โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยโดยใช้คอมพิวเตอร์นำร่องชนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า"

27 Jun 2006

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์

นวัตกรรมสมบูรณ์แบบที่ให้คุณประโยชน์นานัปการแก่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทยทางด้านออร์โธปิดิกส์ ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย" ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery for Total Knee Arthroplasty – MIS TKA)" กับ "คอมพิวเตอร์นำร่องชนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Computer Assisted Solutions – CAS EM)" โดย ศ.นพ. อัลเฟรด เทรีย จากประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ริเริ่มในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวิธีใหม่นี้ ร่วมกับ ศ.นพ. พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์ และรศ.นพ. อารี ตนาวลี จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้สาธิตการผ่าตัดให้แก่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความสนใจจากทั่วประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2549 ณ อาคารคัคณางค์ ชั้น 3 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (MIS TKA) เป็นวิธีผ่าตัดล่าสุดในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งต่างจากการผ่าตัดวิธีดั้งเดิม คือแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กลง จากเดิมแพทย์ต้องเปิดปากแผลยาวประมาณ 8-10 นิ้ว แต่วิธีใหม่จะทำให้แผลผ่าตัดยาวเพียง 4-6 นิ้ว ซึ่งกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อเข่าจะบอบช้ำน้อย เพราะเลี่ยงการผ่าผ่านกล้ามเนื้อ และผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแผลจากการผ่าตัดน้อยลง ซึ่งจะเสียเลือดจากการผ่าตัดน้อย รวมทั้งแผลเป็นจะมีขนาดเล็กลงอีกด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลสั้นลง และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วขึ้น

ส่วนเทคโนโลยี ”คอมพิวเตอร์นำร่องช่วยผ่าตัดชนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (CAS EM)” เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งซึ่งช่วยให้แพทย์ตรวจสอบจุดอ้างอิงของกระดูกในข้อตามกายวิภาค ก่อนที่จะตัดหรือเจียรกระดูกเพื่อให้ได้ขนาดมุมตัดและความหนาของชิ้นกระดูกที่เสื่อมออกอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาคอมพิวเตอร์นำร่องชนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ให้ส่งข้อมูลทางกายวิภาคของข้อเข่าสู่คอมพิวเตอร์ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้อุปกรณ์เคลื่อนผ่านบริเวณผิวหน้าของข้อเพียงชั่วครู่ ก็สามารถส่งข้อมูลรูปร่างของกระดูกเข้าสู่คอมพิวเตอร์ได้โดยง่าย แล้วสร้างภาพข้อจำลองของผู้ป่วยขึ้นมาได้ทันที แพยท์สามารถฝังหมุดส่งสัญญาณที่มีขนาดเล็กลงไปในกระดูก แทนการฝังเสาส่งสัญญาณขนาดใหญ่แบบเดิม เพื่อช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิผลที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำทั้งสองเทคโนโลยีใหม่ คือ "การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (MIS TKA)" กับ “คอมพิวเตอร์นำร่องชนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” มาใช้ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ เรียกว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยโดยใช้คอมพิวเตอร์นำร่องชนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า”

ศ.นพ. พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่นำทั้งสองเทคโนโลยีมาผนวกเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัด และมั่นใจว่าทั้งผู้ป่วยและแพทย์จะได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความแม่นยำให้กับการผ่าตัดวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถเห็นภาพระหว่างการผ่าตัดที่แม่นยำได้ทันที เพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการตัดหรือเจียรกระดูก และยังช่วยในเรื่องการวางตำแหน่งของข้อเทียม ลดอัตราเสี่ยงที่จะต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไข และยังลดการตัดหรือเจียรกระดูกที่ไม่จำเป็น ทั้งยังสามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวของข้อได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น”

รองศาสตราจารย์นายแพทย์อารี ตนาวลี อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “เรายินดีมากที่ได้ต้อนรับผู้คิดค้นนวัตกรรม MIS TKA จากสหรัฐอเมริกา ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้นำเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาสู่ประเทศไทย ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ทั้งแก่ผู้ป่วยและแพทย์ด้านออร์โธปิดิกส์”

สอบถามรายละเอียด หรือต้องการภาพที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่:

ฤทัยวรรณ ตันวงษ์วาน / ธนิตศักดิ์ พิทักษ์สินากร

เลขานุการศาสตราจารย์นายแพทย์ พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์

ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์

หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์

บริษัท โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โทร 0-2260-5820 ต่อ 114

โทร. 0-2256-4510

โทรสาร 0-2260-5847-8

Email: [email protected]

อีเมล์ [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net