พม.จับมือสถาบันครอบครัวรักลูก...สร้างครอบครัวเข้มแข็ง สู่ชุมชนเข้มแข็ง

03 Aug 2005

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--พม.

ปลัด พม.หนุนโครงการครอบครัวเข้มแข็งเป็นโครงการนำร่อง ระบุ ปัญหาสังคมเริ่มจากปัญหาครอบครัว การแก้ปัญหาต้องใช้ครอบครัวเป็นวัคซีนป้องกัน โดยสนับสนุนให้คนทุกวัยอยู่ร่วมกัน เรียนรู้แลกเปลี่ยนตลอดชีวิต สร้างความสัมพันธ์อบอุ่น ผลักดันให้ อบต. อบจ.เข้าแก้ปัญหาระดับชุมชน โดยทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันต่อเนื่องจริงจัง

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันครอบครัวรักลูก พร้อมด้วยผู้อำนวยการโครงการครอบครัวเข้มแข็ง และคณะ ได้เข้าพบนายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ณ ห้องประชุม กระทรวงฯ อาคารซันทาวเวอร์ เพื่อหารือถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาครอบครัวในสังคมไทย

นางสุภาวดี กล่าวถึง หลักการทำงานของโครงการครอบครัวเข้มแข็ง ว่าเน้นเรื่องการเรียนรู้ของครอบครัว เพราะถ้าพ่อแม่เข้าใจ มีหลักคิด จะสามารถดูแลเรื่องอื่นๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเลี้ยงดูลูก ฯลฯ โดยโครงการฯใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่เชื่อว่าประสบการณ์ของทุกคนมีค่า หลากหลาย จึงได้หนุนให้ชุมชนในพื้นที่นำร่องจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

จากการทำงานผ่านไป 1 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หลังจากที่โครงการฯได้ลงไปในพื้นที่ อบต.หลายชุมชนเข้าใจ,เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และสนับสนุนงานครอบครัวเข้าไปอยู่ในแผนชุมชน มีอบต. ถึง20-25% ในพื้นที่ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณด้วย

โครงการฯใช้กระบวนงาน 3 กระบวน สร้างการเรียนรู้ให้ครอบครัวในพื้นที่ 8 จังหวัดนำร่อง คือ งานเวที งานสื่อ และงานวิจัยชุมชน แต่ละจังหวัดมีคณะทำงานจังหวัดเป็นทีมที่ช่วยดูแล ทางสถาบันครอบครัวรักลูกทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลวิชาการ การฝึกอบรม โดยทิศทางถูกกำกับจากคณะทำงานยุทธศาสตร์ครอบครัวเข้มแข็ง ซึ่งแต่ละจังหวัดส่งตัวแทน 2 ท่าน เข้ามาร่วมประชุมกับสถาบันฯทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง

นายวัลลภ กล่าวว่า ครอบครัวเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหา ขณะเดียวกัน ครอบครัวก็เป็นสถานที่ที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น ครอบครัวจึงเป็นทั้งวัคซีนและภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดปัญหา และเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหา

เมื่อพูดถึงครอบครัว งานทุกส่วนมักเริ่มต้นไปที่ เด็กหรือลูก แต่ หลักในการทำงานเรื่องครอบครัวของกระทรวงฯ เน้นว่าอย่าดูเฉพาะที่ตัวเด็กเท่านั้น จะต้องดูเลยไปถึงคนที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่า ตายาย ซึ่งจะทำให้นำไปสู่การดูแล แก้ไขปัญหาครอบครัวทั้งระบบ

ปลัดกระทรวงฯ กล่าวต่อว่า

เรื่องครอบครัวที่ต้องให้ความสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้คน 3 วัย มีพ่อแม่ ลูก และปู่ย่าตายาย มาอยู่ร่วมกันในบ้านให้ได้ เพราะพบว่าครอบครัวที่มีคน 3 วัยมาอยู่รวมกัน มีการเรียนรู้กัน มักจะไม่เกิดปัญหาครอบครัว เนื่องจากจะดูแลและป้องกันกันเอง ต้องไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ ไม่มองเด็กเป็นกลุ่มคนน่ารำคาญ

“กระทรวงฯมีสโลแกนว่า ‘ผู้สูงวัยคือหลักชัยของครอบครัว’ เราจะทำอย่างไรให้คนหนุ่มสาวเห็นว่า การมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านจะไม่ทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว เพราะปู่ย่าตายายท่านมีประสบการณ์ชีวิตมาก ส่วนเด็กๆ ก็เป็นวัยที่ชอบการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้คน 3 วัย มาอยู่ในบ้านเดียวกัน ได้มีกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนทุกวัยต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงเวลา และสถานที่” นายวัลลภกล่าว

ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวอีกว่า การเรียนนั้นไม่ได้หมายถึงห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ที่ไหนๆ ก็สามารถเป็นห้องเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นลานวัด ศาลาในชุมชน อนามัย ก็สามารถเรียนได้ กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ จะทำให้เกิดการถ่ายทอดซึ่งกันและกัน

สำหรับในชุมชนต้องมองสถานการณ์ มองปัญหาในชุมชนเป็นหลักก่อน สิ่งที่จะต้องดูก็คือเรื่องทุนทางสังคมของชุมชนนั้นๆ ว่ามีอะไรอยู่บ้าง เพราะนอกจากประเพณี วัฒนธรรม แล้ว ในชุมชนยังมีทุนอื่นอีกมากมาย แม้แต่ตัวแกนนำโครงการครอบครัวเข้มแข็ง ก็ถือว่าเป็นทุนทางสังคมด้วยเช่นกัน ทำอย่างไรที่จะสร้างทุนเหล่านี้ให้ยั่งยืน และมีการถ่ายทอดต่อไปยังคนหลายๆ รุ่น โดยกระจายเป็นลักษณะใยแมงมุม ทำให้คนในชุมชน ในครอบครัว เข้าใจว่า เขามีครูอยู่ที่บ้าน ครู ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น

นายวัลลภ ยังกล่าวถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ.ว่าควรจะเป็นหลักในการแก้ปัญหาครอบครัวในชุมชน โดยทำความเข้าใจปัญหาร่วมกัน และร่วมมือแก้ไข การทำงานเรื่องครอบครัวนี้ แม้เงินเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้งานเดินได้หรือไม่ได้ ปัจจัยของความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและเอกชน ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

ดังนั้น พมจ.จะประสานความร่วมมือให้โครงการครอบครัวเข้มแข็ง ทั้ง 8 จังหวัด เป็นโครงการนำร่องของกระทรวงฯ ปลัดฯระบุว่า จะจัดให้มีการวางกรอบการทำงานร่วมกัน เอาทุนที่ทุกคนมี มาหาแนวทางการทำงานร่วมกัน แล้วนำไปลงมือปฏิบัติ ผลักดันงานเรื่องครอบครัวให้เดินหน้าต่อไป โดยไม่คำนึงถึงช่วงเวลา แต่ให้คำนึงถึงภารกิจ และกิจกรรมเป็นตัวตั้ง จนกว่าจะเห็นผล เห็นครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลง หรือทำให้บรรลุเป้าหมายที่เราวางร่วมกันไว้อย่างต่อเนื่อง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ;

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการครอบครัวเข้มแข็ง

โสภิดา ธนสุนทรกูร(แบม)

โทรศัพท์ 0 2913 7555 ต่อ 4640 มือถือ 0 1285 2692

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--