กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--วช.
คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กำหนดจัดการประชุมทางวิชาการ สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2547 เรื่อง “การค้าระหว่างประเทศ : ทิศทางประเทศไทยในบริบทโลก” ในวันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2547 ณ ห้องพิมานเมฆ แกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเดอะแกรนด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม เวลา 08.30 น.
ปัจจุบัน นโยบายการค้าของประเทศไทยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน สามารถส่งออกไปยังนานาประเทศทั่วโลก การเปิดประเทศสู่โลกแห่งการค้าระหว่างประเทศจึงควรมีความพร้อมทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์การค้าภายในประเทศต่อองค์กรการค้า ระหว่างประเทศ แต่จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวและดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกแนวใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งออก โดยการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสร้างพันธมิตรกับประเทศคู่ค้า เน้นการเจรจาทวิภาคี (Bilateral Trade) เพื่อแก้ไข ป้องกันปัญหา อุปสรรค หาทางขยายการค้าและการลงทุน ซึ่งนโยบายเชิงรุกที่สำคัญประการหนึ่งคือ การขยายกรอบข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement หรือ FTA) กับประเทศคู่ค้าที่จะเป็นตลาดใหญ่ของไทย โดยคาดว่าการดำเนินการค้าในลักษณะทวิภาคีนั้น จะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เกิดกิจกรรมทางการค้ามากขึ้น ก่อให้เกิดการสร้างงาน การส่งออก และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในอนุภูมิภาคเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region หรือ GMS) การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเพื่อนบ้านด้วย โดยการปรับกระบวนยุทธศาสตร์การค้าภายในอนุภูมิภาค (Intra - Subregional Trade) ให้สอดคล้องกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยต่อแนวนโยบายทางด้านการค้าเชิงรุกแนวใหม่ของรัฐบาล คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
จึงได้จัดการประชุมวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2547 เรื่อง “การค้าระหว่างประเทศ : ทิศทางประเทศไทยในบริบทโลก”ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอองค์ความรู้จากงานวิจัยในเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่สะท้อนถึงความพร้อมภายในประเทศ ความผันผวนเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค อันจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจในด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งประกอบด้วย นักวิจัย นักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชนและผู้สนใจทั่วไป จำนวนประมาณ 300 คน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit