ส่วนภาคเหนือนั้น "ทักษิณ"ใช้สายสัมพันธ์"ชินวัตรผู้พี่ "พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผช.ผบ.ทบ. (ตท.5)ส่ง พล.ท. พิชาญเมธ ม่วงมณีมาเป็นแม่ทัพภาค 3(ตท.5)คุมภาคเหนือฐานเสียงบ้านเกิด เพราะ พล.ท.พิชาญเมธ เป็นนายทหารที่เติบโตมาในพื้นที่จ.เชียงใหม่ มีความใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตรในภาคเหนือเป็นอย่างดี
นอกจากนั้นยังได้ส่ง พล.ต.มนัส เปาริก ขึ้นเป็น ผบ.พล.ม.1ซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งผบ.กองกำลังผาเมือง ดูแลยุทธการทางด้านชายแดนไทย-พม่าในภาคเหนือคาบเกี่ยวบางจังหวัดในฝั่งตะวันตก สำหรับภาคอีสานนั้น พรรคไทยรักไทยผสมกับพรรคความหวังใหม่เก่าก็ได้แชมป์ ส.ส.ในภาคอีสานอย่างง่ายได้โดยมีพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหมเป็นประธานการเลือกตั้งภาคใช้ทุนเก่าสมัยเคยทำงานภาคอีสานลงพื้นที่กวาดคะแนนอย่างท่วมท้น
แต่ ในการโยกย้ายครั้งหน้า ที่พล.ท.เทพทัต พรหโมปกรณ์ แม่ทัพภาค 2 เด็ก"บิ๊กจิ๋ว" อาจจะต้องมาเป็นพล.อ.ในตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ. เปิดตำแหน่งแม่ทัพภาค 2ไว้ให้กับ เสธ.กองทัพภาค และแม่ทัพน้อยที่ 2 ซึ่งล้วนเป็นตท. 5 รุ่นเดียวกับพล.อ.ชัยสิทธิ์ ทั้งสิ้นไม่นับรวมตำแหน่ง ผบ.ทบ. ที่พล.อ.ชัยสิทธิ์ถูกวางตัวให้มารับตำแหน่งนี้ในการโยกย้ายปลายปี 46 หากไม่มีอะไรพลิกล็อค
ดุลอำนาจในกองทัพในอนาคตจึงผูกติดกับพันธมิตรสองรุ่นคือเตรียมทหารรุ่น5ของพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร และ เตรียมทหารรุ่น 10ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยมี ตท. 9 ที่กำลังสร้างพันธมิตรร่วมกับ ตท. 6สำหรับ"บิ๊กจิ๋ว"แล้วยังมีภารกิจสำคัญในการผลักดัน พล.อ.วิชิต ( ตท. 9)ไปเป็นหนึ่งใน 5เสือทบ.ให้ได้ ก่อนที่ตัวเองจะเลิกเล่นการเมือง
ในขณะที่สมาชิก ตท.9อาจต้องปรับตัวแล้วหาหลักใหม่ที่ทรงอำนาจในการต่อรองมากกว่า ตท. 6ก่อนที่"บิ๊กจิ๋ว"จะสละเรือ ในขณะที่ "ลูกป๋า"ซึ่งเคยเป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญได้รับการผลักดันภายใต้รหัสนาม "บ้านสี่เสา" ก็ถูกลดทอนอำนาจลงไปตามสัดส่วนที่"ทักษิณ"ได้เพิ่มอำนาจของตัวเองมากขึ้น
จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าชื่อของพล.อ.อู๊ด เบื้องบนรองปลัดกระทรวงกลาโหมที่เคยถูกวางตัวให้ขึ้นมาปลัดกระทรวงฯอาจต้องผิดหวังในการโยกย้ายปลายปีนี้เช่นเดียวกับอนาคตของพล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย และ พล.ต.บุญสืบ คชรักษ์ อาจต้องลบกระแสลมแรงพักผ่อนที่ปลายค่ายไว้ก่อน
เพราะ เหตุการณ์"ปลด"พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กลางอากาศเมื่อปีที่ผ่านมา โดยที่"บ้านสี่เสา"ค้ำไม่ทันก็แสดงให้เห็นว่า บารมีของป๋า ถูกพลังแสงจากบ้านจันทร์ส่องหล้ามาบดบัง
การจัดทัพโยกย้าย วางดุลย์อำนาจใหม่ในกองทัพโดยเอา รุ่นพี่-รุ่นเพื่อนมากุมอำนาจก็ไม่ได้ทำให้เกิดกระแสกดดันเพียงพอที่ทหารจะใช้เป็นเงื่อนไขปฏิวัติเหมือนการเมืองในยุคเก่าได้เพราะ "ทักษิณ"เพียงต้องการสร้างขั้วการต่อรองใหม่ โดยที่ตนเองสามารถกุมสภาพการบริหารจัดการนโยบาย และ การเมืองเรื่องของการเลือกตั้งไว้ได้
แต่ "ทักษิณ"ไม่ได้แตะต้องฐานทางเศรษฐกิจของสถาบันทหารแม้แต่น้อย แต่กลับยิ่งสร้างคะแนนรับฟังปัญหาจากกองทัพอย่างตั้งใจอีกทั้งใช้ท่าทีที่ละมุนละม่อมแบบรู้เท่าทันประวัติศาสตร์สถาบันทหารกับการเมืองไทยได้อย่างดีแถมยังกุมหัวใจของกองทัพไทยได้อย่างมั่นมือ เมื่อตกลงที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณการจัดซื้ออาวุธที่ประสบปัญหาการชะลอการพัฒนามานานนับแต่วิกฤตเศรษฐกิจ
--Corporate Thailand ฉบับที่ 83/ กรกฎาคม 2546--
-นท-