตั้งแต่ปี พ.ศ 2535 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อตะโพกเทียมที่โรงพยาบาลศรีนครินท์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นจำนวนมากกว่า 300 ราย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ต้องใช้ข้อเทียมไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ข้อเทียมดังกล่าวมีอายุการใช้งานที่จำกัด โดยทั่วไปจะสามารถใช้งานได้มากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโดยตรงและเทคนิคการทำผ่าตัด เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมและเป็นการเฉลิมพระเกียรติการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้จัดสัมมนาดังกล่าวขึ้น ยังประโยชน์ให้ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียม ได้เข้าใจวิธีดูแลสุขภาพและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการชำรุดของข้อเทียม ซึ่งสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเทียมให้ยาวนานยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียด หรือต้องการภาพที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่:
คุณฤทัยวรรณ ตันวงษ์วาน
บริษัท ทีคิวพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2260-5820 ต่อ 114 โทรสาร. 0-2260-5847-8
อีเมล์ [email protected]
หรือ คุณสิริรัตน์ จันทวงษ์วาณิชย์
บริษัท ซิมเมอร์ เมดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2638-1900 ext. 1924
อีเมล์ [email protected]