กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ประกาศโครงการประกวดผลงานลีนุกซ์ (Linux Scholar Challenge) เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าแข่งขันชิงเครื่องเซิร์ฟเว่อร์ไอบีเอ็ม การประกวดมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้คุ้นเคยกับระบบปฎิบัติการลีนุกซ์ และชุมชนโอเพ่นซอร์ส ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาจะได้ลงมือปฎิบัติจริงกับลีนุกซ์และเทคโนโลยีของไอบีเอ็ม
สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดจากผลงานของนักศึกษาที่ส่งเข้าประกวด โดยส่งผลงานรวมกันไม่น้อยกว่า 10 ชิ้น จะได้รับ IBM eServer แบบคลัสเตอร์ 16 โหนด ทำงานด้วยระบบปฎิบัติการ ลีนุกซ์จำนวน 1 เครื่อง ผู้ชนะการประกวดผลงานลีนุกซ์จำนวน 20 คนจะได้รับ IBM ThinkPad และผู้ชนะจากการคัดเลือกจำนวน 3 คนจะได้เข้าร่วมโครงการฝึกงานฤดูร้อนปี 2548 ณ ศูนย์เทคโนโลยีลีนุกซ์ของไอบีเอ็ม
กติกาของการแข่งขัน นักศึกษาต้องส่งโครงการให้คณะกรรมการทางเทคโนโลยีของไอบีเอ็มพิจารณา โดยต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสามารถการใช้งานลีนุกซ์ การพัฒนาแอพพลิเคชัน หรือเครื่องมือสำหรับระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ผู้เข้าแข่งขันต้องอธิบายวัตถุประสงค์ของโครงการ หลักการที่ใช้ วิธีการทำและผลที่ได้รับ การตัดสินขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ ความละเอียดรอบคอบ ความชัดเจน และผลลัพธ์ของโครงการ ชิ้นงานที่ดีที่สุดของนักศึกษาจะได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ
“ไอบีเอ็มมุ่งมั่นต่อระบบลีนุกซ์ ชุมชนเปิดและมาตรฐานระบบเปิด การแข่งขันครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความทุ่มเทจากไอบีเอ็ม” นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “ไอบีเอ็มพยายามผลักดันให้นักศึกษาที่มีความสนใจพัฒนาระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนเปิด การแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยนี้นอกจากนักศึกษาจะได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และได้สนุกสนาน ยังเปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนทักษะทางลีนุกซ์ พร้อมกับโอกาสที่จะพัฒนาลีนุกซ์ให้ดีขึ้น โดยเกณฑ์การตัดสินโครงการนี้ได้แก่ โครงการจะต้องเป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถสร้างประโยชน์กับสถาบันการศึกษา นักเรียน ธุรกิจ และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อื่นๆได้ โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีกว่า และรวดเร็วกว่าในการทำงาน มีการนำเสนอแนวความคิดและเทคนิคใหม่ๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ของแอพพลิเคชั่นลีนุกซ์ที่ดีขึ้น โดยผลงานของโครงงานจะนำเสนอสู่ Open Source Community”
ดร นิรชราภา ทองธรรมชาติ รองผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) ได้กล่าวว่า “การแข่งขันประกวดซอฟต์แวร์นั้นเป็นสิ่งสำคัญและทางเนคเทคได้ทำเรื่องนี้มานานและได้สร้างความตื่นตัวให้กับนักศึกษาเป็นอย่างมากและสร้างให้เยาวชนแสวงหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอและให้หันมาทำสิ่งที่สร้างสรรค์ ซิป้านั้นเป็นองค์กรใหม่และการประกวดถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญโดยเฉพาะด้าน Open source นั้นเป็นนโยบายสำคัญที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผลักดันมาโดยตลอด และให้ทางซิป้านั้นส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากยังขาดองค์กรหลักที่ส่งเสริม และผลักดันมาในอดีตทางด้านซอฟต์แวร์ การประกวดครั้งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญให้เยาวชนไทยตื่นตัวทางด้าน Open source มากขึ่น”
รายละเอียดของการประกวด
นักศึกษาสามารถเลือกโครงการวิจัยหรือพัฒนาลีนุกซ์จากรายการตัวอย่างที่มีอยู่ในเว็บไซต์ หรือเลือกทำโครงการที่ใกล้เคียงในการพัฒนาความสามารถการใช้งานลีนุกซ์ การพัฒนาแอพพลิเคชัน หรือเครื่องมือสำหรับระบบลีนุกซ์
นักศึกษาต้องอธิบายวัตถุประสงค์ หลักการ และผลสรุปที่ได้ แล้วส่งมาเป็นเอกสารความยาวไม่เกิน 3 หน้า นักศึกษาสามารถปรึกษากันเพื่อวิเคราะห์ปัญหา และใช้เครื่องมือโอเพ่นซอร์สต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
ผู้ชนะมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางเทคโนโลยีของไอบีเอ็ม จากสถาบันวิจัยไอบีเอ็ม ศูนย์เทคโนโลยีลีนุกซ์ไอบีเอ็ม และผู้ที่มีความรู้ด้านลีนุกซ์อย่างดี
คณาจารย์ที่เป็นสมาชิกของโครงการ IBM Scholars Program สามารถสนับสนุนนักศึกษาด้วยการให้ซอฟต์แวร์ไอบีเอ็มที่อยู่ในชุด IBM Developer Toolbox กับนักศึกษาเพื่อใช้ในโครงการซึ่งตัวอย่างซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้แก่ WebSphere และ DB2 ที่ใช้สำหรับลีนุกซ์
นักศึกษาแต่ละคนต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบลีนุกซ์สำหรับโครงการเอง
นักศึกษาสามารถลงทะเบียนทางออนไลน์ได้แล้วที่ www.ibm.com/university/linuxchallenge ผู้สมัครต้องเป็นนักศึกษาปริญญาตรีหรืออนุปริญญาตามหลักสูตรมหาวิทยาลัย และต้องลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2547 โดยกำหนดวันสุดท้ายของการส่งโครงการและรายงาน คือวันที่ 13 ธันวาคม 2547 โดยระหว่างวันที่ 16-20 ธันวาคม 2547 จะเป็นช่วงพิจารณาโครงการและตัดสินผลงานโดยคณะกรรมการและจะประกาศรายชื่อผู้ชนะทางเว็บไซต์ในวันที่ 21 มกราคม 2548
ข้อมูลเกี่ยวกับ ไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มเป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีประวัติอันยาวนานในการช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จจากเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยครองความเป็นผู้นำในการช่วยสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ทางธุรกิจมานานกว่า 80 ปี ไอบีเอ็มได้สร้างสรรค์ พัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ ระบบเครือข่าย อุปกรณ์สตอเรจ ที่ล้ำหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมไอที หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม กรุณาเยี่ยมชมที่ http://www.ibm.com
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย: บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณกฤษณา ศิลประเสริฐ
โทรศัพท์: 0-2273-4639
อีเมล์: [email protected]จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit