กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย)
มั่นใจศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ตั้งไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถกระบะส่งออกทั่วโลก
– บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (สหรัฐอเมริกา) มั่นใจในศักยภาพและอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประกาศพร้อมตั้งไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน เพื่อส่งออกทั่วโลก และมองหาลู่ทางลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายตลาดต่อไป
มร.นิค ชีลี ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งอยู่ในระหว่างเยี่ยมชมกิจการฟอร์ดในประเทศไทยเป็นเวลา 2 วัน ระหว่าง 5-6 พฤศจิกายน 2545 กล่าวว่า “ฟอร์ดมีความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจซึ่งกำลังฟื้นตัว และปัจจัยต่าง ๆ ในด้านการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงอนาคตที่สดใส เราเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลไทย และความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ในอันที่จะสร้างประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน เราเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้มีการเริ่มเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในปีหน้านี้”
มร.ชีลี ได้เยี่ยมชมกิจการของฟอร์ดในประเทศไทย เพื่อแสดงความยินดีกับความสำเร็จของบริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างฟอร์ดและมาสด้า และดำเนินธุรกิจประกอบรถยนต์ที่จ.ระยอง ในบริเวณอีสเทอร์นซีบอร์ด และคาดว่าจะสามารถผลิตได้อย่างเต็มกำลังการผลิตในปี 2546
“การดำเนินการของฟอร์ดในประเทศไทยประสบความสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฟอร์ดทั่วโลกมีผลกำไรเป็นที่น่าพอใจ ออโต้อัลลายแอนซ์ เป็นหนึ่งในโรงงานผลิตชั้นนำของเราที่มีมาตรฐานระดับโลกในการผลิต และสามารถผลิตรถที่มีคุณภาพได้ถึงปีละกว่า 80,000 คัน เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก ความสำเร็จของออโต้ อัลลายแอนซ์ เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและดุลการค้าระหว่างประเทศของไทย ซึ่งในระยะไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมา ฟอร์ดได้สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นเงินมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 4 หมื่นล้านบาททีเดียว” มร. ชีลี กล่าว
“นับตั้งแต่ฟอร์ดได้สร้างโรงงานในประเทศไทยเมื่อ 5 ปีก่อน เราได้ลงทุนและสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ ที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เป็นอย่างมาก จนในปัจจุบันฟอร์ดเป็นลูกค้ารายใหญ่ซึ่งใช้ชิ้นส่วนอะไหล่จากบริษัท ผู้ผลิตภายในประเทศถึง 80% ซึ่งนับว่ามีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์และการจ้างงานภายในประเทศ อีกประการหนึ่ง กลยุทธ์สำคัญของเราในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีระหว่างคนทั่วภูมิภาค อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการที่เป็นเลิศอีกด้วย”
“ในปีหน้า ออโต้ อัลลายแอนซ์ จะสามารถผลิตรถยนต์ได้เต็มกำลังการผลิต คือประมาณ 135,000 คัน ซึ่งขณะนี้ ฟอร์ดกำลังพิจารณาที่จะขยายธุรกิจดังกล่าวต่อไป เท่าที่ผ่านมา ฟอร์ด เป็นผู้นำในด้านการพัฒนายานยนต์ที่มีความปลอดภัยสูง เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ดังเช่นที่เห็นได้จากเทคโนโลยี RAS ในรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ใหม่และมาสด้า ไฟเตอร์ จากความสำเร็จที่ผ่านมา ฟอร์ดจึงพิจารณาให้ ออโต้ อัลลายแอนซ์ เป็นศูนย์กลางของโลกในการผลิตรถกระบะขนาดเล็กของฟอร์ด”
ในระหว่างที่มาเยี่ยมชมกิจการฟอร์ดในประเทศไทย มร.ชีลี ได้เยี่ยมชมโรงงานของ ออโต้ อัลลายแอนซ์ และประทับใจในความก้าวหน้าของบริษัทดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านบุคลากรที่มีทักษะ ความชำนาญ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฟอร์ดประสบความสำเร็จในโครงการ แผนพัฒนาศักยภาพองค์กร ที่ดำเนินการทั่วโลก เพื่อให้ฟอร์ดมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในทุกด้าน
“กลยุทธ์ที่ฟอร์ดใช้เพื่อสร้างความสำเร็จในเอเชีย คือการสร้างโอกาสทางธุรกิจในแต่ละตลาด โดยยังคงคำนึงถึงจุดเด่นและความแตกต่างของแต่ละตลาด อีกทั้งยังเน้นการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และในระดับภูมิภาค เรามีผลิตภัณฑ์หลักที่ดี ซึ่งปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละตลาด นอกจากนี้ เราจะนำระบบการบริหารจัดการเพื่อความเป็นเลิศ (best practice) มาใช้ในทุกตลาด โดยให้ผู้จำหน่ายของเราเป็นผู้นำในการนำระบบดังกล่าวมาใช้อีกกลยุทธ์หนึ่ง ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในระดับภูมิภาค คือ การกำหนดแนวทางและกิจกรรมที่สอดคล้องกับตลาดรถยนต์และภาวะเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ หรือเป็นการคิดหรือกำหนดกลยุทธ์ระดับโลก แต่เน้นความเหมาะสมของภูมิภาคในการปฏิบัติการ” มร. ชีลี กล่าว
บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ โดยได้ผสานความแกร่งของแต่ละธุรกิจทั้ง ฟอร์ด, มาสด้า, ออโต้ อัลลายแอนซ์, PAG และ ฟอร์ด ลีสซิ่ง สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ฟอร์ดมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศไทย โดยดูแลการผลิตและจัดจำหน่ายรถฟอร์ดในตลาดสำคัญ 5 แห่ง คือ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2546 จะเป็นปีที่ฟอร์ดทั่วโลกจะเฉลิมฉลองการดำเนินงานครบรอบ 100 ปี ในวันที่ 16 มิถุนายน อีกด้วย--จบ--
-สส-