ซิสโก้ & ดาต้าคร้าฟท์วางระบบเครือข่ายให้ศูนย์อี-เลิร์นนิ่ง แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

28 Jul 2004

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง

ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) ผนึกกำลังดาต้าคร้าฟท์ (ประเทศไทย) วางระบบเครือข่ายความเร็วสูงให้แก่ศูนย์อี-เลิร์นนิ่งแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ภายในอาคารศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพื่อการเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศ

นายอัศวิน กังวลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ดาต้าคร้าฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการติดตั้งระบบเครือข่ายความเร็วสูงที่สามารถครอบคลุมการทำงานครบทั้งวงจรให้แก่ศูนย์อี-เลิร์นนิ่งภายในอาคารศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (Srisakdi Charmonman IT Building) ซึ่งเป็นอาคารขนาด 10 ชั้น และเป็นที่ตั้งวิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต ที่เริ่มเปิดสอนหลักสูตรผ่านการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และสามารถรองรับนักศึกษาได้ถึงหนึ่งแสนคนต่อปี

“ระบบเครือข่ายของซิสโก้ที่ได้รับการติดตั้งครั้งนี้ จะช่วยให้ระบบการเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งของทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีความทันสมัย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงและสามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติม

นายสมชาติ กัณหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดาต้าคร้าฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ระบบเครือข่ายที่ได้ติดตั้งให้กับศูนย์อี-เลิน์นนิ่งภายในอาคารศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศได้ครอบคลุมระบบการทำงานของทั้งสถาบัน ประกอบด้วยอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ของซิสโก้ อาทิ Cisco Catalyst LAN Switch จำนวนหลากหลายรุ่น ผนวกกับชุดอุปกรณ์ Cisco Wireless LAN ที่มีระดับความเร็วสูงแบบไร้สาย, อินเตอร์เน็ต เราเตอร์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และแอ็คเซส พอยน์ตแบบไร้สาย นอกจากนี้ ระบบเครือข่ายที่ได้ติดตั้งให้กับอาคารแห่งนี้ยังครอบคลุมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และระบบควบคุมการใช้งานของยูสเซอร์ โดยมีมูลค่ารวมทั้งระบบกว่า 40 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภายหลังการติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายและระบบต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางดาต้าคราฟท์ได้จัดตั้งทีมงานพิเศษเพื่อทำหน้าที่ดูแลระบบงานภายในอาคารศรีศักดิ์ จามรมาน ฯ ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ด้านซัพพอร์ตและวิศวรกรระบบมานั่งประจำอยู่ภายในอาคารฯ เพื่อคอยให้คำปรึกษาแก่ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นเวลาถึง 2 ปีเต็ม

นายสมชาติกล่าวอีกว่า “ระบบเครือข่ายที่เราติดตั้งให้กับศูนย์อี-เลิร์นนิ่งภายในอาคารศรีศักดิ์ จามรมานฯแห่งนี้ ถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มลูกค้ามหาวิทยาลัยที่ทางดาต้าคราฟท์เคยทำการติดตั้งให้ ด้วยมูลค่าของโครงการนี้ที่มากกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งระบบดังกล่าวยังเป็นโครงข่ายแกนหลักให้กับทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในการสร้างศูนย์อี-เลิร์นนิ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วย”

ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการและประธานผู้บริหารวิทยาลัยการศึกษาทางไกลทางอินเตอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า “อาคารศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ” แห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงกรุณาเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2545 และจะเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 สิงหาคม ศกนี้ อาคารแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร มีคอมพิวเตอร์กว่า 2,000 เครื่อง มีห้องประชุมทางไกลอินเตอร์เน็ตสำหรับประชุมกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มีห้องอินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่จุเครื่องคอมพิวเตอร์ถึง 408 เครื่อง

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์คอมพิวเตอร์และศูนย์อินเตอร์เน็ทพร้อมไฟฟ้าสำรองทั้งแบบแบตเตอรี่และแบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา มีเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำหรับคนตาบอด คนตามัว คนหูหนวก และคนหูตึง มีห้องคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กเล็ก เด็กอัจฉริยะ และผู้สูงอายุ ทั้งยังเป็นที่ตั้งสมาคมวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น สมาคมอินเตอร์เน็ต สมาคมอินเตอร์เน็ทนานาชาติสาขาประเทศไทย สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สาขาประเทศไทย สมาคมอินเทอร์เน็ตนานาชาติสาขาประเทศไทย เป็นต้น มีไซเบอร์คาเฟ่ขนาด 1,000 ตารางเมตร โดยครึ่งหนึ่งถูกตกแต่งสไตล์ไทยและอีกครึ่งหนึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมัน สามารถให้ผู้สนใจมาร่วมสังสรรแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ มีห้องสมุดดิจิตอล ห้องประชุม ห้องถ่ายโทรทัศน์ 4 ห้อง และห้องอัดรายการวิทยุ 1 ห้อง ภายในอาคารมีวิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเตอร์เน็ต ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนจากทุกแห่งได้ศึกษาหาความรู้ได้ทุกเวลา

ภายในอาคารศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ อาทิ ศูนย์ข้อมูลคาทอลิก สถานีวิทยุอินเทอร์เน็ต ศูนย์บริการห้องสมุดดิจิตอล ศูนย์ข้อมูลหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์ข้อมูลด้านความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ศูนย์ทดสอบซอฟต์แวร์ ศูนย์ข้อมูลเกมส์คอมพิวเตอร์ ศูนย์ข้อมูลผลกระทบของคอมพิวเตอร์ต่อสังคม ศูนย์ข้อมูลวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ศูนย์ข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และศูนย์ข้อมูลรัฐบาลอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น

ประวัติความเป็นมาของอาคารศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ เริ่มต้นด้วย ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้มีโครงการก่อสร้างอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศมาหลายปีแล้ว เพราะอยากจะให้นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญทุกคนมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ความคิดริเริ่มในการก่อสร้างอาคารศรีศักดิ์ จามรมานมาจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ บราเดอร์ มาร์ติน ซึ่งท่านอยากให้นักศึกษาทุกคนมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ชื่อ “อาคารศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ” ได้มาจากความกรุณาของบราเดอร์ มาร์ตินได้ให้ใช้ชื่อเป็นที่ระลึกในการสร้างคุณงามความดีของ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน

เกี่ยวกับซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2537 เป็นสำนักงานตัวแทนของ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำทางด้านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตระดับโลก ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆของซิสโก้ ซีสเต็มส์ เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์โซลูชันอินเตอร์เน็ต ในการส่งข้อมูล ภาพ และเสียง สำหรับผู้ใช้ในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล องค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลแบบไร้พรมแดน อันจะทำให้อุปสรรคด้านเวลาและสถานที่หมดไป ข้อมูลและข่าวสารความเคลื่อนไหวของซิสโก้ ซีสเต็มส์ สามารถหาอ่านได้จาก http://www.cisco.com และข้อมูลความเคลื่อนไหวในประเทศไทย สามารถอ่านได้ที่ http://www.cisco.co.th เกี่ยวกับดาต้าคร้าฟท์ (ประเทศไทย)

บริษัท ดาต้าคร้าฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2532 เป็นสำนักงานสาขาของ บริษัท ดาต้าคร้าฟท์ เอเชีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวางระบบเครือข่าย และอีบิซิเนสระดับภูมิภาค บริษัทฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 จัดอยู่ในธุรกิจของการสร้างและพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตการวางระบบออนไลน์ และการเพิ่มมูลค่าแก่ระบบเครือข่ายให้แก่บรรดาผู้ให้บริการระบบสื่อสารและผู้ใช้ระดับองค์กรทั่วเอเชีย แปซิฟิค บริษัทฯ มีสำนักงานทั่วภูมิภาคกว่า 61 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง จีน อินเดีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเกาหลี ฯลฯ ดาต้าคร้าฟท์ยังเป็นสมาชิกในกลุ่มไดเมนชัน ดาต้า ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเครือข่ายและผู้ให้บริการ I-Commerce Networkและเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนอีกด้วย ข้อมูลความเกี่ยวกับดาต้าคร้าฟท์ เอเชีย สามารถอ่านได้ที่ http://www.datacraft-asia.com

เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดยคณะภารดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งถือกำเนิดมาจากการสถาปนาของนักบุญหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต เมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ 18 ในประเทศฝรั่งเศสและได้เข้ามาจัดการศึกษาระดับประถมและมัธยมในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2444 ได้เริ่มโครงการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ และต่อมาได้มีการสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2515 ใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ” หรือที่เรียกกันว่า “เอแบค” รายละเอียดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สามารถอ่านได้ที่ www.au.edu สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับอาคารศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถอ่านได้ที่ www.scBuilding.info และข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเตอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัฐ สามารถอ่านได้ที่ www.eLearning.au.edu

ประชาสัมพันธ์ข่าวโดย

บริษัท พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด

ณัฐภาดา สืบมา

โทรศัพท์: 0 2971 3711 โทรสาร: 0 2521 9030

อีเมล์: [email protected]จบ--

--อินโฟเควสท์ (นท)--