กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
ศาสตราจารย์ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดการสัมมนาอาเซมในการเสริมสร้างความช่วยเหลือและความร่วมมือนโยบายด้านสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
วานนี้ (1 ก.ย.) เวลา 09.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา อาเซมในการเสริมสร้างความช่วยเหลือและความร่วมมือนโยบายด้านสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ (ASEM Seminar on enhancing support and cooperation for strengthening social policies to assist trafficked women and children)
ศาสตราจารย์ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดการสัมมนากล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงและเด็กที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นสิ่งที่คุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่งประเทศไทยและ ผู้ร่วมจัดงานจากประเทศสวีเดนและฟิลิปปินส์ มีจุดมุ่งหมายในการจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ ระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและองค์การพัฒนาเอกชน ในกระบวนการฟื้นฟู การส่งตัวกลับประเทศ การปรับตัวคืนสู่สังคมของเหยื่อการค้ามนุษย์ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปในการเพิ่มขีด ความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซมเพื่อต่อต้านการค้าหญิงและเด็ก รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการด้านกฎหมายต่อต้าน การค้าหญิงและเด็ก นอกจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการช่วยเหลือ การส่งตัวกลับภูมิลำเนาเดิม การพัฒนาอาชีพของผู้ตกเป็นเหยื่อให้กลับคืนและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดิมได้ เพื่อตัดวงจรไม่ให้ผู้เสียหายต้องกลับมาตกเป็นเหยื่อซ้ำอีกด้วย รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ และจัดให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า การสัมมนาอาเซมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่ง ภายใต้แผนปฏิบัติการโครงการ ASEAM Action Plan to Combat Trafficking in Persons, Especially Women and Children จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 3 กันยายน 2546 สำหรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิก ASEM รวมทั้งสิ้น 150 คน การจัดสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีสำหรับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกอาเซมทั้งจากยุโรปและเอเชียที่จะได้มีการนำเสนอตัวอย่างกรณีศึกษาที่ประสบผลสำเร็จแล้ว ยังจะเป็นการให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศสมาชิกอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยก็จะสามารถนำข้อเสนอแนะจากที่ประชุมมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด ทั้งนี้เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยถูกมองจากสังคมโลกว่าเป็นประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางของการค้าหญิงและเด็ก--จบ--
-สพ-