กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรคหัวใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทย และประชากรทั่วโลกเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง การรักษาโรคหัวใจเพื่อการยืดชีวิตให้ยาวนานขึ้น จึงเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอยู่เสมอ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ร่วมกับความสามารถของแพทย์ที่พัฒนาขึ้น ทำให้โรคหัวใจเป็นโรคที่รักษาได้ง่าย และมีความปลอดภัยว่าเดิมมาก
มีแพทย์ไทยท่านหนึ่งได้มีบทบาทในการคิดค้นพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหัวใจมากที่สุดในขณะนี้ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันเพื่อการรักษาโรคหัวใจที่มีชื่อเสียงในอเมริกา
คุณหมอเป็นแพทย์ไทยเพียงคนเดียว ที่ได้รับปริญญาเอกด้านศัลยศาสตร์จากนั้นได้เป็นอาจารย์และให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจอยู่ในอเมริกากว่า 30 ปี
ขณะอยู่ในอเมริกา คุณหมอเป็นแพทย์ไทยและต่างชาติคนเดียวที่ได้รับตำแหน่งนายกสมาคมในองค์กรใหญ่ที่เกี่ยวกับศัลยกรรมทรวงอก และเป็นชาวต่างชาติคนเดียวที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Humanitarian Award นอกจากนั้นแล้วยังได้รับการ vote ให้เป็น One of the Best Doctors in USA และ Top Doctors in the Minnesota
..คุณหมอเป็นแพทย์โรคหัวใจ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในอเมริกา ขณะนี้คุณหมอกลับมาให้การรักษาผู้ป่วยในเมืองไทย และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์หัวใจกรุงเทพ
…ควบคู่กับการรับเชิญเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้ด้านการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหัวใจแก่ศัลยแพทย์ทั่วโลก
ด้วยเกียรติประวัติและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คุณหมอได้รับขณะอยู่ต่างแดนเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของท่านเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้มีความหมายและความเป็นมาอย่างไร เป็นสิ่งที่เราจะทราบรายละเอียดหลังจากการพูดคุยกับคุณหมอในวันนี้
"ดร.นพ.กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์"
คุณหมอตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกาทันทีหลังจบแพทย์ที่ประเทศไทย ตามคำแนะนำของนพ.ดร. Eiseman
หลังเรียนจบแพทย์ที่ศิริราช ผมตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกา ตามคำแนะนำของ Dr.Ben Eiseman ซึ่งขณะนั้นท่านมีตำแหน่งเป็น Chairman Department of Surgery ของมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ ซึ่งท่านมาสอนพวกเราที่ศิริราชขณะที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ปีที่ 3 ต่อมาเมื่อจบผมได้เดินทางไปเป็น Intern อยู่ในมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้เป็นเวลา 1 ปี เมื่อจบ Intern ผมได้รับเลือกจากพยาบาลและ Resident ให้เป็น The Best Intern of the Year ซึ่งผมก็แปลกใจ เพราะได้รับรางวัล ขณะที่เรียนอยู่เพียงปีแรก แต่ผมก็ได้ทราบในตอนหลังว่าโดยปกติเมื่อถูกตามในเวลากลางคืน จะไม่มีแพทย์คนไหนลงไปดูคนไข้โดยตลอด แต่ที่ผมได้ลงไปดูคนไข้ทุกครั้ง เหตุผลส่วนหนึ่งก็ เป็นเพราะผมห่วงคนไข้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตอนนั้นผมฟังพยาบาลทางโทรศัพท์ไม่เข้าใจเท่าไหร่นัก
ระหว่างการทำปริญญาเอกที่มินิโซต้า คุณหมอจะต้องเข้ารับการ Training ควบคู่กับการเรียนและการสอบ PhD Thesis ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ค่อนข้างหนักและต้องอาศัยความอดทนพอควร
หลังจากผมจบอินเทิร์นแล้ว ผมย้ายไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยมินิโซต้า ได้รับการ Training ทั้ง General และ Thoracic Surgery ควบคู่ไปกับการเรียนหนังสืออย่างหนัก .ซึ่งต้องใช้ความมานะ พยายามและอดทนพอควร เพื่อให้ได้เครดิตทำ PhD Thesis ด้วย เป็น resident และเรียนหนังสือ ไปด้วยในที่สุดผมได้เครดิตเพียงพอที่ทำให้สามารถเขียน Thesis เกี่ยวกับผลของการวิจัย จบทั้งการ Train และเรียนหนังสือจากมหาวิทยาลัย Minnesota ในเวลา 7 ปี ย้อนไปนิดหนึ่งคือว่าเมื่อเป็น resident ปีที่สองผมกับ advisor คือ Dr.Aldo Castaneda มีความสนใจที่จะทำการผ่าตัดหัวใจในเด็กแรกเกิดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมซึ่งในขณะนั้นยังทำกันไม่ได้ จึงตัดสินใจว่าเราจะทำการวินิจฉัยในลูกสุนัขเกิดใหม่
ในช่วงการทำวิจัยผ่าตัด คุณหมอกิติพันธ์ได้ทำการศึกษาทดลองการผ่าตัดหัวใจในสุนัขแรกเกิด โดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมเพื่อหาหลักการที่จะให้มีความปลอดภัยถึงจุดที่จะนำมาใช้ในเด็กได้
ตอนนั้นผมอยากจะเห็นความสำเร็จในการผ่าตัดหัวใจในเด็กแรกเกิด ซึ่งในขณะนั้นยังทำกันไม่ได้ เพราะมีผลแทรกซ้อนทางเลือด ทางปอดและไตเยอะมากและเด็กเล็กจะไม่รอดเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมกับ advisor ตกลงที่จะเริ่มทำการทดลองในลูกสุนัขแรกเกิดก่อน โดยผมนำลูกสุนัขแรกเกิดน้ำหนัก 1-2 ก.ก.มาทำการทดลอง ดูผลเสียของการใช้เครื่องหัวใจเทียมในสัตว์แรกเกิดว่ามีผลต่อปอด เลือด ไต ตับอย่างไรบ้าง และจะทำการแก้ไขอย่างไร จำได้ว่าช่วงนั้นผมต้องเฝ้าดูลูกสุนัขเสมือนดูแลเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งหลังเวลาผ่าตัด กลางคืนก็ต้องนอนเฝ้าเหมือนกัน ทำอยู่ 2 ปีก็ได้ผลสรุป จึงได้เขียนเป็นวิทยานิพนธ์เรื่องผลสำเร็จในการผ่าตัดหัวใจในสุนัขแรกเกิดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม และหลังจากนั้นวิธีการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมแบบนี้ ก็ได้ถูกนำไปใช้กับการผ่าตัดเด็กแรกเกิดที่มหาวิทยาลัยมินิโซต้าตั้งแต่นั้นมาครับ
จวบจนถึงปัจจุบันนับได้ว่าคุณหมอเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับปริญญาเอกทางการผ่าตัด
ผมได้ปริญญาเอกทางการผ่าตัด หลังจบจากการทำการวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจสำหรับผมเรื่องหนึ่งในตอนนั้น และผมก็เพิ่งจะทราบว่าจนถึงปัจจุบันผมเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับปริญญาเอกทางการผ่าตัด เมื่อผมจบแล้วผมได้งานเป็นอาจารย์อยู่ที่ University of Texas Health Science Center ในรัฐ San Antonio อยู่ 6 ปี และได้ Associate Professor ผมสนใจเกี่ยวกับการทำวิจัยและการสอนหนังสือ ผมจึงสนุกกับการทำงานที่นั่นมาก ผมได้มีโอกาสสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย เป็นแพทย์ผ่าตัดที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ผมได้เจ้านายที่ดีซึ่งสอนวิธีการทำวิจัย การเขียน paper, การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติต่าง ๆ
จากนั้นคุณหมอได้ย้ายมาที่รัฐมินิโซต้า และร่วมก่อตั้งสถาบันโรคหัวใจ ซึ่งในระยะหลัง เป็นสถาบันโรคหัวใจที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยรวมทั้งการผ่าตัดหัวใจที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 10 ของอเมริกา
ผมย้ายกลับมามินิโซต้า เพราะเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่มินิโซต้า มีความคิดที่จะตั้งสถาบันหัวใจของเราเอง ช่วงนั้น ผมกับเพื่อนได้ร่วมกันก่อตั้ง Minneapolis Heart Institute และ Minneapolis Heart Institute Foundation โดยในตอนแรกเรามีหมอเพียง 6 คน คือ อายุรแพทย์หัวใจ 3 คน และศัลยแพทย์หัวใจ 3 คน จนถึงปัจจุบันนี้ มีหมอประมาณ 60 คน และมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกประมาณ 150 คน ถือได้ว่าเป็นสถาบันรักษาโรคหัวใจที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก
เมื่อกลับมาที่รัฐมินิโซต้า คุณหมอได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมสำคัญ 2 แห่ง
หลังจากกลับมาไม่นาน ผมได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม C.Walton และ Richard C.Lillehei Society ซึ่งเป็นสมาคมอันทรงเกียรติที่ได้จัดตั้งขึ้นหลังจาก The Lilleheis บิดาของการผ่าตัดหัวใจได้เสียชีวิตลง ในขณะที่ทำงานอยู่ผมก็ได้ก่อตั้ง และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรกของ Minnesota Society of Thoracic Surgeons ในรัฐมินิโซต้า ทั้งนี้เพราะในช่วงนั้นแพทย์มีความจำเป็นต้องต่อสู้กับบริษัทประกันภัย เพื่อที่จะรักษาสิทธิของแพทย์และมาตรฐานการรักษา สมาคมใหม่ได้วางรากฐานและกฏต่างๆ ไว้ให้สำหรับแพทย์ผ่าตัดหัวใจในรัฐทุกคนและทุกสถาบันในรัฐมินิโซต้า ปัจจุบันนี้สมาคมศัลยแพทย์ในรัฐต่างๆ ก็ได้นำเอาหลักการ แนวคิดและข้อปฏิบัติดังกล่าวไปใช้อย่างกว้างขวางในรัฐของตน รวมทั้งสมาคมโรคทรวงอกของอเมริกาด้วย
นอกจากนี้คุณหมอยังเป็นคนไทย และคนต่างชาติคนเดียวที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสมาคมของศัลยแพทย์ทรวงอกทางภาคใต้ของอเมริกา แม้ว่าจะย้ายไปอยู่ทางเหนือของอเมริกาแล้วก็ตาม
ผมได้รับเลือกให้เป็น Vice President , President และ Chairman of the Board ของ Southern Thoracic Surgical Association ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่อันดับที่ 3 ของอเมริกาด้าน Thoracic และ Cardiovascular Surgery สมาคมนี้มีสมาชิกประมาณ 1,500 คน ผมถือว่าเค้าให้เกียรติผมมาก แม้ว่าผมจะย้ายออกจาก San Antonio ไปอยู่มินิโซต้า ตอนเหนือของอเมริกาแล้วก็ตาม สมาชิกยังเลือกผมเป็นนายกสมาคม ผมได้มีโอกาสทำงานหลายอย่าง โดยเฉพาะงานบริหารและการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดสนับสนุนสมาคมให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
คุณหมอกิติพันธ์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม หรือการผ่าตัดแบบ Off-Pump ซึ่งเป็นวิทยาการทางการผ่าตัดซึ่งให้ผลดีแก่ผู้ป่วยมากขึ้น
ในช่วงปี 1995 มีผมและหมอผ่าตัดกลุ่มเล็กๆ กว่า 10 คนในอเมริกา ได้ทำการทดลองทำการผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม หรือเรียกว่าวิธี "Off-Pump" ในสถาบันของตนเอง หลังจากที่ในอดีตได้มีผู้ที่พยายามทดลองวิธีการดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้การพยายามพัฒนาวิธีการดังกล่าวก็เนื่องจากการผ่าตัดด้วยการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมยังทำให้เกิดผลแทรกซ้อนต่อ ไต ปอด และการแข็งตัวของเลือดอยู่ และในปี 1966 คณะแพทย์กลุ่มดังกล่าวได้มีการจัดประชุม Minimally Invasive Cardiac Surgery ที่ Minneapolis เพื่อนำเสนอวิธีผ่าตัดแบบแผลเล็กและไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม หลังจากนั้นมาการผ่าตัดด้วยวิธี Off-Pump ก็ค่อย ๆ เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ได้มีการเขียนบทความวิชาการถึงข้อดีข้อเสียของวิธีการผ่าตัดดังกล่าว ในวารสารของสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำหลายสถาบัน ทำให้ปัจจุบันวิธีการผ่าตัดแบบ Off-Pump เป็นที่แพร่หลายและยอมรับกันในสถาบันแพทย์ผ่าตัดหัวใจชั้นนำทั่วโลก ได้มีการจัดตั้งสมาคม The International Society for Minimally Invasive Cardiac Surgery และทางสมาคมได้จัดประชุมเพื่อพัฒนาและเผยแพร่วิทยาการนี้แก่ศัลยแพทย์ทั่วโลกทุกปี ซึ่งในขณะนี้ผมดำรงตำแหน่ง Senior Advisor อยู่
ขณะใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา คุณหมอได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย จนในปี 1999 คุณหมอเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดและหมอต่างชาติคนเดียวที่ได้รับรางวัล humanitarian ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบสำหรับผู้ทำประโยชน์ให้สังคมของอเมริกา
Humanitarian Award เป็นรางวัลที่รัฐมอบให้บุคคลทั่วไป 1 คน และแพทย์หนึ่งคนเป็นประจำทุกปีที่ได้ทำประโยชน์ให้สังคม โดยรางวัลนี้ได้มอบให้ผู้มีชื่อเสียงที่ทำคุณประโยชน์แก่อเมริกาหลายท่าน อาทิ รองประธานาธิบดี Walter Mondale , นายกเทศมนตรีของเมือง St.Paul ทั้งนี้แพทย์ที่ได้รับเลือกในสมัยที่ผ่านมา ค่อนข้างมีอายุและเป็นอเมริกันทุกคน ผมจึงเป็นหมอต่างชาติคนแรกและมีอายุน้อยที่สุดที่มีโอกาสขึ้นไปรับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ครั้งนั้นคนที่ได้รับรางวัลคู่กับผมชื่อ John Nassaff เป็นชาวอเมริกันที่ใจบุญ ได้มอบค่าใช้จ่าย และขอให้ผมช่วยสร้างโรงพยาบาลหัวใจโดยเฉพาะแห่งใหม่ขึ้น ชื่อ John Nasseff Heart Hospital ในรัฐมินิโซต้า John ได้ให้ชื่อห้องผ่าตัดห้องหนึ่งโดยใช้ last name ของผม เป็นเกียรติประวัติแก่ผมและครอบครัวตลอดไป
นอกจากนั้น นายแพทย์กิติพันธ์เป็นแพทย์ไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วไปในอเมริกา โดยได้รับรางวัล One of the Best Doctors in USA และได้รับการ vote จากคนไข้ พยาบาล และแพทย์ให้เป็น Top Doctors in the Minnesota ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
นายแพทย์กิติพันธ์ ยังได้รับเกียรติให้เป็นประธานและสมาชิกภาพในองค์กรเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมวงการการผ่าตัดหัวใจในระดับสากลหลายสถาบัน อาทิ
American Association for Thoracic Surgery European Association for Cardio-Thoracic Surgery International Society for Minimally Invasive Cardiac Surgery Society of Thoracic Surgeons (Council on Quality Assurance & Patient Advocacy-National Databases) Southern Thoracic Surgical Association (Chairman of Nominating Committee) ปัจจุบัน คุณหมอได้กลับมาให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจในเมืองไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า
เมื่อปี 2542 ผมได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในศัลยแพทย์หัวใจที่ร่วมผ่าตัดผู้ป่วยผู้ยากไร้ ในโครงการผ่าตัดโรคหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ซึ่งจัดขึ้นโดยโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเมื่อกลับมาในครั้ง นั้นเป็นโอกาสให้ผมได้ทำในสิ่งที่ผมนึกอยู่เสมอว่า ผมเป็นคนไทย เมื่อได้ความรู้มาก็ต้องการกลับมาทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ และทำให้ผมได้เห็นว่าขณะนี้เมืองไทยก็ยังมีอีกหลายอย่างที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อผมได้รับการชวนจากอาจารย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถให้มาทำงานกับท่านที่เมืองไทย ผมจึงตอบตกลงและนำเอาความรู้ที่ผมได้รับมา มาช่วยทำในสิ่งที่ผมสามารถทำได้ให้ดีที่สุดครับ
ปัจจุบันคุณหมอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์หัวใจกรุงเทพ และเป็นศัลยแพทย์ให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ
ผมได้นำวิทยาการใหม่ของการผ่าตัดหัวใจ 3 วิธี มารวมกันเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจของศูนย์หัวใจกรุงเทพ ได้แก่ การผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องปอด และหัวใจเทียม (Off - Pump Surgery) การผ่าตัดวิธีนี้หัวใจของผู้ป่วยจะไม่หยุดเต้นระหว่างการผ่าตัด และทำให้ไม่เกิดผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นต่อปอด ไต ตับ และการแข็งตัวของเลือดจากการใช้เครื่องปอด และหัวใจเทียม (On - Pump Surgery) ส่วนวิธีที่สอง คือ การผ่าตัดโดยใช้เส้นเลือดแดงแทนการใช้เส้นเลือดดำในการทำทางเบี่ยงหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น และไม่มีแผลเป็นที่ขา ส่วนวิธีสุดท้าย คือ การผ่าตัดหัวใจที่ให้แผลเล็กลง และสวยงามขึ้น ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อได้รับการกระเทือนน้อยลง ช่วยลดความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย
นอกจากนั้นด้วยการผ่าตัดทั้ง 3 วิธีนี้ ยังช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ใช้ระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นลง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิต ประกอบกิจวัตรประจำวัน หรือทำงานตามปกติได้เร็วขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย และที่ผ่านมาเราได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจจากการให้การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีดังกล่าว ผมผินดีที่จะถ่ายทอดวิทยาการการรักษาดังกล่าวแก่ศัลยแพทย์หัวใจทุกท่าน เพื่อจะได้นำเอาวิธีการนี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยดรคหัวใจให้มากยิ่นขึ้นต่อไปครับ--จบ--
-สส-