กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--วทท.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุม วทท.31 ณ มทส.โคราช พระราชทานรางวัลแก่นักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ผู้บริหาร มทส.น้อมเกล้าถวายโคโคลนนิง พร้อมเผยกำลังพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดในหนูลิงและมนุษย์ได้ผลน่าพอใจมาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 31 (วทท.31) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานการชุมนุมของนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ มีการบรรยายพิเศษของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการแสดงนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นโลกไร้พรมแดน มนุษย์สามารถรับรู้เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ได้พร้อมกันทั่วโลก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเผยแพร่ไปทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว และในปัจจุบันมีความซับซ้อน การค้นคว้าวิจัยต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ระดับสูง จึงต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการค้นคว้าวิจัย โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์และรรมชาติ
"การพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความชำนาญด้านนี้ หลักสำคัญคือต้องส่งเสริมการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นต้นๆ เพราะคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง การประชุมครั้งนี้มีนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่างๆ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนผลงานค้นคว้าวิจัยและข้อคิดเห็น อันจะก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ อันจะนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวไกล เป็นเครื่องมือสร้างเสริมความเจริญให้ประเทศชาติต่อไป"
ทั้งนี้พระองค์ยังทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานรางวัลแก่นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2548 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเภทบุคคลคือ รศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงาน “โลหะผสมดามกระดูกสันหลัง” และในประเภททีมคือ กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีฟิล์มบรรจุภัณฑ์แอคทีฟสำหรับยืดอายุผักและผลไม้ซึ่งประกอบด้วย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล และ ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ ผศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับผลงาน “เทคโนโลยีฟิล์มบรรจุภัณฑ์แอคทีฟสำหรับยืดอายุผักและผลไม้สด” สำหรับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2548 พระองค์ทรงพระราชทานรางวัลให้แก่ รศ.ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจากผลงานการพัฒนายางสกิมและสารที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจจากของเสียที่ได้จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางธรรมชาติ
ด้าน ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้กราบบังคมทูลรายงานว่าสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนดลยีแห่งประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้นับเป็นโอกาสพิเศษที่การประชุมวิชาการฯ ได้ร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย เนื่องในวันเทคโนโลยีไทยวันที่ 19 ต.ค. และร่วมเทิดพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา และศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชันษาครบ 4 รอบ
“พร้อมกันนี้ในการประชุมวิชาการยังได้เรียนเชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมาเป็นผู้บรรยายพิเศษ 2 ท่านคือ ศ.ซิดนีย เบรนเนอร์ (Prof.Sydney Brenner) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2545 และ ศ.ยุน ที ลี (Prof.Yuan T. Lee) จาก Academia Sinica แห่งไต้หวัน เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 2529 พร้อมทั้ง ศ.อนิรุทธ์ ดี พาเทล (Prof.Aniruddh D.Patel) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยซาน ดิเอโก (San Diego) ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังได้เรียนเชิญนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าอีหลายท่าน รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2548 มาร่วมเป็นผู้บรรยายในการประชุมครั้งนี้ด้วย”
ในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้บริหาร มทส. ยังได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดโครงการสวนเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมทอดพระเนตรสวนเกษตรอินทรีย์ แปลงนาปลูกข้าวโดยใช้แหนแดง และการปลูกพืชผักผสมผสานตามแนวพระราชดำริเกษตรพอเพียง พร้อมกันนี้ผู้บริหาร มทส.ได้น้อมเกล้าถวายลูกโคโคลนนิงเพศเมียอายุ 10 เดือน ผลงานของ ดร.รังสรรค์ พลพ่าย จากสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้วิจัยการโคลนนิงได้โดยใช้เซลล์ต้นแบบจากใบหูแม่วัวนมพันธุ์ดีของฟาร์มมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิดได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดในหนู ลิงและมนุษย์ ซึ่งให้ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจมาก คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ในมนุษย์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit