สปส.จับมือ สปสช.และสมาคมข้าราชการฯ ร่วมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

23 Aug 2006

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สปส.

สำนักงานประกันสังคม (สปส.)จับมือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)และสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย มุ่งส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชน ผู้ประกันตน ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค และข้าราชการ จากผลสำรวจสปส.พบโรคยอดฮิตผู้ประกันตน เบาหวาน ความดัน ไขมันในหลอดเลือดสูง ฯลฯ

บ่ายวันนี้ (23 สิงหาคม 2549) ดร.ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วย นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายจาดุร อภิชาตบุตร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อุปนายกสมาคมฯรักษาการนายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามข้อตกลงการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2546-2548)มีผู้ประกันตนไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลกว่า 64 ล้านราย สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนแล้วทั้งสิ้นจำนวน 37,069.78.ล้านบาท จากการสำรวจโรคเรื้อรังที่พบในกลุ่มผู้ประกันตน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในหลอดเลือดสูง ทั้งนี้จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 49 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยสูงถึง 9,996,880 ราย และสปส.ได้จ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้วถึง 7,340.32 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนใช้มากที่สุดในระบบประกันสังคม ในจุดนี้สำนักงานประกันสังคมได้เห็นความสำคัญของการป้องกันโรคซึ่งนอกจากจะจัดบริการทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกันตนแล้ว สปส.ยังมีโครงการต่างๆในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคและเผยแพร่ความรู้ทั้งด้านประกันสังคมและด้านสุขภาพอนามัยเพื่อให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพที่ดีและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการโรงพยาบาลในดวงใจ โครงการสร้างเสริมสุขภาพคนทำงานในเขตชุมชนเมือง เป็นต้น

จากความร่วมมือกันในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับผู้ประกันตน และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวโดยใช้กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ 4 ประการคือ การตรวจคัดกรองความเสี่ยง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับฝากครรภ์และการดูแลหลังคลอดกรณีผู้ประกันตนส่งเงินไม่ครบ 7 เดือน และการวางแผนครอบครัว โดยสปส.จะมีบทบาทในการจัดระบบเพื่อสนับสนุนข้อมูลจำนวนสถานประกอบการ/จำนวนผู้ประกันตนในการให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้ประกันตน รวมทั้งร่วมเป็นกรรมการในพื้นที่เพื่อดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพฯ ด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th