กทม. จัดโครงการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนมุ่งพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมเด็กไทย

25 Jun 2003

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--กทม.

วันนี้ (24 มิ.ย.46) เวลา 09.00 น. ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเซีย เขตราชเทวี ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา โครงการอบรมครูผู้สอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวประนอม เอี่ยมประยูร รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษาธิการเขต ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการในสำนักการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย มีรากฐานที่สำคัญมาจากพระพุทธศาสนา จนอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นมรดกล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง การที่รัฐได้กำหนดไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ ให้ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะเยาวชนได้ศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันนี้นับเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง และยิ่งในปัจจุบันนี้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงทำให้นักเรียนที่เคยมีพฤติกรรมอันดีงามเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นโรงเรียนก็ถือเป็นหน้าที่โดยตรงที่จะต้องอบรมบ่มนิสัยนักเรียนให้ยึดถือคุณธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต กรุงเทพมหานครโดยสำนักการศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสอนพระพุทธศาสนาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 จึงได้วางแผนร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จัดอบรมครูผู้สอน พระพุทธศาสนาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครขึ้น เป็นแบบพักค้าง 5 วัน 4 คืน ระหว่างวันที่ 9-20 มิถุนายน 2546 จำนวน 2 รุ่น ณ สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา (วัดไร่ขิง) จังหวัดนครปฐม

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียน ศึกษาธิการเขต ศึกษานิเทศก์ และข้าราชการในสำนักการศึกษา จำนวน 560 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับหลักสูตรพระพุทธศาสนาและการสร้างศรัทธา แนวทางการจัดโรงเรียนวิถีพุทธ วิสัยทัศน์การจัดการเรียนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน รวมทั้งให้สามารถบริหารและให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนานักเรียนให้เป็นไปตาม เจตนารมย์ของหลักสูตร

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การบรรจุวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าว จุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กไทยปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข ไม่ใช่นับถือศาสนาพุทธเฉพาะในทะเบียนบ้าน แต่ให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม อันพึงประสงค์ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ดีต่อไป--จบ--

-นห-