มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ประกาศผลผู้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่

14 Oct 2004

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร.วิโรจน์ ตันตราภรณ์ ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ได้ประกาศผลการสรรหานักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำ พ.ศ. 2547

ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต กล่าวว่า การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่พัฒนาไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี อาจมีประโยชน์ต่อชาวโลกโดยรวม แต่มีประโยชน์น้อยมากต่อความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของเงินสนับสนุนผลงานของผู้วิจัย ซึ่งในปัจจุบันแทบทั้งหมดเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาฯให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีกลไกส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังด้วย และเพื่อให้นักวิจัยและประชาการไทยตระหนักถึงความจำเป็นที่สำคัญยิ่งดังกล่าว มูลนิธิจึงได้จัดให้มีโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ตามรูปแบบของนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติต่อนักเทคโนโลยีที่มีผลงานดีเด่น ไม่ว่าจะเป็นนักเทคโนโลยีของรัฐหรือในภาคเอกชน

ผลการตัดสิน ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ได้รับเงินรางวัลเป็นจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นเป็นนักเทคโนโลยีจากภาคเอกชนไทย 2 ผลงาน โดยแบ่งรางวัลละ 500,000 บาท ได้แก่กลุ่มนักเทคโนโลยีดีเด่นบริษัทไทยออพติคอลกรุ้ป จำกัด (มหาชน) ผลงานคือการพัฒนากระบวนการผลิตเลนส์ไฮอิมแพคพลาสติก คุณภาพสูง ในราคาถูก สามารถ แข่งขันได้ในระดับโลกเป็นมูลค่าระดับพันล้านบาท ซึ่งเลนส์ประเภทนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถทนต่อแรงขูดขีดและแรงกระแทกสูง และอีก 1 รางวัลได้แก่ นายปิยะ จงวัฒนา จากบริษัทพัฒนากล จำกัด (มหาชน) กับผลงานการพัฒนาเครื่องจักรการผลิตน้ำแข็งหลอดและนมพลาสเจอร์ไรซ์ของประเทศไทย โดยนวัตกรรมจากภูมิปัญญาชาวไทย ซึ่งเป็นเครื่องแรกที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ ติดอันดับ 1 ใน 2 ของโลกอีกด้วย

สำหรับผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ มี 2 รางวัล ๆละ 100,000 บาท ได้แก่ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ผลงานเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาคที่นำมาพัฒนาอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ เช่น เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ,เครื่องตรวจวัดปริมาณสารต่าง ๆ ในเลือด และอีก 1 รางวัล ได้แก่ ผศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ที่มีผลงานด้านการถ่ายเทความร้อนจากมวลสารและการอบแห้งแบบทั่วไป ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาเป็นเครื่องอบแห้งกุ้งและเครื่องผสมอาหารสำหรับอุตสาหกรรม

นักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จะได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 เวลา 9.00-12.00 น. ณ อาคารอิมแพคคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วทท.)ครั้งที่ 30

ใช้ซีโอไลท์เปลี่ยนน้ำมันปาล์มเป็นเมทิลเอสเตอร์

น้ำมันปาล์มมีความหนืดสูง เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลโดยตรง แต่ถ้านำมาแปรรูปเป็นไบโอดีเซลโดยตรง จะช่วยลดงบประมาณได้จำนวนมากแล้วยังจะช่วยปรับปรุงมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของไทยไม่ให้ตกต่ำอีกด้วย

รศ.ดร.สุรินทร์ เหล่าสุขสถิตย์ ภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สจพ

.ชี้แจงว่า ปัจจุบันน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม คือหนึ่งในรูปแบบเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อระบบการคมนาคมขนส่งของประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดที่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป และไทยต้องพึ่งน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด จึงส่งผลให้ประเทศต้องแบกภาระการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศปีละหลายล้านบาท ทำให้เสียเปรียบดุลการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นการนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีอยู่ภายในประเทศมาแปรรูปเป็นน้ำมัน “ไบโอดีเซล” เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลบางส่วนจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะสามารถช่วยลดงบประมาณของชาติได้จำนวนมากแล้วยังช่วยปรับปรุงมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรของไทยไม่ให้ตกต่ำ และยังขยายผลถึงการนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นไบโอดีเซลได้อีกด้วย

“น้ำมันปาล์ม” เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ภายในประเทศ และราคาไม่สูงมากนัก เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ แต่จากการศึกษาพบว่า น้ำมันปาล์มมีความหนืดสูง เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม จึงทำให้มีความยากลำบากต่อการนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลโดยตรง แต่ถ้านำน้ำมันปาล์มมาทำให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลง โดยเปลี่ยนเป็นเมทิลเอสเตอร์ โดยกระบวนการทรานส์เอสเทอร์ริพิเคชั่น ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องความหนืดได้

จากการทดลองใช้ซีโอไลต์ที่ดูดซับกรดไนตริคเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทรานเอสเทอร์ริพิเคชั่นระหว่างนำมันปาล์มและเมทานอลในอัตรส่วน 1 : 3 โดยปริมาตรพบว่าได้ผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเตอร์จากการทดลองใช้ซีโอไลท์ 3 กรัม ดูดซับกรดไนตริกฯโมลาร์เป็นตัวเร่งปฏิกริยา เวลาในการทำปฏิกริยา 5.5 ช.ม. ให้ร้อยละการเกิดเมทิลเอสเตอร์สูงสุดเท่ากับ 37 นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ซีโอไลท์ให้ปริมาณมากขึ้นยังสามารถช่วยลดจำนวนครั้งในการล้างผลิตภัณฑ์ เนื่องจากซีโอไลท์สามารถดูดซับกรดได้บางส่วนอีกด้วย นี่เป็นแนวทางใหม่สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล รวมทั้งยังสามารถนำผลการวิจัยนี้ ไปเป็นข้อมูลสำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังทำให้น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นผลผลิตที่ทางการเกษตรที่มีมากของประเทศมีมูลค่าสูงขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญยิ่งคือผลิตภัณฑ์ที่สังเคราะห์ได้ สามารถนำไปใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ในอนาคต ที่จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนพลังงานของประเทศรวมทั้งโลกของเราด้วย

ท่านจะได้พบผลงานนี้ ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย--จบ--

--อินโฟเควสท์ (นท)--