Relax In Thailand: พาน้องเที่ยวบางกอก

25 Sep 2003

เสียงเจื่อยแจ้วของบรรดาเด็ก หลายสิบคน ดังแว่วตามสายลมที่เฉื่อยฉิวยามอรุณรุ่ง ของวันเสาร์ ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วันนี้อากาศแจ่มใส ท้องฟ้าเปิด ฉันกับเพื่อนเดินไปตามเสียงนั้นเรื่อยๆ จนถึงหน้า ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี เห็นเด็ก 4 -5 คน นั่งจับกลุ่มคุยกัน เด็กผู้ชายบางคนยังวิ่งไล่จับกัน เหงื่อโทรมกาย บางคนยืนจับกลุ่มคุยกัน เด็กทุกคนในที่นั้นสวมเสื้อสีขาวละลานตา ด้านหลังเสื้อเขียนว่า " AACP พาน้องเที่ยวบางกอก " ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ทุกคนมาร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการ " อลิอันซ์ ซี.พี. พาน้องเที่ยวบางกอก " ของบริษัท อยุธยาอลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนในโครงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่อยู่รอบนอก ซึ่งเป็นเด็กที่ด้อยโอกาส ได้มีโอกาสท่องเที่ยวสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งฉันเองพลอยได้มีโอกาสไปด้วย

ช่วงก่อนที่จะเริ่มต้นการเดินทาง ฉันได้มองผ่านรั้วเข้าไปข้างในสวนลุมพินี ที่กินบริเวณกว้าง สุดลูกหัวลูกตา อันปลกคลุมด้วยต้นหูกวาง หางนกยูง ปาล์ม สน และอื่นๆ ซึ่งแต่ละต้นล้วนแล้วแต่มีอายุเกินกว่า 30 ปี บนผืนดินถูกคลุมด้วยผืนหญ้าเขียวขจี พื้นที่บางส่วนของสวนบ่อน้ำที่ให้ความชุ่มชื้น พื้นที่บางส่วนเป็นลานกว้าง สำหรับให้ผู้คนในย่านนั้นได้มีสถานที่ออกกำลังกาย เช่นเดียวกับวันนี้ มีกลุ่มคนจำนวนหลายสิบคนมารำมวยไทเก๊ก ซึ่งเป็นการออกกำลังกายของชาวจีน

บางคนที่ไม่ได้มารำมวยจีน ก็จะมาวิ่งกันแบบครอบครัว มีพ่อแม่ลูก หนุ่มสาว เด็ก ผู้สูงอายุ มาวิ่งออกกำลังกายรอบๆ ทำให้สวนลุมพินีในยามเช้า มีชีวิต

สภาพความเป็นสวนลุมพินี ในปัจจุบัน คงไม่หลงเหลือความเป็น " ทุ่งศาลาแดง " ที่เคยถูกใช้เป็นที่แข่งขัน วัว ควาย ม้า แข่งว่าว หลงเหลือยู่เลย…..

เด็ก ๆ ขึ้นรถได้แล้วค่ะ … เสียงไกด์ และทีมงานจาก อยุธยาอลันซี.พี. ช่วยกันจัดให้เด็กขึ้นบนรถ เพราะถึงเวลาที่ต้องเดินเริ่มการเที่ยวบางกอกกันแล้ว เมื่อทุกคนขึ้นรถเรียบร้อยแล้ว รถก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากสวนลุมพินีอย่างช้าๆ เข้าสู่ถนนสาธร ไกด์ได้แนะนำทีมงาน และน้องๆ ที่ร่วมขบวนก็พากันแนะนำตัวทีละคนทีละโรงเรียนกว่าจะเสร็จ รถก็แล่นมาเกือบถึงสี่แยกถนนสาธร กับ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เสียงน้องคนหนึ่งในรถก็บอกเพื่อนว่า ดูโน่นสิ !! … รถไฟลอยฟ้า ว่าแล้วก็ชี้ให้เพื่อนๆ ดู เด็กบางคนบอกว่าอยากขึ้นจังเลย …จะเหมือนกับรถไฟที่เคยนั่งหรือเปล่านะ….บางคนพูดเหมือนกระซิบ

หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นในขณะนั้นฟังดูแล้วทำให้ต้องนึกขอบคุณ บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. แทนน้องเหล่านี้ ที่ทำให้เขาได้เห็นความแปลงใหม่จากสังคมที่พวกเขาไม่เคยเห็น รถได้ผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ มากมาย อาทิ สถานทูต อังกฤษ สถานทูตพม่า สภาพสองข้างทางของถนนสาธร กลายเป็นตึกรามสูงตระหง่าน บ่งบอกถึงความเจริญ ของย่านชุมชุนเมือง และเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ไม่มีภาพของบ้านเรือนไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยให้เห็นเลย

รถค่อยเคลื่อนไปตามถนนอย่างช้า ตามสภาพการจราจร รถขึ้นสะพานตากสิน เพื่อที่จะข้ามแม้น้ำเจ้าพระยา สายน้ำที่เคียงคู่วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ มองตามสายน้ำที่ทอดยาวตัวไกลสุดตา บ้านเรือนสองฝากฝั่งส่วนใหญ่กลายเป็นตึกสูงต่ำสลับกัน ขนาบข้างสายน้ำแห่งนี้ บ้านเรือนไม้ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จะมีบางหลังเท่านั้นที่ยังคงสภาพความเป็นบ้านไม้แบบไทยๆ ซึ่งหลังไหนที่ยังอยู่มีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา รถแล่นข้ามมายังฝั่งธนบุรี ภาพความอุดมสมบูรณ์ด้วยสวนผลไม้ นานาชนิด เลือกสวนไร่นา พื้นที่โดยส่วนใหญ่ ถูกแทนที่ด้วยตึกรามสูงลิบ บ้านไม้ทรงไทย หายไป กลายเป็นบ้านตึกทันสมัยหลากหลายรูปแบบมาแทนที่ ถึงแม้จะมีบ้านเรือนบางหลังยังคงรูปแบบบ้านไทยสมัยก่อน บริเวณบ้านมีส่วนผลไม้ แต่ขนาดของพื้นที่ก็มีขนาดย่อมไม่กว้างขวางเฉกเช่นสมัยก่อน รถยังคงแล่นต่อไปเรื่อยๆ ไม่เร็วนัก ทำให้เราได้เห็นสภาพความเปลี่ยนแปลงของฝั่งธนบุรี

ขณะกำลังเพลิดเพลิน กับการชมทัศนียภาพสองข้างทาง เริ่มสังเกตเห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่ในย่านนี้ ทำไมถึงแต่งกายไม่เหมือนคนทั่วไป คือ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย จะนุ่งผ้าโสร่งหลากสี บ้างเป็นดอก บ้างเป็นลายตัดกัน ใส่เสื้อสีขาว สวมหมวกสีขาวรูปทรงคล้ายกระทงแต่เรียบสวยแปลกตาดี แล้วก็ถึงบางอ้อเมื่อไกด์บอกว่า เราถึง ชุมชนสี่แยกบ้านแขกกันแล้ว กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ จะเรียกตัวเองว่า เป็น " ชาวไทยอิสลาม" หรือ " แขกเจ้าเซ็น" เพราะนับถือลัทธิเจ้าเซ็น ปัจจุบันแขกกลุ่มนี้ยึดอาชีพช่างทำทองเป็นส่วนใหญ่ และในบริเวณใกล้กันจะ มีสถานที่สำหรับบำเพ็ญกิจการทางศาสนาของแขกเจ้าเซ็น ก็คือ " กุฎ" เช่น กุฎีริมคลองบางหลวง กว่าจะหายสงสัย เราก็ข้ามสะพานพุทธ หรือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า มายังฝั่งกรุงเทพฯ

สะพานพุทธ เป็นสะพานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างฝั่งธนบุรี กับ ฝั่งกรุงเทพฯ

และเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และพระราชวงศ์จักรี ตัวสะพานทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากบริเวณปลายถนนตรีเพชรฝั่งพระนคร ไปเชื่อมกับพื้นที่ด้านใต้ของวัดประยุรวงศาวาสฝั่งธนบุรี เป็นสะพานโครงเหล็ก 3 ตอน ตอนกลางยกขึ้นเปิดเป็นช่องกว้าง 60 เมตรให้เรือผ่านได้ ทางลาดขึ้นสะพานฟากตะวันออกทำเป็นโค้ง 2 ทางคล้ายรูปเกือกม้า ที่กลางโค้งของทางลาดเป็นที่อนุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ 2474

จากสะพานพุทธ ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ก็เข้าสู่ปากคลองตลาด ตลาดกลางสินค้าเกษตร ผักผลไม้นานาชนิด เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองหลวง ที่เป็นเสน่อย่างหนึ่งของตลาดปากคลอง คือตลาดดอกไม้นานาพันธุ์ ที่นี่จะมี ดอกไม้สวย สด ใหม่ และราคาถูกมาก ซึ่งใครที่ตั้งใจมาซื้อดอกไม้แล้วละก็ รับรองไม่ผิดหวัง ตลอดสองข้างทางที่รถแล่นผ่าน เหมือนกับว่าเราได้เดินเข้าไปยังอุทยานดอกไม้ก็ไม่ปาน ดอกไม้นานาพันธุ์ หลากหลายสีสันงดงานแข่งกันเบ่งบาน โชว์ความสวยงามต้อนรับการมาของบรรดาพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เรียกว่าซื้อกันได้ทั้งวันทั้งคืนหรือจะเรียกว่าเป็นสวนดอกไม้ที่เปิดให้ชมได้ตลอดทั้งวันทั้งคืนก็ว่าได้

มัวแต่ชื่นชมดอกไม้ นานแค่ไหนไม่รู้ ได้ยินเสียงไกด์บอกว่าถึงวัดโพธิ์แล้ว ให้ทุกคนลงรถเพื่อที่จะได้เข้าไปชมในบริเวณวัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สองข้างฟากประตูวัดมีรูปปั้นยักษ์ขนาดใหญ่ยืนเฝ้าประตูเหมือนคอยระแวดระวังไม่ให้มีอันตรายเข้ามายังบริเวณวัด เดินตามขบวนกันเข้าไปข้างใน สิ่งที่เห็นสะดุดตาสิ่งแรกคือ องค์พระมหาเจดีย์ 4องค์ ตั้งเรียงกันอยู่ เป็นกลุ่ม ไกด์บอกว่าเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 1- 4 ซึ่งความแปลกขององค์พระเจดีย์ที่แตกต่างจากเจดีย์อื่นๆ ที่เคยเห็นมาคือ ลวดลายที่ประดับองค์พระเจดีย์เป็นดอกไม้หลากสีสัน นับไม่ได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ขนาดเล็กใหญ่สลับ ซ้อนกัน สวยงามตระการตา เจ้าหน้าที่ผู้นำชมวัด เล่าให้ฟังว่า วัดโพธิ์ เป็นวัดลูกผสมระหว่างวัฒนธรรมไทย และวัฒนะธรรมจีน เข้าด้วยกัน สิ่งที่สังเกตได้คือ จะเห็นว่าจะมีรูปปั้นตุ๊กตานักรบจีนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ข้างประตูทุกบานในบริเวณวัด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนนักรบ ที่จะคอยปกปักรักษาวัดโพธิ์ให้พ้นจากอันตรายนั่นเอง

เดินต่อไปเรื่อยๆ จะเห็นรูปปั้นฤษีดัดตนในท่าต่างๆ อยู่ตามใต้ต้นไม้ บ้างที่ทำเป็นสวนส่วนตัวของฤษีที่มาชุมนุมกัน แล้วพากันดัดตนในท่านที่ต่างกัน ดูแล้วก็รู้สึกแปลกดี เจ้าหน้าที่บอกว่าที่มีรูปปั้นฤษีดัดตนมากๆ เพราะที่วัดโพธิ์ ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวม ของความรู้ด้านการแพทย์โบราณ ซึ่งมีทั้งเป็นโรงเรียนสอนนวดแผนโบราณ และ เป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพร แผนโบราณ ไม่ว่าจะเป็นยาอม ยาลม ฯลฯ ที่ขึ้นชื่อ และจำได้แม่นเห็นจะเป็น ยาหอมวัดโพธิ์ เพราะมีคนแก่เอาไปขายเยอะมาก นอกจากนี้สิ่งที่น่าอัศจรรย์อีกอย่างเมื่อได้เข้ามาเที่ยวที่วัดโพธิ์ คือ ภายในวิหาร พระนอน มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ เหลืองอร่าม ประดิษฐานอยู่ ที่ฝ่าพะบาท แต่ละข้างมีลวดลาย ประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ เด็กๆ ตื่นตาตื่นใจในความงาม ขององค์พระ นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัด ยังมีสิ่งที่สวยงานควรแก่การอนุรักษ์ไว้อีกหลายอย่างด้วยกัน เช่น หอพระไตรปิฎก พระระเบียง และศาลาภาพ ที่แสดงถึง ความรุ่งเรือง ของวรรณคดีไทยเรื่อง " ลิลิตตะเลงพ่าย" พระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสส เมื่อครั้งทรงผนวช เราใช้เวลาในการชมสถานที่ต่างๆ ในวัดโพธิ์เพียง 30 นาทีเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายที่ที่จะต้องไป ถึงเวลาต้องไปกันต่ออีกแล้ว กลับขึ้นรถ แล้วไปต่อกันถึงวัดพระแก้วเวลาล่วงไป 11 โมงกว่า ไกด์บอกว่าเรามีเวลาอยู่ที่วัดพระแก้วประมาณ 40 นาที ทุกคนขมีขมันลงจากรถ เพราะกลัวว่าจะชมสถานที่ต่างๆ ในวัดพระแก้วไม่ทั่ว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เมื่อวันวาน กับวันนี้ ความงามสถาปัตยกรรม ปฎิมากรรม และองค์พระแก้วมรกตไม่ได้แตกต่างกันกันเลย เพียงแต่วันนี้ฉันได้รับความรู้มากขึ้น การมาเที่ยววัดพระแก้วในวันนี้ ได้มีโอกาสทราบถึงที่มาของวัดว่า วัดพระแก้วถูกสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงสร้างกรุงเทพมหานครฯ เป็นราชธานี ในช่วงปี 2325 ได้ไปอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร มาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว ซึ่งก่อนที่จะอัญเชิญมาอยู่ที่วัดพระแก้ว ได้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม และในปี 2327 ได้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกรต มาจากวัดอรุณ อยู่ที่วัดพระแก้วจนถึงปัจจุบันนี้ ฉันได้ทราบถึงความเป็นมาของ พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร อีกว่า เมื่อ ปี พ.ศ. 1977 ฟ้าผ่าเจดีย์องค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย ได้ค้นพบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ชาวเมืองเชียงรายก็คิดว่าเป็นพระพุทธรูปธรรมดา จึงได้นำไปไว้ในวิหารในวัดแห่งหนึ่ง ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองหุ้มทั่วองค์พระนั้น กะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เจ้าอาวาสวัดแห่งนั้นได้เข้าเห็นว่า เป็นแก้วสีเขียวงาม

จึงแกะต่อไปทั้งองค์ จึงทราบว่า เป็นพระพุทธรูปแก้วมรกต บริสุทธิ์ทั้งองค์ มีหน้าตักกว้าง 48.3 ซม. สูงทั้งฐาน 66 ซม. ชาวเมืองเชียงรายและใกล้เคียง ต่างพากันมากราบไหวบูชา ต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่ ไปอัญเชิญมาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ ขณะที่ไปรับเสด็จพระมณีมหารัตนปฏิมากร ช้างที่เชิญเสร็จฯ เกิดตกใจวิ่งตื่นไปยังเมืองลำปาง ครวญช้างพยามเล้าโลมให้หายตกใจแล้วเดินทางต่อ พอมาถึงทางแยกที่จะไปเมืองเชียงใหม่ ช้างก็ตกใจตื่นวิ่งไปทางเมืองลำปางอีก ถึงแม้ว่าเปลี่ยนช้างใหม่กี่ครั้งก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกครั้ง เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงให้อัญเชิญไปไว้ที่วัดในนครลำปาง ซึ่งปัจจุบันเรียกวัดนี้ว่า " วัดพระแก้วดอนเต้า " นานถึง 32 ปี

ต่อมาเมื่อปี 2011 พระเจ้าติโลกราชได้ครองเมืองเชียงใหม่ ต้องการอาราธนามาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ จึงสร้างพระอารามราชกูฏเจดีย์ถวาย แล้วสร้างหอพระแก้วประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่พยายามจะทำพระวิหารที่ไว้พระแก้ว ให้เป็นปราสาท แต่หาสมประสงค์ไม่ ฟ้าก็ผ่าปราสาทที่สร้างขึ้นหลายครั้ง จึงได้เชิญพระแก้วฯ มาไว้ในพระวิหาร มีซุ้มจารนำอยู่ในผนังด้านหลังแทน สำหรับตั้งพระแก้ว ฯ โดยมีเครื่องประดับอาภรณ์บูชาต่างๆ แทนบานปิดดังตู้เก็บรักษา เปิดออกให้คนทั้งปวงนมัสการเป็นคราวๆ พระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่นานถึง 84 ปี

ต่อมาในปี 2107 พระ เจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ได้อาราธนาไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ครั้งปี พ.ศ. 2321 เกิดสงครามขึ้นในระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นจอมทัพยกทัพขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ชนะจึงได้เชิญพระแก้วมรกตกับพระบางมายังกรุงธนบุรี อีกครั้ง พร้อมกับทรงสร้างเครื่องถวายสำหรับเปลี่ยนตามฤดูกาลต่างๆ ส่วนพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตนั้นกระทำกันปีละ 3 ครั้ง

สำหรับภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากจะมีพระแก้วมรกตแล้ว ยังมี โบราณวัตถุล้ำค่า อาทิ บุษบกทองคำทรงพระแก้วมรกต ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1

, บานทวาร ( ประตู ) ประดับมุก , พระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศล้านภาลัย , พระสัมพุทธพรรณี เป็นพระปางสมาธิหล่อกะไหล่ทอง พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร 10 พระองค์ ที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มทองคำ และสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่เมืองไทย อดไม่ได้ที่จะต้องแวะมาที่วัดพระแก้ว คือ จิตกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ เป็นภาพไตรภูมิในพระพุทธศาสนา คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ นอกจากนี้ยังมี ภาพของพุทธประวัติ ที่สวยงาม ส่วนด้านนอกระเบียงรอบพระอุโบสถจะพบภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์

มาถึงตอนนี้ดูทุกคนเริ่มหมดเรี่ยวแรง เพราะท้องเรื่องส่งเสียง บอกว่าหิวแล้ว …. แวะรับประทานอาหารกลางวันกันก่อน ที่จะเดินทางเที่ยวในช่วงบ่ายกันต่อ….. ได้ทานอาหารกันเสร็จสรรพ เริ่มมีแรง เสียงพูดคุยกัน ของเด็กๆ ก็ดังขึ้น สีหน้าสดชื่น ทุกคนเดินไปขึ้นรถคันเดิมที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ จอดคอยที่สนามหลวงใกล้กับธรรมศาสตร์ ต้องเดินทางกันต่อแล้ว หนังท้องตึง หนังตาหย่อน แอร์เย็นๆ บนรถ ทำให้อยากหลับ แต่ก็หลับไม่ลงเพราะอดที่จะมองทิวทัศของสองข้างทางที่ผ่านไปไม่ได้

พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นสถานที่ต่อไปในการเที่ยวบางกอกในวันนี้

ประตูของพระที่นั่งวิมานเมฆ เปิดรอรับการมาของพวกเรา และบรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างชาติ

ต้องนำรถไปจอดที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ ก่อนที่ทุกคนจะเดินต่อเข้าไปชมพระที่นั่ง ลงจากรถได้ รีบเดินตามถนนที่ทอดยาวไปสุดตา สองข้างทางขนาบด้วยต้นหางนกยูง คล้ายกับต้องเดินเข้าไปในอุโมงค์ บางที่ ที่ใบไม้ไม่หน้ามากแดดส่องลงมาถึงพื้นได้ เดินไปได้เพียงนิดเดียวก็ถึงทางแยกที่จะต้องเข้าไปชมพระที่นั่งกันแล้ว

พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นพระที่นั่งองค์แรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นการถาวรในบริเวณวังสวนดุสิต เมื่อพุทธศักราช 2443 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองซึ่งเป็นไม้ที่มีราคาแพงและหายากยิ่ง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมงดงามประณีตเป็นเลิศจนกล่าวได้ว่าเป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้สักทองหลักใหญ่ที่สุดในโลก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทับอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆนี้จนกระทั่งการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถานเสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช 2449 จึงได้ทรงย้ายไปประทับที่พะที่นั่งอัมพรสถานตั้งแต่นั้นมา และเมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งวิมานเมฆก็ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลาและถูกทิ้งร้างเป็นเวลาหลายสิบปี

จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2525 ในมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซ่อมรักษาพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นสมบัติของชาติสืบไป

ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวร จัดแสดงศิลปะวัตถุและโบราณวัตถุล้ำค่าส่วนพระองค์ ตลอดจนเครื่องใช้ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชม

โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.30- 16.00 น. บัตรราคา 50 บาท

สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เด็ก 20 บาท

เราใช้เวลาในการชมความงามของพระที่นั่งวิมานเมฆเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งยังดูได้เพียงส่วนของพระที่นั่งวิมานเมฆเท่านั้น ซึ่งจริงแล้วในบริเวณนั้นยังมีสถานที่ที่น่าชมอีกหลายแห่ง เช่น พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พิพิธภัณฑ์รถม้า และบ้านทรงไทย และอีกมากมาย ฉันคิดเอาไว้ว่าจะหาเวลาจะกลับมาเที่ยวที่นี่อีกสักครั้ง ซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็นครึ่งวันก็เป็นได้ แต่ตอนนี้ต้องไปต่อเสียงแล้ว

เดินทางกันต่อที่วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า " วัดเบญจ" เป็นสถานที่สุดท้ายของการ ทัวร์บางกอกในวันนี้ วัดเบญจมบพิตร ฯ ถือว่าเป็นวัดหลวงที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมา แต่ความโดดเด่นของวัดเบญจฯ คือพระอุโบสถที่สวยงาม สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ซึ่งไกด์เล่าว่า วัดเบญจ สันนิฐานว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสมัย กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงวัดโบราณหลังเล็กๆ ที่เรียกกันว่า " วัดแหลม" เนื่องจากที่ตั้งของวัดเบญจ ฯ ตั้งอยู่ที่ปลายแหลมของสวน ที่เป็นมุมติดกับทุ่งนา ซึ่งต่อมาในช่วงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมาตั้งรับศึกเจ้าอนุวงศ์ ณ บริเวณ นี้ หลังจากที่ปราบขบถได้แล้วจึงได้มาปฏิสังขรณ์วัดใหม่

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ 5 หลังจากที่มีดำหริให้สร้างพระราชวังดุสิต จึงได้ทรงให้มีการบูรณะวัดใหม่ และให้ สมเด็จพระบรมมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ปรับปรุงวัดใหม่ให้มีความใหญ่โต และสั่งหินอ่อนจากอิตาลี มาสร้างพระอุโบสถ และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร"

ให้เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับพระตำหนักสวนจิตลดารโหฐาน อยู่เคียงทำเนียบรัฐบาลตั้งเคียงกับสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากพระบรมรูปทรงม้า วัดนี้นอกจากจะมีความงามตามสถาปัตยกรรมภายนอก ซึ่งเป็นหินอ่อนทั้งหลังแล้ว ศิลปะการตกแต่งภายในวัด ก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะจิตกรรรมฝาผนังของวัด ก็เป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจ ที่มิใช่เขียนด้วยเรื่องราวตามพระไตรปิฎกเท่านั้น แต่จิตรกรรมฝาผนังที่นี่ ยังเขียนถึงพระจริยวัตรของพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพสกนิกร ของพระองค์เองอีกด้วย

วันนี้เป็นวันที่ฉันว่าคนกรุงเทพฯบางคนยังไม่ได้มีโอกาสมาเที่ยวแบบนี้ อย่างที่ฉันกับน้องๆ ได้มีโอกาสเห็นความสวยงาม ที่ควรอนุรักษ์ของสถานที่สำคัญที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้เราได้เรียนรู้ได้ศึกษา และเขารู้หรือไม่ว่าจริงแล้วกรุงเทพฯ มีสถานที่ ที่น่าเที่ยวมากมายหลายแห่ง ไม่ใช่เพียงแค่ที่ฉันและน้องๆที่ร่วมทิปเดียวกันในวันนี้ ฉันมีความสุขมาก และคิดว่าน้องๆ เองก็คงรู้สึกไม่แตกต่างจากฉัน

ต้องขอขอบพระคุณ บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ให้โอกาสฉันและน้องๆ ทุกคนได้มีโอกาสสถานที่ต่างๆ ที่งดงาม ที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ให้

เราควรช่วยกันอนุรักษ์ สถานที่เหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อๆไปได้ชื่นชม และเรียนรู้ต่อไป …

--Thailand Insurance ฉบับที่ 49/ กรกฎาคม 2546--

-นท-