กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--อย.
อย.สั่งพักใบรับรองจีเอ็มพี จากบริษัทโรงงานเภสัชกรรมแหลมทองการแพทย์ จำกัด เนื่องจากปิดฉลากยาธัยรอยด์ฮอร์โมนผิดพลาด ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาไม่ถูกต้อง จึงเรียกคืนจากท้องตลาดด่วน พร้อมเตือนโรงพยาบาล คลินิก และผู้ป่วยที่ใช้ยาธัยรอยด์ฮอร์โมนอยู่ ให้ตรวจสอบยาโดยละเอียด หากพบยาดังกล่าวให้รีบนำส่งคืนที่ผู้ผลิต อย. หรือ สสจ.
น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมคณะ ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับแจ้งจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ได้ตรวจสอบยาที่ส่งมาจากโรงพยาบาลปทุมธานี ชื่อยาไทร็อกซีน (THYROXINE) ซึ่งเป็นยารักษาผู้ป่วยที่ขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน ผลิตและขายโดยบริษัทโรงงานเภสัชกรรมแหลมทองการแพทย์ จำกัด แสดงเลขทะเบียนที่ (Reg.No.) 1A951/41 Lot & Control No. TT01G01 วันที่ผลิต 29.5.2002 วันที่สิ้นอายุ 28.5.2006 ฉลากแสดง ตัวยาสำคัญ ไทร็อกซีน โซเดียม แอนไฮดรัส (Thyroxine Sodium anhydrous) 100 ไมโครกรัมต่อเม็ด ลักษณะเม็ดสีขาวไม่เคลือบน้ำตาล ไม่ตรงตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ ซึ่งแจ้งว่าเป็นเม็ดสีม่วง นอกจากนี้ยังมียาหนึ่งกระป๋องที่เม็ดยามีลักษณะแตกต่างจากยาในกระป๋องอื่นในรุ่นเดียวกัน คือเป็นเม็ดสีขาวเคลือบน้ำตาล เมื่อตรวจวิเคราะห์พบว่า เป็นยาบิสซาโคดีล (Bisacodyl) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายจึงจัดว่าเป็นยาปลอม และเมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ไปตรวจสอบที่บริษัทผู้ผลิตยาดังกล่าว บริษัทฯ ยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการผลิตยา ได้ไปตรวจสอบที่บริษัทผู้ผลิตยาดังกล่าว บริษัทฯ ยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการผลิตยา ซึ่งถือว่าเป็นความบกพร่องร้ายแรงในด้านการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการ ผลิตยา หรือ GMP ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคในเบื้องต้น อย.จึงได้มีคำสั่งให้ บริษัท โรงงานเภสัชกรรมแหลมทองการแพทย์ จำกัด เรียกเก็บยาไทร็อกซีน แสดงเลขทะเบียนตำรับยาที่ 1A 951/41 Lot&Control No. TT01G01 Mfg.Date 29.5.2002 Exp.date 28.5.2006 ทั้งหมดคืนจากท้องตลาด โดยให้แจ้งผลการเรียกเก็บคืน และส่งมอบยาที่เรียกเก็บคืน พร้อมทั้งส่งสำเนาบัญชีการผลิตและขายยารุ่นดังกล่าว ให้กับกองควบคุมยา อย.ภายในระยะเวลา 30 วัน และได้สั่งพักใช้หนังสือรับรองมาตรฐานการผลิตยา (GMP Certificate) ของบริษัทฯ จนกว่าจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้เรียบร้อย นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ขอให้โรงพยาบาล สถานีอนามัย คลินิก ร้านขายยา ตรวจสอบยาไทร็อกซีน หากพบว่าเป็นรุ่นที่มีปัญหาดังกล่าว ขอให้ส่งคืนที่ผู้ผลิต อย.หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รับประทานยาชนิดนี้อยู่เป็นประจำ หากไม่แน่ใจขอให้นำยาดังกล่าวกลับไป สอบถามได้ที่โรงพยาบาล หรือ คลินิกที่ท่านได้รับยามา เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง--จบ--
-กภ-