รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตรวจเยี่ยมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.---ศูนย์ ปชส.กระทรวงคมนาคม เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้ไปตรวจเยี่ยมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ รฟม. พร้อมด้วยผู้บริหารของ รฟม. ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจ และผลการดำเนินงานของ รฟม. ซึ่งสรุปสระสำคัญได้ดังนี้ รฟม. เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2545 รฟม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตามแผนแม่บท รวม 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ)ระยะทาง 20 กิโลเมตร 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 13.8 กิโลเมตร 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 11.6 กิโลเมตร 4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 34.6 กิโลเมตร โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใต้ดินสายแรกของประเทศไทย สามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง แต่เดิมโครงการนี้ได้ออกแบบให้มีสายทางในลักษณะยกระดับเหนือดินทั้งหมด ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 ให้ก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินตลอดสาย โดยภาครัฐลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและดำเนินกิจการ แนวสายทาง เริ่มต้นจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ผ่าน สามย่าน สีลม คลองเตย ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ อโศก ห้วยขวาง สุทธิสาร ลาดพร้าว สถานีขนส่งหมอชิต และสิ้นสุดที่สถานีรถไฟบางซื่อ มีสถานีรวมทั้งสิ้น 18 สถานี และระยะทางรวม 20 กิโลเมตร โครงสร้างทางวิ่งเป็นอุโมงค์คู่ ค่าก่อสร้าง โครงการนี้มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 108,987 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 24,727 ล้านบาท ค่าออกแบบและก่อสร้างงานโยธา 63,635 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน 3,125 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า (ลงทุนโดยเอกชน) 17,500 ล้านบาท ความก้าวหน้าของการก่อสร้าง การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 5 สัญญาก่อสร้าง โดยรัฐลงทุน และ 1 สัญญาสัมปทาน โดยเอกชนลงทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2545 การก่อสร้างโครงการมีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 79.95 ซึ่งน้อยกว่าแผนงานร้อยละ 12.79 ความก้าวหน้าของงานแต่ละสัญญาสรุปได้ดังนี้ 1. งานก่อสร้างงานโยธา แล้วเสร็จร้อยละ 98.48 ซึ่งน้อยกว่าแผนงานร้อยละ 0.57 ------------------------------------------------------------------------- สัญญา ผู้รับเหมา/ผู้รับสัมปทาน ความก้าวหน้า ------------------------------------------------------------------------- 1. งานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ส่วนใต้(หัวลำโพง-ห้วยขวาง) กลุ่มบริษัท BCKT 98.47% 2. งานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ส่วนเหนือ (ห้วยขวาง-บางซื่อ) กลุ่มบริษัท ION 98.25% 3. งานศูนย์ซ่อมบำรุง กลุ่มบริษัท SNMC 100% 4. งานระบบราง กลุ่มบริษัท CKSL 99.21% 5. งานลิฟท์และบันไดเลื่อน กลุ่มบริษัท MMW 95.53% 2. งานลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและดำเนินกิจการเดินรถ (สัมปทาน) แล้วเสร็จร้อยละ 12.38 ซึ่งน้อยกว่าแผนงานร้อยละ 57.36 บริษัท BMCL ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและดำเนินกิจการรถไฟฟ้า ได้ดำเนินงานต่าง ๆ เช่น ประสานการออกแบบและก่อสร้างกับผู้รับเหมางานโยธา สัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานสัมปทาน ออกแบบขั้นต้นและออกแบบขั้นรายละเอียดระบบรถไฟฟ้า ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารสำนักงาน และดำเนินการจัดหาและผลิตอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า เป็นต้น และได้รับความสำเร็จในการระดมทุนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 แต่เนื่องจากการเปลี่ยนผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้าจากกลุ่มบริษัท Alstom และ Mitsubishi เป็นบริษัท Siemens AG และบริษัท Siemens Ltd. เมื่อเดือนธันวาคม 2544 จึงทำให้ดำเนินการจัดทำงานออกแบบขั้นต้นและออกแบบขั้นรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าใหม่ รฟม.คาดว่าจะสามารถทดสอบการเดินรถได้ในปี 2546 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค เป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และเป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2537 โดยแผนแม่บทฯ ได้กำหนดให้ก่อสร้างโครงการนี้ให้แล้วเสร็จในปี 2544 แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงได้เลื่อนการดำเนินการโครงการมาจนถึงปัจจุบัน โครงการนี้มีเส้นทางเริ่มต้นจากหัวลำโพง วิ่งไปตามถนนเจริญกรุง ผ่านเยาวราช เฉลิมกรุง วังสราญรมย์ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาดไปสี่แยกท่าพระ ไปตามถนนเพชรเกษม สิ้นสุดที่บางแค บริเวณถนนวงแหวนรอบนอก รวมระยะทางทั้งสิ้น 13.8 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างโครงการฯ - ช่วงหัวลำโพง-บางหว้า-ภาครัฐ 32,599 ล้านบาท ภาคเอกชน 6,434 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 39,033 ล้านบาท - ช่วงหัวลำโพง-บางแค-ภาครัฐ 38,069 ล้านบาท ภาคเอกชน 10,172 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 48,241 ล้านบาท แผนการดำเนินงานโครงการฯ - ออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างปี 2547-2553 - เปิดบริการ ช่วงหัวลำโพง-บางหว้า ปี 2551 ช่วงบางหว้า-บางแค ปี 2553 ความก้าวหน้าของโครงการฯ รฟม.ได้เสนอเรื่องเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ ช่วงหัวลำโพง-บางหว้า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 และในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ได้มีมติให้ รฟม. ปรับลดราคาค่าก่อสร้างลงประมาณร้อยละ 30 และไม่ให้ใช้วิธีก่อสร้างแบบ design and build โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-สะพานพระนั่งเกล้า และสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-ราษฎร์บูรณะ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รฟม.จึงเลื่อนการดำเนินโครงการฯ ออกไปในปี 2552 และ 2554 ตามลำดับ และจะมีการปรับแผนงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่ง สจร.ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป หลังจากฟังการบรรยายสรุปแล้ว รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบนโยบายในการปฏิบัติงานแก่คณะผู้บริหารของ รฟม. สรุปว่า "การที่รัฐบาลได้ปฏิรูประบบราชการ จึงทำให้ รฟม.มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบระบบการขนส่งและการจราจร ขณะนี้ประชาชนกำลังให้ความสนใจอย่างมากกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครของ รฟม. ว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้เมื่อไร ดังนั้น ขอให้ รฟม.เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาและให้เจรจากับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานให้เร่งรัดการดำเนินงานในส่วนของภาคเอกชนให้แล้วเสร็จตามกำหนดด้วย และจะต้องดำเนินงานต่าง ๆ ด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว สร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็ง ควรให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ของ รฟม. เพื่อลดภาระในเรื่องเงินลงทุนของ รฟม.โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ"--จบ-- -ออ/นห-

ข่าวสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ+การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนวันนี้

เปิดฉากสุดอลังการ "จันท์เกมส์"มหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 49 ชูคำขวัญ "สานสัมพันธ์ สานไมตรี กีฬาดีที่เมืองจันท์"

มหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 49 "จันท์เกมส์" ประกาศความยิ่งใหญ่ในพิธีเปิดการแข่งขัน พร้อมทัพนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ทั้ง 77 จังหวัด โดยมีอิงฟ้า วราหะ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 ร่วมโชว์ในการแสดงชุดไฮไลท์ Celebration of the Glory กับนักแสดงร่วมหนึ่งพันคน ที่สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 49 "จันท์เกมส์" ร่วมด้วย ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี... จันทบุรีเชิญชมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 49 "จันท์เกมส์" — นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธา...

สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเคร... เครือข่ายผู้บริโภค กทม. เสนอ รมว. คมนาคม เก็บค่ารถไฟฟ้าสีชมพูสูงสุด 20 บาท — สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ยื่นหนั...

กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ MIND แนะผู้ประกอบก... ก.อุตฯ เผย 6 เมกะเทรนด์ เปลี่ยนโลกธุรกิจในอีก 3 ปี แนะอุตสาหกรรมปรับตัวให้ทัน — กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ MIND แนะผู้ประกอบการปรับตัวรับ 6 เมกะเทรนด์เพื่อสร้...