(ต่อ1) สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2546

26 May 2003

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 - 2550) ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ

ประเทศไทยภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบจากต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบราชการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การสร้างความเป็นเลิศของระบบราชการไทยให้รองรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนั้น จำเป็นที่จะต้องยึดหลักประการสำคัญ คือ การบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ของการพัฒนาระบบราชการในช่วงระยะปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2550 ว่า "พัฒนาระบบราชการไทยให้มีความเป็นเลิศ สามารถรองรับกับการพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและประโยชน์สุขของประชาชน"

1. เป้าประสงค์หลักของการพัฒนาระบบราชการไทย 4 ประการ

1.1 พัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น

1.2 ปรับบทบาท ภารกิจ และขนาดให้มีความเหมาะสม

1.3 ยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานให้อยู่ในระดับสูงเทียบเท่าเกณฑ์สากล

1.4 ตอบสนองต่อการบริหารปกครองในระบอบประชาธิปไตย

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย

ภายใต้วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาระบบราชการไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนและเชื่อมโยงกัน ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน ประกอบด้วย 9 มาตรการ คือ

1) วางเงื่อนไขให้ส่วนราชการต่าง ๆ นำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง

2) ให้แต่ละส่วนราชการกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพมาตรฐานในการให้บริการและการพัฒนาองค์การ

3) ปรับเปลี่ยนระบบการควบคุมภายในของส่วนราชการให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมก่อนดำเนินงาน

4) ปรับปรุงระบบการประเมินผลการดำเนินงาน โดยจัดให้มีการเจรจาและทำข้อตกลงว่าด้วยผลงานประจำปี ให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงานรายปีกับหัวหน้าส่วนราชการไว้เป็นการล่วงหน้า รวมทั้งให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามข้อตกลงดังกล่าวทุกสิ้นปี และถือเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งของการให้เงินรางวัลประจำปีแก่ส่วนราชการ

5) ให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน/โครงการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ

6) การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และตัวชี้วัด ของแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน การจัดทำข้อตกลงว่าด้วยผลงาน รวมถึงการทบทวน ติดตามและประเมินผลนั้น ให้มีกระบวนการปรึกษาหารือ การสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ/หรือการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง

7) การปรับปรุงขั้นตอนและแนวทางการให้บริการประชาชนนั้น ให้แต่ละส่วนราชการเสนอแผนในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของทางราชการที่ล้าสมัย ไม่มีความจำเป็น หรืออาจเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการประชาชน

8) วางกติกาเพื่อให้มีการแข่งขันขึ้น โดยพยายามลดการผูกขาดของหน่วยงานราชการในการเป็นผู้ให้บริการสาธารณะเองลง และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน หรือองค์กรพัฒนาไม่แสวงหากำไรและองค์กรประชาสังคม สามารถคัดค้านและเข้ามาดำเนินการแข่งขันได้ (Contestability)

9) ให้มีการจัดทำแนวทางและคู่มือการบริหารราชการที่ดี เพื่อใช้ประกอบในการชี้แจงทำความเข้าใจเผยแพร่และฝึกอบรม และให้คำปรึกษาแนะนำแก่ส่วนราชการต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในฐานะเป็นเครื่องมือในการประเมินตนเอง (Self - assessment) ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

ยุทธศาสตร์ 2 : การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ

1) มุ่งเน้นการจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในเชิงบูรณาการ โดยให้มีลักษณะแบบเมตริกซ์ ครอบคลุมทั้งในส่วนของการวางยุทธศาสตร์และการนำยุทธศาสตร์ไปปฎิบัติ

2) ให้มีการทบทวนการจัดโครงสร้างองค์การของกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อรองรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และยุทธศาสตร์การปฏิบัติงาน รวมถึงพยายามปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว

3) ทบทวนปรับปรุงโครงสร้าง และพัฒนาระบบและรูปแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เพื่อให้จังหวัดเป็นองค์การที่มีสมรรถนะสูง สามารถนำวาระแห่งชาติและนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดสัมฤทธิ์ผล แก้ไขปัญหาและพัฒนาในระดับพื้นที่อย่างมีบูรณาการควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการอำเภอ เพื่อให้เป็นจุดรวม (Outlet) ให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

4) ทบทวนระบบการบริหารบุคคลในราชการบริหารส่วนภูมิภาค เพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลายในการจัดรูปแบบใหม่ของภูมิภาค และหลักการบริหารจัดการระดับจังหวัดแนวใหม่ รวมตลอดถึงสร้างความสำนึกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับพื้นที่มีมโนธรรม สุจริต มีจิตใจพร้อมบริการประชาชน (Citizen - focused) และสามารถทำงานในสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์การใหม่

ยุทธศาสตร์ 3 : การรื้อปรับระบบการเงินและการงบประมาณ ประกอบด้วย 8 มาตรการ คือ

1) ปรับปรุงกระบวนการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินใหม่

2) ปรับเปลี่ยนระบบการงบประมาณให้สอดรับกับการบริหารราชการแผ่นดินแนวใหม่

3) ให้มีการวางยุทธศาสตร์/แผนงานการพัฒนาเขตพื้นที่หรืออนุภูมิภาคในเชิงบูรณาการ และดำเนินการจัดสรรทรัพยากรในลักษณะแบบอิงพื้นที่ โดยให้มีการวางหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ชัดเจน

4) เปิดโอกาสให้แต่ละส่วนราชการทำความตกลงเป็นการล่วงหน้าเพื่อสามารถเก็บเงินเหลือจ่ายไว้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาองค์การหรือฝึกอบรมข้าราชการได้ โดยเริ่มต้นในบางแผนงาน/โครงการ หรือกิจกรรม ที่มีความชัดเจนและสามารถวัดผลงานได้อย่างเป็นรูปธรรมก่อน

5) พิจารณาความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและแปลงสินทรัพย์ของส่วนราชการที่มีอยู่ให้เป็นทุนโดยอาจให้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย (Capital Charge) ในรูปแบบต่าง ๆ

6) ให้แต่ละส่วนราชการจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินรายเดือนหรือรายไตรมาสของแผนงาน/โครงการต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำงบดุลและรายงานทางการเงินให้เป็นไปอย่างถูกต้องและทันการณ์ เพื่อประโยชน์ในการโอนเงินผ่านทางระบบอิเล็กโทรนิกส์เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดของการทำฎีกาเบิก - จ่าย และการควบคุมทางการเงิน

7) เร่งปรับปรุงระบบบัญชีของส่วนราชการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยให้สามารถคำนวณต้นทุนในการจัดบริการสาธารณะได้

8) วางระเบียบเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละส่วนราชการสามารถดำเนินกิจกรรมบางอย่าง เพื่อหารายได้ของตนเองไว้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาองค์การและเสริมแรงจูงใจให้แก่บุคลากรในรูปของสวัสดิการ

ยุทธศาสตร์ 4 : การสร้างระบบบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนใหม่ ประกอบด้วย 7 มาตรการ คือ

1) เร่งสรรหาบุคลากรผู้มีความสามารถสูงหรือระดับหัวกะทิ เข้าสู่ระบบราชการ

2) พิจารณาความเป็นไปได้ของการนำระบบการเลือกสรรระบบเปิดที่เน้นหลักสมรรถนะการบริหารจัดการมาใช้กับผู้บริหารระดับสูงทุกตำแหน่ง

3) ทบทวนและปรับเปลี่ยนระบบการจำแนกตำแหน่ง และค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ การแข่งขัน ความขาดแคลน และการบริหารราชการแนวใหม่

4) เพิ่มผลิตภาพของข้าราชการ โดยให้มีการจัดทำเป้าหมายการทำงาน ขีดความสามารถ และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของแต่ละบุคคลอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงให้เข้ากับการสร้างแรงจูงใจ

5) ให้แต่ละส่วนราชการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรเชิงยุทธศาสตร์ โดยยึดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และวัตถุประสงค์ขององค์การ และขีดความสามารถที่จำเป็น (Competency - based Approach)

6) ปรับปรุงขีดสมรรถนะของศูนย์พัฒนาและโอนถ่ายบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งจัดให้มีตำแหน่งทดแทนหรือสำรองราชการขึ้นในระบบข้าราชการพลเรือนเพื่อประโยชน์ในการหมุนเวียน โอนย้ายและพัฒนาข้าราชการ

7) พัฒนากลไกและกระบวนการในการรักษาและปกป้องระบบคุณธรรมในวงราชการ รวมถึงการปรับปรุงระบบวินัย อุทธรณ์และร้องทุกข์ให้มีความเหมาะสม

ยุทธศาสตร์ 5 : การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ

1) สร้างรูปแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองของกลุ่มเป้าหมาย (Empowerment) ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในลักษณะของการเรียนรู้จากประสบการณ์ปฏิบัติจริง ๆ (Action Learning) ด้วยวิธีการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสร้างความรู้สึกผูกพันต่อพันธกิจที่จะนำไปสู่ระบบอนาคตที่พึงปรารถนาร่วมกัน การเรียนรู้การทำงานเป็นทีม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้วิธีคิดอย่างเป็นระบบ

2) เสนอแนะการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสนับสนุนทางด้านทรัพยากรของรัฐ การผลักดันในเชิงกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับเครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ

3) ให้แต่ละส่วนราชการจัดทำคำแถลงค่านิยมสร้างสรรค์ (Value Statement) ประกาศมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อลดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมถึงการรณรงค์และวัดผลระดับของการยอมรับและปฏิบัติตามค่านิยม มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม อย่างจริงจัง

4) สร้างการมีส่วนร่วมในการแสวงหากระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมใหม่ ที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบราชการ รวมทั้งระดมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดทำ และดำเนินยุทธศาสตร์ในการส่งเสริม และเผยแพร่กระบวนทัศน์ใหม่ ให้เป็นวาระแห่งชาติ

ยุทธศาสตร์ 6 : การเสริมสร้างระบบราชการให้ทันสมัย ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ

1) สนับสนุนให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพัฒนาตนเองให้เป็นองค์การสมัยใหม่ ที่สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ในการบริหารงาน การบริการ การเตือนภัยสาธารณะ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

2) ประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว โปร่งใสและซื่อสัตย์ ต่อผู้ใช้บริการ และเป็นศูนย์บริการออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ประชาชนได้ขอใช้บริการของรัฐได้ทุกเวลา

3) ควบคู่ไปกับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องส่งเสริมและกำหนดมาตรฐานการให้บริการของรัฐในระดับสำนักงาน ที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และรวดเร็ว ในรูปแบบของศูนย์บริการอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เช่นเดียวกับการใช้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ทางอินเทอร์เน็ต

4) ให้มีการศึกษาวิจัยและเสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และอนุบัญญัติที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

ยุทธศาสตร์ 7 : การเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบด้วย 6 มาตรการ คือ

1) กำหนดเงื่อนไขและแนวทางเพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการปฏิบัติราชการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม

2) วางหลักเกณฑ์ให้แต่ละส่วนราชการจัดให้มีระบบการปรึกษาหารือกับประชาชน การสำรวจความต้องการของประชาชน และ/หรือการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

3) ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชน (Citizen Advisory Board) โดยเฉพาะในระดับปฏิบัติการ (กรม/จังหวัด/อำเภอ)

4) ให้แต่ละส่วนราชการจัดให้มีอาสาสมัครภาคประชาชนเข้ามาร่วมทำงานกับข้าราชการ

5) ให้ทุกส่วนราชการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศที่มีความจำเป็นต่อการแสดงภาระรับผิดชอบ ความโปร่งใส และเปิดเผยเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ลงในเว็ปไซต์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวได้โดยง่าย

6) กำหนดให้ความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบราชการเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการบริหารที่ดีของส่วนราชการ

3. การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย

3.1 เงื่อนไขความสำเร็จ อาศัยปัจจัย ดังนี้

1) ภาวะผู้นำและความเป็นเจ้าของในการบริหาร การเปลี่ยนแปลง

2) การแก้ไขกฎหมายอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบราชการ

3) การเชื่อมโยงและบูรณาการสรรพกำลังของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบราชการ

4) การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบราชการให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ

3.2 เครื่องมือในการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ

1) การตราและบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารราชการที่ดี ตามมาตรา 3/1 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่หน่วยงานต่าง ๆ

2) การใช้วิธีสร้างแรงจูงใจในรูปของตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานปรับปรุงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการทำงาน

3) การสร้างกระแสแรงกดดันจากบุคคลภายนอก โดยเฉพาะสื่อมวลชน นักวิชาการ ธุรกิจเอกชนองค์กรประชาสังคมและประชาชน เพื่อเร่งรัดให้หน่วยงานปรับปรุงการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

4) การติดตามและประเมินผล โดยจัดทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

สำหรับภาคผนวก เป้าหมายการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 - 2550) ในช่วงปี 2546 - 2547 (สำหรับปี 2548 - 2550 จะกำหนดเมื่อมีการทบทวนและประเมินผลระยะครึ่งแผนเสร็จแล้ว

4. การลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ การลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ เพื่อประชาชน ดังนี้

1. การลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับมาตรา 3/1แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2550) และนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการปรับปรุงการปฏิบัติงานเพื่อให้การบริการของรัฐมีความสะดวก รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของประชาชนหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม แล้ว

2. เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี เห็นควรให้ทุกส่วนราชการพิจารณาและดำเนินการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนลง 30 - 50% จากที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน และให้มีผลในทางปฏิบัติก่อนเดือนตุลาคม 2546

3. ให้ส่วนราชการร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. เลือกกระบวนงานหลัก 3 - 5 กระบวนงาน ซึ่งเป็นงานที่ประชาชนใช้บริการมากมีผลกระทบกับประชาชนและเป็นงานที่ประชาชนร้องเรียนมาก เพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน ตามข้อ 2

4. ส่วนราชการที่มีงานบริการประชาชนแต่ยังไม่มีการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการมาก่อน ให้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ รวมทั้งต้องดำเนินการตามมาตรการนี้ด้วย

5. ในกรณีการให้บริการประชาชนที่มีความเชื่อมโยงกันหลายส่วนราชการให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานงานกับส่วนราชการดังกล่าวเพื่อร่วมกันปรับปรุงการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน ในรูปของศูนย์บริการร่วมด้วย

6. ส่วนราชการใดที่เห็นว่าได้ปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาไว้ดีแล้ว หรือไม่อาจลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการตามมาตรการนี้ได้ ให้ชี้แจงแสดงเหตุผลและพิสูจน์ให้เห็น โดยชัดแจ้งว่า ขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ ที่กำหนดไว้เดิมเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ให้มีการรับฟังความคิดเห็น ของผู้รับบริการด้วย

7. เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีอย่างทั่วถึง ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย เร่งรัดการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามมาตรการนี้ด้วย

8. นอกเหนือจากการลดขั้นตอนและระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้แต่ละส่วนราชการพยายามยกระดับคุณภาพ การให้บริการประชาชน โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบการอำนวยความสะดวก และฝึกอบรม และพัฒนาข้าราชการให้มุ่งเน้น ในการให้บริการประชาชน

5. มติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ กทภ. 2/2546 (4 เมษายน 2546)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ กทภ. 2/2546 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 ตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมีมติเห็นชอบในเรื่องด่วนที่สำคัญ รวม 8 เรื่อง ดังนี้

1. โครงการลงทุนระบบสารสนเทศท่าอากาศยาน (AIMS)

1.1 เห็นชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ดำเนินโครงการลงทุนระบบสารสนเทศท่าอากาศยาน (AIMS) ในวงเงิน 2,780 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยใช้เงินลงทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้น

1.2 ให้การจัดหาระบบสารสนเทศท่าอากาศยานดังกล่าวดำเนินการโดยให้ผู้เสนอระบบเป็นผู้ออกแบบติดตั้งระบบพร้อมอุปกรณ์ และทดสอบระบบ ตลอดจนปฏิบัติการภายหลังที่ได้ติดตั้งและพัฒนาระบบเรียบร้อยแล้วต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 ปี

2. โครงการลงทุนระบบสารสนเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการโครงการระบบสารสนเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมอบหมายให้ บทม. เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการจัดหาระบบ โดยใช้เงินลงทุนของ บทม. จากส่วนของผู้ถือหุ้นในวงเงิน 175 ล้านบาท

3. การจัดหาระบบสารสนเทศและระบบเอกซเรย์ในเขตปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เห็นชอบให้บทม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดหาระบบสารสนเทศ และระบบเอกซเรย์ในเขตปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิภายในวงเงินรวม 793 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนจากส่วนทุนของ บทม.

4. การขอดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เพื่อให้การดำเนินงานในเขตปลอดอากรในทางปฏิบัติมีความคล่องตัว และบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการมีเขตปลอดอากร โดยมอบให้รองประธานกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานในการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกร่างกฎหมาย ซึ่งสมควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับเขตปลอดอากร แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยตรงต่อไป

5. โครงการลงทุนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เห็นชอบโครงการลงทุนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้ง 7 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นดิน กิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กิจกรรมศูนย์ปฏิบัติการ กิจกรรมบริการลูกค้า และกิจกรรมที่เป็นส่วนกลาง ในวงเงินทั้งสิ้น 13,735.51 ล้านบาทโดยใช้เงินรายได้ของบริษัทในการลงทุน มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 -2548

6. โครงการลงทุนโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

6.1 เห็นชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ดำเนินโครงการโรงแรมท่าอากาศยานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาดำเนินการร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนทุนร้อยละ 60 30 และ 10 ตามลำดับ มีวงเงินลงทุน ระหว่างปี 2546 - 2552 จำนวน 2,728.54 ล้านบาท

6.2 เห็นชอบงบประมาณลงทุนประจำปี 2546 ของ ทอท. จำนวน 31.78 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าหุ้นสำหรับจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในโครงการโรงแรมท่าอากาศยาน

6.3 เห็นชอบให้บริษัทร่วมทุนที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการโรงแรมท่าอากาศยาน และจะมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการยกร่างระเบียบต่าง ๆ เป็นการเฉพาะของบริษัทร่วมทุน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการโรงแรมท่าอากาศยานเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและเป็น การวางระบบโครงสร้างการบริหารและการเงิน สำหรับเตรียมนำบริษัทร่วมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

7. โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

7.1 เห็นชอบให้ บทม. ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวงเงิน524.406 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยใช้เงินลงทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้น

7.2 ให้ บทม. ดำเนินการตามความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ห้องศูนย์สารนิเทศ และของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรื่อง ห้องพักเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ บทม. จะต้องจัดเตรียมไว้ภายในอาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป

8. การใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ในระยะต่อไป เห็นควรให้มีการวางแผนศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและวิศวกรรมของการใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปรียบเทียบกับการใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกับท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยใช้บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญในระดับสากลมาทำการศึกษา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นหลัก

(ยังมีต่อ)

-รก-