ธนาคารไทยเผชิญกับความท้าทายเพิ่มขึ้นในปี 2549

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ให้ความเห็นถึงผลประกอบการปี 2548 ของธนาคารไทยซึ่งโดยภาพรวมแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธนาคารส่วนใหญ่ และถูกสะท้อนโดยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของภาคธุรกิจธนาคารโดยฟิทช์ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ฟิทช์กล่าวว่าสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่มีความท้าทายมากขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นรวมทั้งความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้บริโภคและภาคธุรกิจส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2549 ภาคธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการธุรกิจธนาคารรายใหม่เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากที่สุดเนื่องมาจากแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำลง แรงกดดันทางด้านต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ และการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ในปีหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอาจส่งผลทางลบต่อผลการดำเนินงานที่ได้มีการปรับตัวดีขึ้นของภาคธุรกิจธนาคารและบริษัทเงินทุน ฟิทช์เชื่อว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาวยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลน่าจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมการจัดหาเงินทุนโดยภาคธุรกิจ และน่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้และผลกำไรของธนาคาร ผลกระทบในเชิงลบของต้นทุนการจัดหาเงินทุนที่สูงขึ้นต่ออัตรากำไรน่าจะถูกลดทอนลงได้ในระดับหนึ่งโดยผลตอบแทนและการเติบโตที่สูงขึ้นของสินเชื่อ แม้ว่าแรงกดดันจากภาวะการแข่งขันอาจจะยังคงจำกัดการปรับเพิ่มของอัตรากำไร ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคธุรกิจธนาคารได้ลดลงสู่ระดับประมาณ 10% เนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้และการตัดบัญชีหนี้สูญ สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจก่อให้เกิดการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารไทยที่ยังอยู่ในระดับที่สูง และเมื่อประกอบกับสภาพคล่องซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะตึงตัวขึ้น แผนการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากน่าจะส่งผลให้ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อและค่าธรรมเนียมการประกันเงินฝากของธนาคารที่อ่อนแอเพิ่มสูงขึ้นอีก ในขณะที่ธนาคารที่แข็งแกร่งน่าจะได้รับประโยชน์ ฟิทช์เล็งเห็นว่าการประกันเงินฝากที่มีการจำกัดวงเงินประกันน่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจธนาคารไทยในระยะยาวโดยช่วยเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้ตลาด และเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารไทยต้องปรับเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินของตนเอง การประกาศผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2548 ชี้ให้เห็นว่ากำไรสุทธิรวมของธนาคารไทยขนาดใหญ่ 6 ธนาคารและธนาคารลูกของธนาคารต่างประเทศ 2 ธนาคาร ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งที่ระดับ 15% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า การปรับตัวที่ดีขึ้นของผลกำไรเนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างแข็งแกร่ง รายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการกันสำรองหนี้สูญและต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง ผลกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ได้ช่วยสนับสนุนและฟื้นฟูฐานะเงินกองทุนของธนาคาร ในบรรดาธนาคารไทยขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ได้ประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของรายได้ ผลกำไร และคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปองค์กรที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และเครือข่ายลูกค้าระดับกลางและลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่งกว่า กำไรสุทธิเมื่อไม่นับรวมรายการพิเศษของ SCB เพิ่มขึ้นประมาณ 40% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2548 ผลการดำเนินงานหลักของ KBANK ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยกำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยกำไรสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 33.9% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2548 เนื่องมาจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ต่ำลง ผลกำไรของ BBL น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2549 จากการจัดหาเงินทุนใหม่เพื่อแทนที่หุ้นกู้ควบหุ้นบุริมสิทธิที่เหลืออยู่ในปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 และการแก้ปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย ในขณะที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศผลการดำเนินงานหลักที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในงวด 9 เดือนแรกของปี 2548 โดยกำไรสุทธิเมื่อไม่นับรวมรายการพิเศษเพิ่มขึ้น 31% ฟิทช์กล่าวว่า KTB ได้มีการชะลอการปล่อยสินเชื่อหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารทำการจัดชั้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2547 ซึ่งเมื่อประกอบกับการการจัดโครงสร้างการบริหารใหม่และการควบคุมความเสี่ยงที่เข้มงวดขึ้น น่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลการดำเนินงานได้ ผลการดำเนินงานของธนาคารทหารไทย (TMB) ได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) และธนาคาร DBS ไทยทนุ (DTDB) อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานหลักของธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับเมื่อการดำเนินงานของธนาคารเริ่มมีเสถียรภาพหลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น ผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักจากการเติบโตของสินเชื่อ แต่ธนาคารยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจจะต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติม เนื่องมาจากระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) ได้ประกาศรายได้ ผลกำไร และคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อยที่สูงอาจส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ ธนาคารเอเชีย (BOA) ได้รายงานผลกำไรที่อ่อนแอลงในปี 2548 เนื่องจากการดำเนินงานของธนาคารได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจาก ABN AMRO เป็น ธนาคาร United Overseas Bank (UOB) และจากการควบรวมกิจการระหว่าง BOA และธนาคารยูโอบี รัตนสิน (UOBR) ที่ดำเนินการอยู่และคาดว่าจะเสร็จสิ้น ณ สิ้นปี 2548 อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2549 ติดต่อ ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759 David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963 การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 71.4% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ ซึ่งถือหุ้น 99.9% โดยธนาคารทิสโก้ ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--

ข่าวฟิทช์ เรทติ้งส์+ธนาคารส่วนใหญ่วันนี้

SCAP สุดปลื้ม! ฟิทช์จัดอันดับเครดิต 'A-(tha)' สะท้อนฐานะการเงินมั่นคง เพิ่มศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำ ช่วยเสริมแกร่งกลุ่ม SAWAD

บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) หรือ SCAP ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยครบวงจร ประกาศข่าวดี! ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) แก่ SCAP ที่ระดับ 'A-(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F2(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต "มีเสถียรภาพ" (Stable Outlook) ระดับเดียวกับอันดับเครดิตของกลุ่มศรีสวัสดิ์ (SAWAD) สะท้อนโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งของกลุ่ม และเครือข่ายการดำเนินงานในธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริ

ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LHS ที่ 'AA(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ...

ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจก.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative; RWN) ของอันดับเครดิต บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ท...

ฟิทช์คงอันดับเครดิต บริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด ที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด หรือ ICBCTL ที่ 'AAA(tha)' พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตระยะสั้นที่ 'F1+(tha)' โดยมีแนว...