กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (15 ก.ย. 46) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างกรุงเทพมหานครกับตำรวจนครบาล เกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้สะพานลอยคนเดินข้าม โดยมีนายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ นายธวัชชัย กำลังงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสมโภช ศรีประไหม ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พล.ต.ต.วิโรจน์ จันทรังษี รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หัวหน้ากลุ่มเขตทั้ง 6 กลุ่มเขต ผู้แทนการไฟฟ้านครหลวง และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีสะพานลอยคนเดินข้ามประมาณ 600 แห่ง ซึ่งจากรายงาน พบว่าเป็นสะพานลอยฯ ที่มีราวสะพานทึบ 162 แห่ง ซึ่งกรุงเทพมหานครมีแนวคิดจะปรับปรุงสภาพทางกายภาพของสะพานลอยฯ ดังกล่าว โดยยกระดับพื้นสะพานลอยฯ และปรับเปลี่ยนราวสะพานเป็นแบบลูกกรงเหล็กซึ่งสามารถมองผ่านได้ รวมทั้งจะปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างบนสะพานฯ ตัดแต่งต้นไม้บริเวณใกล้เคียงที่อาจบดบังทัศนวิสัยการมองไปยังสะพาน และห้ามติดตั้งป้ายต่างๆ บนสะพานลอยฯ ยกเว้นป้ายบางประเภทที่หน่วยงานราชการขออนุญาตติดตั้งเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้จะให้เขตต่างๆจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ รวมทั้งอปพร.ของเขต ช่วยตรวจตราเป็นหูเป็นตาเสริมการดำเนินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และให้เขตประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนที่มีบ้านเรือน หรือประกอบอาชีพบริเวณใกล้เคียงสะพานลอยฯ ช่วยสอดส่องดูแล และแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ด้วย
สำหรับจุดเสี่ยงที่อาจเกิดอาชญากรรม เช่น อาคารร้าง ซึ่งได้ให้เขตดำเนินการตรวจตราและเฝ้าระวังไปแล้วนั้น ตนได้กำชับให้ผู้อำนวยเขตกวดขันให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ดำเนินการดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง และประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในสถานที่นั้นๆ เพื่อเข้าไปตรวจสอบไม่ให้สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งมั่วสุม หรือแหล่งกบดานของมิจฉาชีพได้
ด้านรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ทางตำรวจจะเพิ่มกำลังสายตรวจ รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการตรวจ และอาจมีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นบนสะพานลอยฯ หากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นจะได้สืบหา คนร้ายโดยดูจากเทปบันทึกภาพได้ และจะได้ประสานขอความร่วมมือประชาชนในบริเวณใกล้เคียงให้ช่วยแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบด้วยว่า มาตรา 79 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประชาชนทุกคนสามารถดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการชิงทรัพย์ หรือการกระทำความผิดทางเพศได้ จึงขอให้ ผู้พบเห็นเหตุการณ์ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาจมีกำลังไม่เพียงพอที่จะเฝ้าระวังได้ตลอดเวลา โดยการร่วมกันจับกุมผู้กระทำผิดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป--จบ--
-นห-