กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--อย.
สธ.เข้มเดินหน้าใช้มาตรการรณรงค์กวาดล้างสารอันตรายปนเปื้อนในอาหารให้ครบทุกตลาดทั่วประเทศภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2546 รุกตรวจตลาดใหญ่ อตก. พบบอแรกซ์ในเนื้อ และฟอร์มาลินในผ้าขี้ริ้ว แผงที่ไม่พบสารปนเปื้อน สธ. มองป้ายสัญลักษณ์ "อาหารปลอดภัย" ให้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและส่งเสริมร้านค้าที่ร่วมรณรงค์โครงการอาหารปลอดภัย
ตลาด อตก. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 46 นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย น.พ. สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้นำทีมเจ้าหน้าที่พร้อมรถหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ไปตรวจสอบแหล่งจำหน่ายอาหารที่ตลาดสดองค์การเพื่อเกษตรกร (อตก.) เพื่อรณรงค์โครงการความปลอดภัยด้านอาหาร (FOOD SAFETY) เพื่อกวาดล้างสารพิษอันตรายที่ป่นเปื้อน 6 ชนิด คือ บอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารเร่งเนื้อแดง สารฟอกขาว สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารกันเชื้อราหรือกรดซาลิซิลิค ซึ่งดีเดย์พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 46 เป็นต้นมา และมีการประกาศมอบนโยบายอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยได้รับการประสานและความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ นำทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดออกตรวจแหล่งจำหน่ายอาหารทั้งตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่ง ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนมิถุนายน ศกนี้ เพื่อมอบป้ายสัญลักษณ์" อาหารปลอดภัย" ให้แก่ร้านค้าที่ตรวจไม่พบสารอันตรายปนเปื้อน ในการตรวจแหล่งจำหน่ายอาหารทั้งตลาดสด และซุปเปอร์มาเก็ตทุกแห่งทั่วประเทศ นับตั้งแต่มีการประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 มิ.ย. 46 จนถึงวันที่ 13 มิ.ย. ได้มีการออกตรวจตลาดสดในเขตกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง ตรวจแผงที่จำหน่ายอาหารกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 381 แผง และเก็บตัวอย่างอาหารที่ต้องสงสัย จำนวน 976 ตัวอย่าง ปรากฏว่าพบสารบอแรกซ์ในอาหาร 6 ตัวอย่าง เช่น ทอดมัน เนื้อปลาสด เนื้อปลาบด ขาไก่ เป็นต้น พบสารฟอร์มาลินในอาหาร 6 ตัวอย่าง เช่น ตีนไก่ ผ้าขี้ริ้ว ปลาหมึกกรอบ เป็นต้น พบ สารฟอกขาวในอาหาร 2 ตัวอย่าง คือ ขิงหั่นฝอย และตีนไก่ และพบยาฆ่าแมลงในอาหาร 1 ตัวอย่าง คือ ผักคะน้า ส่วนตัวอย่างอาหารที่ตรวจหาสารเร่งเนื้อแดงนั้นกำลังอยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์ สำหรับอาหราที่พบสารปนเปื้อน เจ้าหน้าที่ได้สืบหาแหล่งซื้อเพื่อขยายผลดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ จากตัวอย่างอาหารที่พบสารปนเปื้อนน้อยลงนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือร่วมใจให้คนไทยมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น ในการได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากสารพิษปนเปื้อน จึงพัฒนาปรุงคุณภาพอาหารสดของตนเอง อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดำเนินการกวาดล้างตามแหล่งผลิต และจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาดังกล่าวนี้ลดลง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยอย. จะยังคงเดินหน้ารณรงค์และกวาดล้างสารปนเปื้อนให้หมดสิ้นไปภายในปี 2546 ทั้งวัตถุดิบในการผลิตอาหาร อาหารสด อาหารแปรรูป และ อาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้ผลิตและผู้จำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวตลาดสด อตก. ที่เคยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเป็นตัวโครงการความปลอดภัยด้านอาหารเป็นแห่งแรกเมื่อปลายเดือนเมษายน ได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงพลังในการร่วมใจสรรหาอาหารปลอดภัยมาจำหน่าย ซึ่งในครั้งแรกนั้นผู้จำหน่ายพ่อค้าและแม่ขายชาวตลาด อตก. ต่างลงชื่อสมัครเข้าร่วมโครงการไว้เป็นจำนวนมาก จึงมีร้านค้าที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์ "อาหารปลอดภัย" แบบชั่วคราวเป็นจำนวนมากเช่นกัน และในการมาตรวจตลาดครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้จำหน่ายที่ยังไม่ได้สมัคร จะได้สมัครเข้าร่วมโครงการโดยวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างทั้งอาหารสดและ อาหารสำเร็จรูป จำนวน 121 แผง รวม 219 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นแผงที่จำหน่ายกลุ่มเป้าหมายทุกแผง เพื่อตรวจหาสารอันตรายปนเปื้อนทั้ง 6 ชนิด ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นจากหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ พบบอแรกซ์ 2 ตัวอย่าง ในเนื้อแดดเดียว และแกงเขียวหวานเนื้อ ฟอร์มาลินในผ้าขี้ริ้ว ส่วนผลการตรวจสอบสารเร่งเนื้อแดงต้องรอผลวิเคราะห จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และได้ทำการแจกป้ายสัญลักษณ์ "อาหารปลอดภัย" ชั่วคราว ให้แก้ร้านค้าจำหน่ายอาหารไร้สารปนเปื้อนไปจำนวน 116 แผง
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกเหนือจากกระทรวงฯ จะมีหน้าที่ในการเข้มงวดกวดขันกับผู้ผลิตและจำหน่ายไม่ให้จำหน่ายอาหารปนเปื้อนสารอันตรายแล้ว ผู้ผลิต-ผู้จำหน่ายก็จำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือในการจำหน่ายอาหารที่สะอาดปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคเองก็ต้องหันมาใส่ใจในสุขภาพที่ดีของตนเองอย่างจริงจัง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลือกรักประทานอาหาร อีกทั้ง ควรลด หรือ เลิกทัศนคติบางประการในการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน เมื่อผู้บริโภคไม่มีความต้องการแล้ว ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายก็ไม่มีความจำเป็นที่จะผลิตอาหารที่มีสารอันตรายปนเปื้อนอีกต่อไป--จบ--
-สก/พห-