กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--สวช.
ตามประวัติศาสตร์ชาติไทย เราได้สูญเสียเอกราชแก่พม่าถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2112 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้เมื่อปี พ.ศ. 2127 รวมระยะเวลาที่ไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ 15 ปี ครั้งที่ 2 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ไทยเสียเอกราชแก่พม่าไปเมื่อปี พ.ศ. 2310 แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงกอบกู้อิสระภาพคืนมาได้ในปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2310 โดยใช้ระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในตำแหน่งพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรในขณะนั้นได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4" เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2310 แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมเรียกพระองค์ว่า "พระเจ้าตากสิน" อันเป็นตำแหน่งเดิมคือ เจ้าเมืองตาก ก่อนที่พระองค์จะได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร (แต่ยังไม่ทันไปปกครองเมืองดังกล่าวก็เกิดศึกพม่าขึ้นเสียก่อน)
ในพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 (ในเรื่องวันเกิดนี้ มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันหลายแห่ง เป็นวันที่ 22 มีนาคมบ้าง วันที่ 7 เมษายนบ้าง ซึ่งคงจะเกิดจากคำนวณทางโหราศาสตร์ แต่ปีเกิดจะตรงกันทุกแห่ง) พระองค์เกิดปีขาล ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นบุตรคนสามัญ บิดาเป็นจีนชื่อนายไหหอง เป็นขุนพัฒน์นายอากรบ่อนเบี้ย มารดาเป็นไทยชื่อนางนกเอี้ยง ตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี สมุหนายก เมื่อเป็นทารกได้เกิดเหตุมหัศจรรย์คือมีงูเหลือมตัวใหญ่มานอนขดล้อมทารกไว้แต่มิได้ทำอันตราย อันเป็นนิมิตหมายของผู้มีบุตรวาสนา บิดามารดาจึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี ซึ่งเมื่อได้เด็กชายผู้นี้หรือพระเจ้าตากสินในขณะนั้นมาเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ปรากฏว่าท่านมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก จึงตั้งชื่อให้ว่า "สิน" ครั้นเด็กชายสินอายุได้ 9 ขวบ ก็ได้ไปศึกษาในสำนักอาจารย์ทองดี ได้เรียนหนังสือไทยและขอมจนจบจึงหันมาเรียนพระไตรปิฏกต่อ พออายุได้ 13 ปีได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และได้ศึกษาภาษาจีน ญวน และแขกจากอาจารย์ในราชสำนัก จนพูดทั้งสามภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว กล่าวกันว่าท่านมีความสามารถอีกอย่างหนึ่งคือ การกวีนิพนธ์ ต่อมาเมื่อมีอายุครบอุปสมบทก็ได้บวชที่วัดโกษาวาส อันเป็นที่เคยมาศึกษาเมื่อเด็กในระหว่างบวชครั้งนี้ ท่านได้ศึกษาพระไตรปิฏกจนแตกฉานยิ่งขึ้น บวชอยู่ 3 พรรษาก็ลาสิขากลับมารับราชการดังเดิมด้วยความฉลาด รอบรู้ธรรมเนียม และปฏิบัติภารกิจต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนสามารถทำงานต่างพระเนตรพระกรรณได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดเล็กรายงานราชการทั้งหลายในส่วนกระทรวงมหาดไทยและกรมวังศาลหลวง
ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ มหาดเล็กสินก็ได้รับราชการสืบมาและปฏิบัติราชการจนมีความดีความชอบเจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกบัตรเมืองตาก ช่วยราชการเมืองตาก ครั้นเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็โปรดเลื่อนให้เป็นพระยาตากปกครองเมืองตากแทน ในปี พ.ศ. 2308 เมื่อพม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยาพระยาตากได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้ จึงได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันไปรับตำแหน่งก็เกิดศึกพม่าครั้งสำคัญขึ้นก่อน จึงถูกเรียกตัวให้มาช่วยป้องกันรักษาพระนคร แต่เนื่องจากการศึกครั้งนี้พม่าได้เตรียมการมาอย่างดี อีกทั้งพระเจ้าเอกทัศน์ก็ทรงอ่อนแอทั้งการทหารและการปกครอง ท้ายสุดเมื่อพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ 1 ปี 2 เดือน กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีของไทยอยู่นานถึง 417 ปี ก็เสียแก่พม่าเมื่อเดือนเมษายน 2310
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า ขณะทำการรบพุ่งเพื่อป้องกันพระนครนั้น พระยาวชิรปราการเกิดความท้อแท้ใจหลายครั้ง เช่น ไม่สามารถสั่งยิงปืนใหญ่ทำลายข้าศึกได้อย่างสะดวก เพราะต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เพื่อประหยัดกระสุนดินดำ (บ้างก็ว่าพระเจ้าเอกทัศน์กลัวพระสนมจะตกใจกลัว) ครั้นคับขันสั่งยิงไปก่อนก็ถูกคาดโทษยิ่ง กอปรกับเห็นว่าพระเจ้าเอกทัศน์ไม่เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง และไม่ตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ดังกรณีคุกคามพระเจ้าอุทุมพร พระอนุชาที่ได้ครองราชย์สมบัติต่อจากพระราชบิดา จนต้องหนีไปผนวชถึง 2 ครั้ง พระยาวชิรปราการจึงเล็งเห็นว่าขืนสู้ต่อไปก็คงไร้ประโยชน์และคงรักษากรุงไว้ไม่ได้แน่ จึงรวบรวมทหารได้ประมาณ 1,000 คนที่ค่ายพิชัย ตีฝ่าวงล้อมพม่าไปทางทิศตะวันออกก่อนเสียกรุงไม่นาน และไปตั้งตัวเป็นใหญ่ที่จังหวัดจันทบุรี
หลังจากเสียกรุงแล้ว ปรากฏว่าบ้านเมืองแตกแยก หัวเมืองต่างๆ ต่างตั้งตัวเป็นใหญ่โดยแบ่งออกเป็นก๊กต่างๆ ถึง 6 ก๊กคือ ก๊กสุกี้พระนายกอง ซึ่งพม่าตั้งให้เป็นนายใหญ่คุมกำลังอยู่ค่ายโพธิ์สามต้น และนายทองอิน พม่าตั้งให้อยู่ที่เมืองธนบุรี คอยกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินส่งพม่า ก๊กพระยาพิษณุโลก อยู่เมืองพิษณุโลก ก๊กพระฝาง ตั้งอยู่ที่สวางคบุรี ก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ก๊กเจ้าพิมายมีกรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นหัวหน้า อยู่เมืองพิมาย และก๊กเจ้าพระยาวชิรปราการหรือพระเจ้าตากสินอยู่ที่จันทบุรี
เจ้าพระยาวชิรปราการเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้ หลังเสียกรุงแก่พม่าราว 2 เดือน จากนั้นจึงได้รวบรวมกำลังพลและตระเตรียมต่อเรือไว้ใช้ในการศึก โดยได้คุมเรือรบ 100 ลำพร้อมไพร่พลราว 5,000 คนยกจากจันทบุรีมาทางปากน้ำเจ้าพระยา ตีเมืองธนบุรีจับนายทองอินประหารชีวิต จากนั้นได้ยกทัพตีค่ายโพธิ์สามต้นจนแตกพ่าย สุกี้นายกองที่พม่าให้รักษาพระนครตายในที่รบ ดังนั้น กรุงศรีอยุธยาจึงได้กลับมาเป็นของไทยอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนพฤจิกายน พ.ศ. 2310 นับจากเสียกรุงแก่พม่าเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2310 เป็นเวลา 7 เดือน จากนั้นเจ้าพระยาวชิรปราการได้ขุดพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ซึ่งเสด็จสวรรคตด้วยทรงอดอาหารอยู่ถึง 10 วันในขณะหนีพม่า มาทำพิธีถวายพระเพลิงตามสมควรแก่บ้านเมืองในเวลานั้นแล้ว พระองค์ก็ได้ตัดสินใจที่จะไม่ใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีต่อไป เพราะขณะนั้น กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายเสียหายยับเยิน และกำลังพลในขณะนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะบูรณะให้เหมือนเดิมได้ อีกทั้งชัยภูมิของกรุงศรีอยุธยาสามารถถูกโจมตีได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ไหนจะต้องระวังก๊กต่างๆ ที่รู้เส้นทางเดินทัพเป็นอย่างดี ดังนั้น พระองค์จึงทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2310 ในขณะพระชนมายุ 33 พรรษา ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4" หรือ " สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี" ต่อจากนั้น ก็ได้ยกทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ โดยใช้เวลาอยู่ 3 ปี คือ พ.ศ. 2311-2313 จึงสามารถรวบรวมอาณาเขตกลับคืนมาเป็นราชอาณาจักรเดียวอย่างเดิมได้ ตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงตรากตรำทำศึกสงครามต่อเนื่องมาโดยตลอด นอกจากต้องรบพม่าเพื่อกอบกู้เอกราชในครั้งแรก รวมถึงการทำศึกกับก๊กต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่แล้ว ยังต้องทำการรบกับพม่าที่ยกมาโจมตีอีก 9 ครั้งใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ยังได้ทำสงครามขยายอาณาเขตอีกหลายครั้ง เป็นผลให้ไทยมีประเทศราชหลายแห่งกลับคืนมาเหมือนสมัยอยุธยา เช่น ได้กรุงกัมพูชา จำปาศักดิ์ หลวงพระบาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชกรณียกิจด้านปกครองบ้านเมืองซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังอยู่ในระหว่างศึกสงคราม แต่กระนั้นก็ยังทรงให้ความสำคัญในด้านศาสนา ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม โดยได้ทรงนำคณะละครจากนครศรีธรรมราชมาฝึกหัดชาววังและตั้งคณะละครหลวงขึ้น แล้วยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์บางตอน รวมทั้งให้เก็บรวบรวมวรรณคดีสมัยอยุธยาเพื่อการสืบทอดอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนและเพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป
ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เกิดเหตุจลาจลขึ้น ด้วยพระองค์ทรงมีพระสติฟั่นเฟือนไป สำคัญว่าพระองค์ว่าเป็นพระโสดาบัน และจะให้พระภิกษุกราบไหว้ จึงได้ถอดสมณศักดิ์และโบยตีสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่ไม่เห็นด้วย จนเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น และพระองค์ถูกพระยาสรรค์ที่หมายตั้งตัวเป็นใหญ่บังคับให้ทรงพระผนวช เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ซึ่งไปทัพกลับมา ข้าราชการน้อยใหญ่จึงขอให้ช่วยระงับเหตุ ในที่สุดข้าราชการทั้วปวงได้พิจารณาสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วยท่อนจันทร์ตามโบราณราชประเพณี เพื่อยุติเหตุการณ์ทั้งหมด พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2325 ขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา ส่วนพระยาสรรค์และผู้ก่อการทั้งหมดก็ถูกพิจารณาโทษเช่นกัน
จากพระราชประวัติ เราจะเห็นได้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงต้องเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย และพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ตราบจนวาระสุดท้าย พระองค์ต้องใช้พระปรีชาสามารถ ความเสียสละ และความเข้มแข็งเป็นอย่างมากที่ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆทั้งในด้านการสงคราม การปกป้องบ้านเมือง กว่าจะเป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้ แม้ว่าท้ายสุดพระองค์จะต้องเสด็จสวรรคตด้วยเหตุอันน่าเศร้าสลดก็ตาม แต่วีรกรรมของพระองค์ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยต้องจารึกไว้ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น หากไม่มีพระองค์ไหนเลยเราจะมีประเทศไทย ณ วันนี้
ด้วยเหตุนี้ ประชาชนชาวไทยจึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาพระองค์ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" และได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นที่วงเวียนใหญ่ โดยทางการได้กำหนดให้ วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี อันเป็นวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เป็น "วันพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้ไปถวายสักการะน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
โทร.0 2247 0028 ต่อ 2204/2205--จบ--
-ฉอ/รก-
ศรชัย จำปาเรือง (คนที่ 4 จากซ้าย) ผู้จัดการโรงแรมแคนทารี เบย์ ระยอง เป็นตัวแทนโรงแรมในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี มอบเงินสนับสนุนให้กับสภากาชาดจังหวัดระยอง ใน " งานวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและงานกาชาดจังหวัดระยอง ประจำปี 2567 " โดยมี ไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ (คนที่ 3 จากซ้าย) ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และ ชนินันท์ วงศ์ไตรรัตน์ (คนที่ 2 จากซ้าย) นายกเหล่ากาชาดจังหวัดฯ เป็นตัวแทนรับมอบ พร้อมด้วย ณัฐนนท์ จอมใจ (คนที่ 5 จากซ้าย) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงแรมคลาสสิค คามิโอ ระยอง, หนึ่งฤทัย จุ้ยกระโทก (คนที่ 6