ILCT: ภาษีมูลค่าเพิ่มกับการให้บริการผ่านทางอินเตอร์เน็ท

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นิติ เนื่องจำนงค์ บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด [email protected] [email protected] ปัญหาหนึ่งที่มักจะได้รับการสอบถามจากท่านผู้อ่านในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย คือ ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะในเรื่องของการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตราร้อยละ 0 จากการให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่กระทำในราชอาณาจักร แต่มีการใช้บริการทั้งหมดในต่างประเทศ เจ้าของเว็บไซท์ซึ่งให้บริการประเภทดังกล่าวต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 หรือร้อยละ 7 เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจปัญหา ผมขอยกตัวอย่างปัญหา คือ สมมติว่าบริษัท google.com จำกัด เป็นบริษัทไทยรับออกแบบแผ่นโฆษณา (Banner) ผ่านทางเว็บไซท์ google.com ของตน ซึ่งมีที่อยู่บนอินเตอร์เน็ทหรือที่อยู่เว็บไซท์ ของ google.com (IP Address of domain name) อยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ที่พักเก็บข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาและลูกค้าที่ว่าจ้างให้บริษัท google.com จำกัด โฆษณาทั้งหมดเป็นชาวต่างประเทศ เว็บไซท์ google.com ก็เป็นเว็บไซท์ที่เป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีลูกค้าคนไทยแม้แต่คนเดียว รายได้ของบริษัท goolgle.com จำกัดจะมาจากการรับออกแบบแผ่นป้ายโฆษณาผ่านทางอินเตอร์เน็ท ภายหลังจากออกแบบแผ่นป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์เสร็จแล้ว พนักงานของ google.com ก็จะส่งแฟ้มข้อมูลแผ่นป้ายโฆษณาไปอัพโหลดไว้ในเว็บไซท์ google.com ที่มีเซิฟเวอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ บริษัท google.com ซึ่งเป็นบริษัทไทยจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าวในอัตราร้อยละ 0 หรือร้อยละ 7 เมื่อพิจารณาหลักกฎหมายภาษีอากรของไทยและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น ผมมีความเห็นว่า การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท google.com จำกัด น่าจะถือว่าเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร แต่ได้ส่งผลของการใช้บริการไปไว้ในต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจาก ลูกค้าทั้งหมดเป็นชาวต่างประเทศและผลของการใช้บริการโฆษณานั้นเกิดในต่างประเทศทั้งหมดบริษัท google.com จำกัด จึงน่าจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 80/1 (2) ของประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 ข้อ 7 และ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 105 ข้อ 2 (1) ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้ มาตรา 80/1 ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ----------------- (2) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ----------------- คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 ----------------- ข้อ 7 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศและได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณอัตราภาษีตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ----------------- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) ----------------- ข้อ 2 กำหนดให้การประกอบกิจการดังต่อไปนี้เป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร (1) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด การให้บริการตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า แต่ไม่รวมถึงการให้บริการจัดนำเที่ยวในต่างประเทศ ----------------- อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรมสรรพากรยังไม่มีคำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ผมจึงขอหยิบยกคำวินิจฉัยที่อาจจะนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีดังกล่าวข้างต้นได้ คือ คำวินิจฉัยที่ กค. 0802/พ.2651 วินิจฉัยว่า บริการที่ให้กับผู้ใช้บริการในต่างประเทศ เช่น บริการส่งเสริมการขาย การวิจัย ข้อมูลทางการตลาด เป็นการให้บริการรับจ้าง ทำของ ให้กับผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ ซึ่งผู้รับจ้างได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 คำวินิจฉัยที่ 0811/3751 วินิจฉัยว่า ธนาคารไทยร่วมกับธนาคารอื่นอีกหลายแห่งให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินกับบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศลาวโดยให้คำแนะนำและจัดทำรายงานการตรวจสอบและความเป็นไปได้ของการลงทุน บริการดังกล่าวถือเป็นการจ้างทำของให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ จึงเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ผมจึงมีความเห็นส่วนตัวว่า การที่บริษัท google.com จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทยให้บริการออกแบบเว็บไซท์ในประเทศไทย แต่มีการอัพโหลดข้อมูลหรือผลของการให้บริการโฆษณาไปไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ผลสำเร็จของการให้บริการ คือ ตัวโฆษณาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเว็บไซท์นั้นเกิดขึ้นที่ต่างประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ ลูกค้าทั้งหมดของเว็บไซท์ google.com เป็นชาวต่างประเทศจึงไม่มีการกระทำหรือให้บริการใด ๆ ที่มีผลเกิดขึ้นในราชอาณาจักรแต่อย่างใด บริษัท google.com จำกัด จึงน่าจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 แนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในกลุ่มสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ท้ายที่สุดนี้คิดว่า ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นคงเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเว็บไซท์บ้างไม่มากก็น้อย--จบ-- -นห-

ข่าวนิติ เนื่องจำนงค์+อิเล็กทรอนิกส์วันนี้

SCB WEALTH จัดสัมมนา "ครบเครื่องเรื่องส่งต่อความมั่งคั่ง โอกาสต่อยอดความสำเร็จไม่รู้จบ" มุ่งสนับสนุนความมั่งคั่งในทุกมิติการลงทุนให้กลุ่มลูกค้าเวลล์เพื่ออนาคตทางการเงินที่ยั่งยืน

SCB WEALTH จัดงานสัมมนา Exclusive Seminar ให้กับกลุ่มลูกค้า High Net Worth Individuals (HNWIs)ในหัวข้อ "ครบเครื่องเรื่องส่งต่อความมั่งคั่ง โอกาสต่อยอดความสำเร็จไม่รู้จบ" โดยมีนางสาวศลิษา หาญพาณิช (ที่2ซ้าย) ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Wealth Capability Development ธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.นิติ เนื่องจำนงค์ (ที่1 ขวา)) ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ นายชาตรี โรจนอาภา (ที่1ซ้าย) CFA, FRM Head of Investment Consultant SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ และนางสาวนฤมล

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 อาจารย์กุศล สังขนันท... ผู้บริหาร ม.ศรีปทุม เข้าเยี่ยมคารวะและร่วมแสดงความยินดีประธานศาลปกครองสูงสุด คนใหม่ — วันที่ 7 ตุลาคม 2564 อาจารย์กุศล สังขนันท์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านกฎหมา...

ศูนย์กฎหมายศรีปทุม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยา... ควรรู้! เชิญร่วมฟัง THE Talk "สิทธิประกันสังคม นายจ้าง ลูกจ้าง" ผ่านระบบออนไลน์ App Zoom — ศูนย์กฎหมายศรีปทุม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอเชิญทุกท่...

อาจารย์นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการศูนย์... ภาพข่าว: ศูนย์กฎหมายศรีปทุม บริการวิชาการสู่สังคม รพ.ตำรวจ — อาจารย์นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายศรีปทุม มหาวิทยาลัยศรีปทุม บริการวิชาการสู่สัง...